xs
xsm
sm
md
lg

“นิทานของมอแกลน” ไม่ใช่แค่เรื่องเล่า แต่เป็นภูมิปัญญาทางรอดทางสึนามิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

อ่านประกอบ : 20 ปี ผ่านไป จากสึนามิถึงโลกเดือด วันที่การจัดการภัยพิบัติต้องเปลี่ยนมาอยู่ในมือชุมชน 

“ถ้ามองเห็นท้องฟ้าเป็นสีแดง เสียงนกร้องดังระงม น้ำทะเลแห้งเหือด ฝูงปลาจากใต้ทะเลลึกจะขึ้นมาอยู่บนฝั่ง สัตว์ที่อยู่บนพื้นดินออกอาการแตกตื่นตกใจวิ่งหนีไป ถ้าเราเห็นสัตว์วิ่งหนี เราอย่าไปเก่งกว่าพวกสัตว์ ให้วิ่งตามสัตว์ทั้งหลายไป เพราะทะเลกำลังร้องไห้ เพราะเราทำร้ายทะเล เราทิ้งสิ่งแปลกปลอมลงไป เทพแห่งท้องทะเลจึงส่งยักษ์ลงมาเอาคืนในรูปลักษณ์ของคลื่นยักษ์”

เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเข้าพัดถล่มชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกันนับหมื่นคนในชั่วเวลาไม่กี่นาที แต่ที่ “ชุมชนทับตะวัน” ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่เรียกว่า “มอแกลน” ใน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กลับมีผู้เสียชีวิตเพียง 2 คน จากคนในชุมชนทั้งหมดที่มีมากกว่า 300 คน

เหตุผลสำคัญ คือ ชาวมอแกลน ชุมชนทับตะวัน ออกจากจุดที่คลื่นซัดไปเกือบหมดทั้งชุมชนแล้ว

“พวกเราหนีออกไปกันเกือบหมดแล้ว เพราะผู้เฒ่าในชุมชนของเราบอกให้หนี”






อรวรรณ หาญทะเล หรือ หญิง ชาติพันธุ์มอแกลนในชุมชนทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา บอกว่า คำเตือนของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เป็นเรื่องเดียวกับเรื่องเล่าที่ทุกคนในชุมชนจะต้องเคยได้ยินมาก่อนแล้วในรูปแบบ “นิทานของมอแกลน”

“เวลามีงานประเพณีสำคัญในชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นเหมือนปราชญ์ของชุมชน ก็จะเล่านิทานของชาวมอแกลนให้คนในชุมชนฟังเหมือนทุกครั้ง ... แต่ในตอนที่เราเป็นเด็ก เราก็ไม่เชื่อและคิดว่ามันเป็นเหมือนนิทานหลอกเด็กเท่านั้น จนกระทั่งมันเกิดขึ้นจริงๆ”

“เมื่อปลายปี 2547 ถึงแม้จะชาวมอแกลนรุ่นหลังในบ้านทับตะวัน จะฟังเรื่องเล่านี้เป็นเพียงนิทานสนุกๆ แต่ด้วยวัฒนธรรมของชุมชนที่คนส่วนใหญ่จะเชื่อฟังผู้เฒ่าในชุมชน ทำให้พวกเรายอมวิ่งหนีขึ้นไปที่สูงตามคำเตือนของผู้อาวุโส เราจึงมาเข้าใจในภายหลังว่า นิทานของมอแกลน ไม่ใช่นิทานหลอกเด็ก แต่เป็นภูมิปัญญาในการหนีภัยสึนามิที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ” หญิงชาวมอแกลน อธิบายเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน ที่ทำให้ชาวมอแกลน ชุมชนทับตะวัน มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด

*********






25 ธันวาคม 2567 หรือ 20 ปี หลังเกิดเหตุสึนามิ อรวรรณ หาญทะเล เป็นหนึ่งในเครือข่ายผู้ประสบภัยที่ผ่านกาศึกษาเรียนรู้แนวทางการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน ผ่านองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มีมูลนิธิชุมชนไทเป็นแกนนำในการผลักดัน ... อรวรรณ เข้าร่วมวงสนทนาในเวที “20 ปี สึนามิ บทเรียนภัยพิบัติประเทศไทย ก้าวอย่างไรให้พร้อมพอ” เธอพูดอย่างเสียดายว่า ภูมิปัญญาที่ช่วยให้ชาวมอแกลนสูญเสียน้อยที่สุด กลับไม่เคยถูกนำไปพัฒนาเป็นองค์ความรู้จากหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติของรัฐเลย

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ภูมิปัญญาของชาวมอแกลน ถือเป็นองค์ความรู้ที่ทำให้เกิดความสูญเสียน้อยมากกับชาวเลเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่มาจนถึงวันนี้ มีแต่เครือข่ายผู้ประสบภัยพิบัติของชุมชนเองที่นำองค์ความรู้นี้มาบอกต่อและต่อยอดให้เห็นถึงความสามารถของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ แต่นิทานของชาวมอแกลน กลับไม่เคยถูกบันทึกจากหน่วยงานของรัฐเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อในฐานะที่เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญที่สังคมควรได้เรียนรู้อย่างเป็นทางการเลย” อรวรรณ ตั้งคำถาม

“และแม้ว่า นิทานของมอแกลน จะช่วยให้ชาวมอแกลนเสียชีวิตเพียง 2 คน แต่หลังสึนามิ ชาวมอแกลนชุมชนทับตะวัน กลับสูญเสียที่ดินไปถึง 5 ไร่ เพราะมีคนที่อ้างเป็นเจ้าของที่ดินที่พวกเราอยู่อาศัยมาอย่างยาวนานจากเอกสารประทานบัตรเหมืองแร่ที่หมดอายุไปแล้ว จนพวกเราต้องมาดิ้นรนต่อสู้คดีความเพื่อยืนยันสิทธิของเรา และมาถึงวันนี้ เราก็ต้องคงต้องต่อสู้กับข้อพิพาทในที่ดินซึ่งเป็นที่จอดเรือของเรามายาวนาน เพราะมีคนมาอ้างสิทธิในที่ดินบริเวณนั้นอีกเช่นกัน ทั้งที่มีสภาพเป็นป่าชายเลน ... และไม่กี่วันที่ผ่านมา เอกชนที่มาอ้างสิทธิก็เข้ามาทำรั้วล้อมรอบทางเข้าที่จอดเรือของพวกเราอีกแล้ว”






ในเวที “20 ปี สึนามิ บทเรียนภัยพิบัติประเทศไทย ก้าวอย่างไรให้พร้อมพอ” ซึ่งจัดขึ้นที่อนุสรณ์สถานสึนามิ บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ยังมีเครือข่ายผู้ประสบภัยจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนด้วย ทั้งจากพื้นที่ประสบภัยสึนามิและพื้นที่ประสบภัยอื่นๆอย่าง เชียงใหม่ ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล รวมไปถึงที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ ต่างแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้เรียนรู้จากการเป็นผู้ประสบภัย พัฒนาเป็นองค์ความรู้ในการจัดการกับปัญหาภัยพิบัติที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชนเอง ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัยซึ่งแต่ละแห่งก็มีวิธีการต่างกัน แนวทางที่ทำให้ปลอดภัยในระหว่างเผชิญเหตุ ไปจนถึงขั้นการฟื้นฟูเยียวยา




กำลังโหลดความคิดเห็น