xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎ์สรุปรวมจุดอันตรายของรถบัสมรณะ พบติดตั้งเอ็นจีวี 11 ถัง แต่ยื่นขออนุญาตเพียง 6 ถัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา สรุปรวมจุดอันตรายของรถบัสมรณะ เผยพบใช้งานมานานกว่า 54 ปี มาตรฐานรถโดยสารสาธารณะควรอยู่ที่ 10-15 ปีเท่านั้น แถมติดตั้งเอ็นจีวี 11 ถัง แต่ยื่นขออนุญาตเพียง 6 ถัง

กรณีเกิดเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน ร.ร.วัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ระหว่างเดินทางกลับจากทัศนศึกษา มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยตำรวจก็จะมีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามเส้นทางที่ขบวนรถทัศนศึกษารวม 3 คันเดินทางกลับ จ.อุทัยธานี ต่อมามีรายงานว่ารถบัสคันเกิดเหตุจดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2513 โดยรถบัสมรณะใช้มาแล้วกว่า 50 ปี จดทะเบียนกับกรมการขนส่งฯ แจ้งว่าไม่ได้ติดตั้งถังแก๊สเอ็นจีวี แต่ตอนเกิดเหตุพบติดถังแก๊สเอ็นจีวี ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (3 ต.ค.) เฟซบุ๊ก “Jessada Denduangboripant” หรือ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ระบุข้อความว่า "สรุปรวม จุดอันตรายของรถบัสมรณะคันนั้น" โดยได้รับรายงานถึงผลการแถลงของตำรวจ กรณีรถบัสไฟไหม้จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมถึงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เลยขอนำมาสรุปให้อ่านกันนะครับ

- คนขับรถบัสได้รับสารภาพทุกข้อกล่าวหา โดยมีความผิดฐานประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความสูญเสีย เนื่องจากรู้ว่ารถมีปัญหา แต่ไม่หยุดรถ ได้ยินเสียงลูกสูบของรถดัง แต่ไม่ได้จอดดู และขับรถต่อจนรถเสียหลัก

- เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่าเกิดจากอุปกรณ์ส่วนควบบกพร่อง เกิดประกายไฟ จนเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้

1. รถบัสเก่า ใช้งานมาแล้ว 54 ปี (มาตรฐานรถโดยสารสาธารณะ ควรอยู่ที่ 10-15 ปีเท่านั้น)


- รถบัสที่ไฟไหม้ จดทะเบียนเป็นประเภทรถโดยสารไม่ประจำทาง ยี่ห้อรถเดิมคือ อีซูซุ แต่ดัดแปลงมาเป็นยี่ห้อเบนซ์ โดยใช้เครื่องยนต์ยี่ห้อเบนซ์ จำนวน 8 สูบ 280 แรงม้า น้ำหนักรถ 14,300 กก. จำนวนผู้โดยสารที่นั่ง 41 คน

- จดทะเบียนครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 2513 หรือใช้งานมาแล้ว 54 ปี

- รถบัสโดยสารในไทย ไม่ได้ถูกกำหนดว่าต้องเป็นรถใหม่ หรือเป็นรถสำเร็จรูปของยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง แต่ผู้ประกอบการมักจะซื้อแชสซีส์ของรถบรรทุกมา และซื้อเครื่องยนต์์เพื่อมาจดประกอบ

- รถที่มีการจดทะเบียนมานาน หากไม่ได้ถูกดูแลซ่อมบำรุง ก็มีความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ

- ผลการศึกษาอายุการใช้งานรถบัสโดยสารที่เหมาะสมในประเทศไทยว่าอยู่ที่ 10-15 ปีเท่านั้น

- แต่ก็มีช่องว่างว่า เมื่อปลดระวางแล้ว รถพวกนี้จะถูกนำไปจำหน่ายให้ผู้ประกอบการรถบัส รถทัวร์ ที่ให้บริการเช่าเหมาคัน เช่นกรณีที่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้

- การดัดแปลงตัวรถที่มีการประกอบใหม่แล้วไปจดทะเบียนรถโดยสารในลักษณะนี้ ถือเป็นช่องว่างในการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก คือไปทำสีและตัวถังใหม่ให้ผ่านการตรวจสอบของขนส่งทางบก โดยอาจจะไม่ได้มีการตรวจสอบเลขตัวถัง เลขแชสซีส์

2. ติดตั้งเอ็นจีวี 11 ถัง แต่ยื่นขออนุญาตเพียง 6 ถัง

- รถบัสคันนี้มีการติดตั้งถังแก๊สเกินกว่าจำนวนที่ขออนุญาต คือพบว่ามีถังแก๊สจำนวน 11 ถัง จากที่มีการขออนุญาตไว้แค่ 6 ถัง

- ถังแก๊สถูกติดตั้งไว้หลายจุด รวมอย่างน้อย 10 ถัง ตั้งแต่บริเวณล้อหน้า (ทั้งด้านซ้ายและขวา) ข้างละ 2 ถัง, ล้อด้านหลัง (ทั้งซ้ายและขวา) ข้างละ 1 ถัง และบริเวณตอนกลางของรถด้านล่างอีก 4 ถัง

- ตอนยื่นจดทะเบียนรถบัสต่อหน่วยงานขนส่ง ไม่ได้จดทะเบียนว่ารถได้ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวี แต่ตอนที่ยื่นทำประกันภัย กลับระบุข้อมูลว่าติดตั้งก๊าซเอ็นจีวี

- ตามระเบียบการตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ต้องตรวจปีละ 2 ครั้ง ส่วนรถที่ใช้ก๊าซซีเอ็นจี (เอ็นจีวี) หรือแอลพีจี ก็ต้องมีการตรวจสภาพถังตามรอบของมัน

3. ประตูทางออกฉุกเฉิน เปิดไม่ได้ ระบบอุปกรณ์ฉุกเฉินบนตัวรถ ไม่มี

- ร่างของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่บริเวณด้านหลังรถ ใกล้กับประตูทางออกฉุกเฉิน ซึ่งไม่มีการเปิดขณะเกิดเหตุ

- คนขับรถบัสได้ลงจากรถ และเดินวนมาที่บริเวณประตูฉุกเฉิน พยายามเปิด แต่ไม่สำเร็จ

- ครูและนักเรียนได้หนีลงมาจากประตูหน้า หากประตูหลังเปิด น่าจะรอดกว่านี้

- ไม่พบว่ามีค้อนทุบกระจกอยู่บนรถบัสแต่อย่างใด

- ในการตรวจสอบว่าประตูฉุกเฉินอยู่ในสภาพปกติ หรือทำงานอย่างถูกต้องหรือไม่ เมื่อชิ้นส่วนดังกล่าวถูกเผาไหม้ไปแล้ว ก็อาจมีความยากในการพิสูจน์

- ในกรณีฉุกเฉิน ที่ระบบลมของประตูรถโดยสารมีปัญหา จะมีตัวปลดล็อกวาล์วจากด้านในเพื่อดันประตูออก

- รถโดยสารทั่วไปที่มีกระจกหลายๆ บาน ต้องมี 1 ใน 3 ที่เป็นกระจกนิรภัย ที่สามารถทุบแล้วกระจกแตกละเอียดเป็นเม็ด ซึ่งคนสามารถหนีออกได้ (กระจกทั่วไปเป็นกระจกสองชั้น ใช้ค้อนทุบอย่างเดียว มันไม่แตก)

- ต้องมีกระจกนิรภัยประเภทเทมเปอร์ ความกว้างไม่น้อยกว่า 70 ซม. สูงไม่น้อยกว่า 50 ซม. ติดตั้งด้านขวาตัวรถค่อนไปทางด้านหน้า อย่างน้อย 1 บาน และด้านซ้ายของตัวรถ 1 บาน พร้อมข้อความ “ทางออกฉุกเฉิน” สีแดง และสัญลักษณ์วิธีการทุบกระจก (ห้ามติดฟิล์มกรองแสง)

- ต้องมีค้อนทุบกระจก อย่างน้อย 2 อัน ติดตั้งอย่างปลอดภัยที่ด้านซ้ายและด้านขวาของตัวรถ ใกล้บานกระจกนิรภัยประเภทเทมเปอร์

- คนขับรถพยายามเปิดประตูฉุกเฉินจากด้านนอก แต่ไม่สามารถเปิดได้

- ประตูฉุกเฉิน ต้องมีอย่างน้อย 1 ประตู กว้างไม่น้อยกว่า 40 ซม. และสูงไม่น้อยกว่า 120 ซม. อยู่ด้านขวาของห้องโดยสารบริเวณตอนกลาง หรือค่อนทางท้ายรถ

- ประตูฉุกเฉินต้องเปิดออกได้ทั้งจากภายในและภายนอก โดยไม่ต้องใช้กุญแจหรือเครื่องมืออื่นใด มีข้อความว่า “ประตูฉุกเฉิน” พร้อมคำอธิบาย และป้ายไฟบนพื้นสีขาว คำว่า EXIT สีแดง

- การใช้งานประตูฉุกเฉิน บางรุ่นเหมือนคันโยก บางรุ่นต้องใช้มือบิดและผลักออก หรือบางรุ่นอาจเป็นคันโยกที่มีระบบล็อกอยู่ ต้องปลดล็อกก่อนที่ผลักออกได้

- ถังดับเพลิง ต้องมีอย่างน้อย 2 ถัง ขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 4 กิโลกรัม โดยติดตั้งไว้ที่ด้านหน้า 1 เครื่อง และด้านหลัง 1 เครื่อง

4. ไฟลุกไหม้แรงและเร็ว-วัสดุในรถไม่ใช่ประเภทไม่ลุกติดไฟ

- ในช่วงแรก ไฟลุกไหม้บริเวณด้านหน้าตัวรถ และลุกไหม้โหมที่ตัวห้องโดยสารอย่างรวดเร็ว

- ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า ต้นเพลิงน่าจะไม่ได้มาจากถังแก๊ส เพราะส่วนใหญ่จะมีการระเบิด แต่เมื่อยางรถเกิดระเบิด และช่วงล่างไปครูดกับถนน อาจทำให้เกิดประกายไฟ พอประกายไฟโดนเข้ากับถังน้ำมัน ก็มีโอกาสที่ถังน้ำมันจะฉีกขาด และกลายเป็นต้นเพลิง

- และเมื่อไฟติดขึ้น ด้วยวัสดุภายในห้องโดยสาร ยิ่งทำให้เพลิงลุกไหม้เร็วมาก เบาะที่นั่งที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี จะติดไฟและจะลามไปเร็วมาก จะไหม้เร็วมากในไม่กี่นาที

- ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า อาจเกิดการรั่วไหลของถังแก๊สซีเอ็นจี ทำให้มีก๊าซสะสม จากนั้นเมื่อเกิดประกายไฟ จากยางแตกหรือเครื่องยนต์มีปัญหา จึงลุกลาม

- มีข้อเสนอว่า ประเทศไทยควรกำหนดให้ติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติบนรถโดยสาร เช่นที่ในยุโรปบังคับใช้ มาตรฐาน UN ECER 107 จะมีเซ็นเซอร์ ถ้าเกิดประกายไฟปุ๊บมันก็จะทำงานอัตโนมัติ และจะช่วยดับไฟอย่างรวดเร็ว เน้นในจุดที่เป็นเครื่องยนต์ ที่เป็นต้นเพลิง ถ้ามี ก็จะช่วยบรรเทาความรุนแรงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น