รายงานพิเศษ
อ่านประกอบ : 20 ปี ผ่านไป จากสึนามิถึงโลกเดือด วันที่การจัดการภัยพิบัติต้องเปลี่ยนมาอยู่ในมือชุมชน
“นิทานของมอแกลน” ไม่ใช่แค่เรื่องเล่า แต่เป็นภูมิปัญญาทางรอดทางสึนามิ
“พอชาวบ้านเจอน้ำท่วมแบบที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน มาทั้งน้ำหลาก มาทั้งดินโคลนถล่ม แม้แต่คนที่เคยหวังว่าจะต้องเป็นที่พึ่งอย่างผู้นำชุมชนก็กลับกลายเป็นผู้ประสบภัยเหมือนกันหมด ... เมื่อไม่รู้ว่าจะพึ่งใคร ในที่สุดพวกเขาก็ต้องพึ่งตัวเอง”
ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย รวมไปถึงในพื้นที่ประเทศเมียนมาและลาว จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่และดินโคลนถล่มติดต่อกันหลายครั้งและหลายจุดทั้งที่เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน เมื่อเดือนกันยายน 2567 ถือเป็นภัยพิบัติรูปแบบใหม่ที่ชาวเหนือไม่เคยเผชิญ ในมุมมองของ กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือง ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้ในฐานะคณะทำงานฟื้นฟูภัยพิบัติโดยองค์กรชุมชนภาคเหนือ
กนกศักดิ์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสนทนาในเวที “20 ปี สึนามิ บทเรียนภัยพิบัติประเทศไทย ก้าวอย่างไรให้พร้อมพอ” ซึ่งมีเครือข่ายจากชุมชนของผู้ประสบภัยจากทั่วประเทศเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เพื่อทำให้เห็นว่า เมื่อชุมชนมีประสบการณ์จากภัยพิบัติ ก็จะมีองค์ความรู้ในการจัดการภัยพิบัติในรูปแบบที่เหมาะสมกับชุมชนนั้น ๆ เอง
“หลายพื้นที่ในภาคเหนืออย่าง แม่สาย ห้วยหินลาดใน หรือ แม่อาย ต่างก็ประสบปัญหาเหมือนกันหมด คือ ชาวบ้านเคยเจอแต่สถานการณ์น้ำท่วมที่น้ำค่อย ๆ เอ่อล้นขึ้นมาทีละนิดจึงเตรียมการได้ทัน แต่ในปีนี้ (2567) กลับเจอสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ฝนตกหนัก ตกแช่อยู่ที่เดียวจนกลายเป็นน้ำหลากลงมาพร้อมกับโคลนปริมาณมหาศาล ทำให้คนทั้งชุมชนกลายเป็นผู้ประสบภัยทั้งหมด ความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นกับทุกคนรวมถึงคนที่เป็นผู้นำอย่างเป็นทางการด้วย ... เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถมองหาความช่วยเหลือจากใครได้เลย จึงต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่มโดยธรรมชาติ เกิดผู้นำโดยธรรมชาติ และค้นพบวิธีการจัดการที่เหมาะกับพื้นที่ของพวกเขาเอง”
“มีตัวอย่างเกิดขึ้นในหลายชุมชนครับ พอคนในชุมชนที่ประสบภัยเสียหายหมด ก็รวมกลุ่มกันขึ้นมา มีคนที่อาสาเป็นผู้นำ สามารถเริ่มสำรวจข้อมูลความเสียหายของแต่ละครอบครัว หาพื้นที่เหมาะสมเพื่อตั้งศูนย์ประสานงาน สามารถระบุได้ว่าต้องการขอรับอาหารปรุงสุก เพราะประกอบอาหารไม่ได้เนื่องจากไม่มีน้ำและไฟฟ้า หรือยังมีเครื่องมือพอที่จะตั้งเป็นครัวกลางขึ้นมาเอง หรือยังสามารถไปจ่ายตลาดเองได้ ... ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพวกเขารู้จักพื้นที่และสภาพแวดล้อมของตัวเองดีกว่าคนอื่น” กนกศักดิ์ อธิบายถึงศักยภาพที่เกิดขึ้นกับชุมชนในภาคเหนือ แม้จะเพิ่งผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมา
ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยในปี 2567 มีส่วนที่คล้ายคลึงอย่างมากกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งเสียหายมากที่สุดจาก “คลื่นสึนามิ” เมื่อ 20 ปีก่อน
ในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 บ้านน้ำเค็มเป็นพื้นที่เสียหายรุนแรง มีผู้เสียชีวิตในพื้นที่นี้กว่า 1200 คน เป็นชาวบ้านน้ำเค็มเองถึง 824 คน และในขณะที่ความช่วยเหลือต่าง ๆ ถูกดักไว้จากพื้นที่อื่นที่เข้าถึงความช่วยเหลือได้ง่ายกว่า ชาวบ้านน้ำเค็มจึงต้องเริ่มต้นชีวิตที่รอดมาได้ด้วยการดูแลกันเองก่อน
“ในระหว่างที่ทุกอย่างพังทลายไปหมด ผู้คนที่รอดชีวิตต่างกระจัดกระจายกันเพื่อตามหาร่างกายของญาติที่หายไปกับคลื่น ... มีอาสาสมัครจากองค์กรเอกชนเข้ามาถามผมว่า ถ้าจะตั้งศูนย์เพื่อเริ่มต้นความช่วยเหลือที่นี่ จะต้องเริ่มจากการทำให้คนมารวมกัน ... คุณจะทำยังไงให้คนที่รอดมารวมตัวกัน”
ไมตรี จงไกรจักร์ ซึ่งในเวลาต่อมาจากนั้นกลายเป็น ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เล่าถึงจุดแรกเริ่มในการรวมตัวกันเพื่อฟื้นฟูตัวเองของชาวบ้านน้ำเค็ม
“ผมก็เลยตอบไปว่า ... สร้างส้วม ... เดี๋ยวคนก็มารวมตัวกันเอง”
คำตอบของไมตรี ถูกนำไปทำให้เกิดขึ้นจริงโดยองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งรับปากว่าจะจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างส้วมมาให้ แต่ไมตรีจะต้องไปหากำลังคนมาก่อสร้างเอง
“แค่เราบอกว่าจะสร้างส้วม คนที่กระจัดกระจายอยู่ก็เริ่มมากันแล้วครับ วันแรกมีมาประมาณ 20 คน วันต่อมาเป็น 50 คน และมากขึ้นเรื่อยจนมารวมตัวกันเป็นศูนย์ประสานงานได้ ... นี่เป็นตัวอย่างการเรียนรู้ของชุมชนที่เป็นผู้ประสบภัยครับ”
หลายปีต่อมา เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ กลายเป็นหัวหอกในการสร้างองค์ความรู้การจัดการภัยพิบัติในชุมชนของพวกเขาเอง พวกเขาสำรวจหาวิธีการรอดชีวิตจากคลื่นยักษ์จากประสบการณ์ของคนที่ยังอยู่ ถอดบทเรียนภูมิปัญญาของชาวเล จัดทำแผนที่ชุมชนเพื่อดูเส้นทางหนีภัยที่จะช่วยให้รอดได้จริง มีวิธีการจัดเก็บเอกสารสำคัญต่าง ๆ ไว้ในกระเป๋าใบเดียวที่จะถือเป็นสมบัติสำคัญที่สุดในการอพยพหนีภัย เพราะมีหลายคนต้องสูญเสียที่ดินไปให้นายทุนและนักการเมืองหลังเอกสารหายไปหมด
และเมื่อภัยพิบัติเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ชาวบ้านน้ำเค็มกลายเป็นกำลังสำคัญในการลงไปช่วยเหลือ ซึ่งทำพร้อมไปกับการให้คำแนะนำให้ผู้ประสบภัยสามารถตั้งกลุ่มและสร้างองค์ความรู้การจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ของตัวเองได้
“เราไปช่วยเขา ไม่ใช่แค่การไปให้ความสงเคราะห์เท่านั้น ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติซ้ำซาก เรามีเป้าหมายในการไปช่วยเขา เพื่อทำให้เขามีศักยภาพในการดูแลตัวเองได้ เมื่อเขามีองค์ความรู้ต่อภัยพิบัติที่เขาเจอแล้ว เขาก็ไม่ต้องกลัวภัยนั้นอีกต่อไป”
ไมตรี ซึ่งในปัจจุบันเป็นผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ซึ่งเดินทางลงพพื้นที่ไปแนะนำและเรียนรู้ร่วมกับชุมชนอื่นมากมายที่ประสบภัย สรุปแนวคิดของเขาไว้สั้น ๆ แต่อธิบายการกระทำของเขาได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ส่วนเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสึนามิโคลน จะเกิดขึ้นในอีก 20 ปีหลังจากนั้น แต่ข้อเสนอต่อ “แนวทางการจัดการภัยพิบัติในอนาคตของไทย” ผ่านมุมมองของคนที่ผ่านภัยพิบัติคนละเหตุการณ์กัน ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาที่ต่างกันถึง 20 ปี กลับเป็นไปในแนวทางเดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อ
กนกศักดิ์ คณะทำงานฟื้นฟูภัยพิบัติโดยองค์กรชุมชนภาคเหนือ เสนอว่า
- รัฐต้องเพิ่มบทบาทขององค์กรชุมชน ด้วยการให้ชุมชนเป็นหุ้นส่วนในการจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ของตัวเอง ทั้งการกระจายอำนาจ ถ่ายโอนภารกิจ จัดสรรงบประมาณ หรือแม้แต่การสำรวจความเสียหายก็มีหลักฐานมากมายว่าชุมชนสำรวจได้ข้อมูลที่เป็นจริงมากกว่า
- ในเมื่อชุมชนนพื้นที่เสี่ยงภัย ต่างรู้จักพื้นที่ของตัวเองดีอยู่แล้ว รัฐต้องส่งเสริมทักษะที่สำคัญให้กับคนในชุมชน เช่นจัดฝึกการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือกลุ่มเปราะบางไปในที่ปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ชุมชนที่กำลังเผชิญเหตุสามารถอยู่รอดด้วยตัวเองได้ โดยไม่ต้องรอให้ทีมกู้ภัยเสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วย
- ปัญหาที่เกิดขึ้นมากในพื้นที่ภาคเหนือ คือ มีชุมชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีทั้งชุมชนที่อยู่กับป่าได้ดีมากและต้องยอมรับว่ายังมีชุมชนที่ถูกจูงใจให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยว จนเป็นข้อกล่าวหาว่าเป็นที่มาของความเสียหายจากภัยพิบัติที่แรงขึ้น แต่วิธีการแก้ปัญหาก็ไม่ควรจะเป็นการขับไล่ให้ชุมชนเหล่านั้นต้องย้ายออกไปเท่านั้น เพราะเป็นเพียงวิธีการง่าย ๆ ที่จะโยนความผิดไปให้คนที่อ่อนแออยู่แล้ว
- เสนอให้รัฐทำพื้นที่ทดลองในลักษณะ SANDBOX โดยรัฐจับมือกับชุมชนในการร่วมกันปรับตัวทั้งสองฝ่ายในรูปแบบการพัฒนาทางเลือก เช่น ส่งเสริมให้เปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งควรทำมากกว่าการขับไล่ออกไป
ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และผู้ประสบภัยสึนามิ เสนอว่า
- รัฐต้องเร่งปรับปรุงระบบเตือนภัย โดยใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้สามารถส่งข้อมูลเตือนภัยเข้าถึงได้ทุกคนโดยตรงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่ใช่แค่การประกาศเตือนผ่านสื่อต่าง ๆ เท่านั้น
- รัฐบาลต้องแก้กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพราะในกฎหมายที่ใช้อยู่ ปภ. ไม่มีหน้าที่เตรียมการป้องกัน จึงต้องทำให้การเตรียมการป้องกันภัยเป็นหน้าที่ของ ปภ.ด้วย
- อำนาจการจัดการภัยพิบัติต้องเปลี่ยนไป ต้องทำมากกว่ากระจายอำนาจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นั่นคือ ต้อง “แบ่งอำนาจ” การจัดการภัยพิบัติมาให้ชุมชน โดยมีตัวอย่างที่สำคัญซึ่งเคยมีกรณีที่ผู้นำท้องถิ่นใช้เห็นคำเตือนพายุจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าจะมีพายุเข้า จึงใช้งบประมาณไปกับการเตรียมการป้องกัน แต่ปรากฎว่า พายุไม่เข้า ซึ่งในเวลาต่อมาก็ถูกเล่นงานจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้หลังจากนั้น ท้องถิ่นไม่กล้าใช้งบประมาณในการเตรียมการป้องกันอีกเลย
- ท้องถิ่นต้องมาส่งเสริมชุมชน ... ให้ความรู้ จัดทำข้อมูลชุมชน จัดทำข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ช่วยทำให้พื้นที่ปลอดภัยพัฒนาเป็นที่หลบภัย ต้องมีอาสากู้ภัยชุมชนที่ผ่านการฝึกอบรม และต้องสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์
“ก่อนนี้ผมเป็นนายก อบต.มา 17 ปี มีคำเตือนว่าจะมีฝนตกหนัก จะเกิดน้ำหลาก ผมจะใช้เงินสะสมของ อบต.เอง มาขุดลอกคลองไปก่อน ยังใช้ไม่ได้เลยครับ เพราะโดนสภาทักว่าถ้าขุดแล้วน้ำไม่หลาก นายกฯจะถูก สตง.เล่นงานนะ ... ในที่สุดก็ไม่เคยได้ทำ ต้องรอจนกว่าผู้ว่าฯจะประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเราถึงจะใช้งบประมาณได้” กนกศักดิ์ ยกตัวอย่างปัญหาที่ท้องถิ่นไม่สามารถใช้งบประมาณไปกับการเตรียมการป้องกัน
“แต่ลองเปรียบกันกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ... ที่บ้านสันกอง ต.แม่ไร่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย กลายเป็นหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายน้อยมาก เพราะผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้หญิง เขาไปขอรวบรวมเงินจากชาวบ้านเพื่อจ้างรถแบ็คโฮมามาขุดลอกคลองให้เป็นทางระบายน้ำก่อนที่ฝนจะตกหนัก จึงเปิดทางน้ำรอไว้ได้ทันเวลา และไม่ถูกโคลนถล่ม”
“เขาทำสำเร็จ รอดพ้นจากความเสียหาย แต่ต้องไปขอเงินบริจาคจากชาวบ้าน ... ดังนั้น รัฐจึงควรเปิดทางให้ชุมชนมีงบประมาณป้องกันภัยและมีอำนาจตัดสินใจในการใช้งบเพื่อป้องกันภัย ... ผมมั่นใจว่ามันจะคุ้มค่ากว่าการที่เราต้องรอใช้งบเพื่อชดเชย เยียวยาและฟื้นฟู” กนกศักดิ์ ตั้งประเด็นทิ้งท้าย