xs
xsm
sm
md
lg

20 ปี ผ่านไป จากสึนามิถึงโลกเดือด วันที่การจัดการภัยพิบัติต้องเปลี่ยนมาอยู่ในมือชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“พวกเรา 11 ครอบครัว ยืนยันจะอยู่อาศัยในที่ดินเดิมของเราหลังเกิดสึนามิ แต่หน่วยงานรัฐไม่ทำให้ เขาบอกว่าเราอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนเสื่อมโทรมเลยไม่ยอมสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม จะให้เราไปอยู่ในบ้านซึ่งเป็นแบบแปลนกลางที่รัฐสร้างให้ ซึ่งไม่เหมาะกับวิถีของเราซึ่งเป็นชาวประมง”

“ปัญญา อนันทกูล” เป็นชาวบ้านในบ้านน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จุดที่มีความสูญเสียมากที่สุดจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่ม 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย เมื่อ 26 ธันวาคม 2547 ... หลังเกิดสึนามิ ผู้รอดชีวิตที่บ้านน้ำเค็มได้รับความช่วยเหลือด้วยการสร้างบ้านขึ้นมาให้ใหม่ เป็นลักษณะคล้ายกล่องสีเหลี่ยม มีขนาด 6x6 และ 4x9 ตารางเมตร มีห้องกั้นเป็นห้องน้ำ 1 ห้อง และอยู่ไกลจากที่จอดเรือมาก ... แต่บ้านเดิมของปัญญา มีชื่อว่า “ชุมชนตกปู” ซึ่งหมายความว่า พวกเขามีอาชีพประมง ทำอวนปู และมี “เรือ” กับ “เครื่องมือทำประมง” เป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต ดังนั้นจึงต้องมีบ้านอยู่ใกล้กับที่จอดเรือ

ปัญญา อนันทกูล

ชุมชนตกปู


“เวลาหน้าฝน มีฝนตกมาก เราก็ต้องคอยดูเรือและเครื่องมือหากินของเราในเรือว่าจะได้รับความเสียหายมั้ย ถ้าเราต้องไปอยู่บ้านที่พรุเตียว ซึ่งเป็นบ้านที่รัฐสร้างให้ใหม่ด้วยแบบแปลนกลางรูปแบบเดียวกันหมด เราจะไม่ได้อยู่ใกล้กับเรือ เพราะพื้นที่ที่สามารถจะจอดเรือได้อย่างปลอดภัยก็คือตรงนี้ซึ่งเป็นจุดที่ปลอดภัยจากลมมรสุมมากที่สุดเท่านั้น เราจึงพยายามยืนยันตลอดว่าต้องการจะอยู่อาศัยที่เดิม และโชคดีที่มีหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น เครือข่ายฟื้นฟูชายฝั่งอันดามัน เข้ามาเจรจาเรื่องที่ดินและจัดหางบประมาณมาสร้างบ้านให้ ส่วนคนที่ต้องไปอยู่บ้านใหม่ ส่วนใหญ่ก็เลิกอาชีพประมงไปเลย หรือย้ายไปอยู่ที่อื่นในที่สุดอยู่ดี” ปัญญา อธิบายสาเหตุที่ต้องต่อสู้เพื่อยืนยันสถานที่ในการสร้างบ้านหลังสึนามิเป็น 20 ปีก่อน

แบบบ้านที่รัฐสร้างให้ อยู่ไม่ได้




20 ปี หลังสึนามิ ในพื้นที่ใกล้ๆกับชุมชนตกปู 11 ครัวเรือน ยังมีบ้านเรือนของชาวบ้านน้ำเค็มอีกหลายหลังที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยวัสดุง่ายๆ อย่างสังกะสี ซึ่งเมื่อสอบถามก็จะพบว่า ส่วนใหญ่ของชาวบ้านกลุ่มนี้ คือคนที่เคยไปอยู่อาศัยในบ้านใหม่ที่มีลักษณะคล้ายกล่องที่รัฐสร้างให้ แต่ไม่สามารถทำอาชีพประมงได้ จึงต้องยอมทิ้งบ้านปูนที่ดูแข็งแรงกว่า มาปลูกบ้านสังกะสีด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้อยู่ใกล้กับที่จอดเรือมากกว่า

เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ กำลังจะเวียนมาครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยประสบกับปัญหาความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในหลายพื้นที่ ทั้งที่ภาคเหนือตอนบนซึ่งถูกน้ำท่วมและโคลนถล่มอย่างหนักจนถูกเรียกว่าสึนามิโคลน ยังมีความเสียหายอย่างหนักในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ซึ่งในทุกจุดล้วนเกิดคำถามกับแนวทางและประสิทธิภาพในการจัดการภัยพิบัติของหน่วยงานรัฐ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตือนภัย การช่วยเหลือหลังมีการเตือนภัย การเผชิญเหตุ ไปจนถึงขั้นตอนการฟื้นฟูเยียวยาที่ล่าช้าหรือมีวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้มูลนิธิชุมชนไทและเครือข่ายภัยพิบัติชุมชน ซึ่งเป็นผู้จัดเวทีภาคประชาชนในงานครบรอบ 20 ปี สึนามิ จึงรวบรวมผู้ประสบภัยพิบัติจากหลายพื้นที่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศมาร่วมระดมความคิดเห็นในงาน พร้อมสะท้อนให้ภาครัฐเล็งเห็นว่า แต่ละชุมชนควรจะได้รับการแบ่งอำนาจการจัดการภัยพิบัติมาเป็นของชุมชนเอง เพราะพวกเขารู้จักพื้นที่ ประชากร รวมไปถึงสภาพแวดล้อมต่างๆดีกว่าหน่วยงานรัฐ จึงมั่นใจว่าจะสามารถออกแบบการจัดการภัยพิบัติของตัวเองให้เกิดความสูญเสียได้น้อยกว่าที่ถูกจัดการโดยหน่วยงานรัฐมาก เพียงแต่ยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายซึ่งทำให้งบประมาณการจัดการภัยพิบัติทั้งหมดยังอยู่กับหน่วยงานต่างๆของรัฐเท่านั้น ...

ชุมชนเสี่ยงภัยต่างๆ จึงยังคงต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเมื่อเกิดภัย ทั้งที่พวกเขาไม่เชื่อมั่นเลย





ชุมชนตกปู


























กำลังโหลดความคิดเห็น