ชาวเน็ตไทยไม่พอใจ เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย ของญี่ปุ่น ตัดประเทศไทยออก ในการจัดอันดับปริมาณการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังพบเนื้อหาข่าวอวยมาเลเซีย-กัมพูชา เป็นผู้นำการขยายตัวของระบบการชำระเงิน QR Payment ในอาเซียน พบเคยใส่ไทยอันดับรั้งท้าย พอคนดูทักท้วงเลยตัดไทยออก พบที่ผ่านมาเคยทำข่าวโจมตีค่ายรถยนต์จีน ทำนองว่าเป็นวงจรอุบาทว์ แล้วมีสื่อมวลชนไทยบางค่ายเอาไปตีพิมพ์
วันนี้ (22 ก.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวและบทวิเคราะห์จากประเทศญี่ปุ่น รายงานข่าวหัวข้อ "Malaysia and Cambodia lead QR payment expansion in ASEAN" (มาเลเซียและกัมพูชาเป็นผู้นำการขยายตัวของระบบการชำระเงิน QR Payment ในอาเซียน" ลงวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา และโปรยว่า "Cross-border links and tourist services add to region's growing digital money usage" (การเชื่อมโยงบริการข้ามพรมแดน และบริการด้านการท่องเที่ยว ทำให้การใช้เงินดิจิทัลในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น)
โดยได้นำเสนอแผนภูมิหัวข้อ QR code payments in Southeast Asia หรือปริมาณการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ในปี 2023 มาเลเซียมียอดธุรกรรมผ่านระบบ QR Code ราว 2,000 กว่าล้านครั้ง อินโดนีเซียประมาณ 1,600 ล้านครั้ง กัมพูชาประมาณ 700 ล้านครั้ง สิงคโปร์ประมาณ 400 ล้านครั้ง และเวียดนามประมาณ 200 ล้านครั้ง แต่ไม่มีประเทศไทยอยู่ในการจัดอันดับดังกล่าว ทั้งที่ประเทศไทยมีระบบชำระเงิน QR Payment ผ่านระบบพร้อมเพย์ ส่งผลให้มีชาวเน็ตไทยเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ข่าวชิ้นดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กเพจ Nikkei Asia จำนวนมาก
โดยชาวเน็ตไทยบางคนนำสถิติของประเทศไทยมาอ้างอิง ระบุว่า เฉพาะเดือน ส.ค. 2024 เดือนเดียวก็มียอดการทำธุรกรรมผ่านระบบ QR สูงถึง 2,109 ล้านครั้ง มูลค่ากว่า 4,200 ล้านบาท มากกว่ามาเลเซียทั้งปีเสียอีก บ้างก็มีคนเข้าไปทำกราฟประชดว่า สงสัยที่สำนักข่าวนี้ไม่ใส่ไทยไว้ในอันดับด้วย เพราะถ้าใส่ไปไทยจะมีตัวเลขสูงกว่า 20,000 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งจะทำให้ประเทศอื่นดูไม่ดีใช่หรือไม่ บ้างก็ตั้งคำถามว่า Nikkei Asia คงกลัวที่จะรวมไทยที่มียอดการทำธุรกรรมออนไลน์อยู่อันดับ 1 ใน 5 ของโลกเข้าไปด้วยใช่หรือไม่
ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ "ลงทุนแมน" ระบุว่า "Nikkei Asia จัดอันดับ QR payment ในกลุ่มอาเซียน โดยให้ประเทศไทยรั้งท้าย ตามหลังแม้กระทั่ง กัมพูชา และเวียดนาม และได้มีคนไทยจำนวนมากไปร้องเรียนว่าข้อมูลผิด มาวันนี้โพสต์ใหม่ไฉไลกว่าเดิม จัดอันดับ QR payment ในอาเซียน โดยไม่มีประเทศไทยอยู่ในการจัดอันดับไปเลย..
สรุป วิธีการแก้ปัญหาด้านข้อมูลของเขาคือ ฉันอยากจะจัดอันดับอาเซียนอยู่นะ แต่การจัดอันดับอาเซียนไม่ต้องมีประเทศไทยเป็นตัวแทนแล้วละกัน ในฐานะลงทุนแมนเป็นผู้ทำคอนเทนต์ด้านการเงินของไทย อยากปกป้องว่าด้านการเงินของไทยก็มีดี อย่างน้อยคือการจ่ายเงินด้วย QR มากที่สุดในภูมิภาคนี้ และการนำประเทศไทยออกไป อาจทำให้ภาพการวิเคราะห์ของคนเห็นข้อมูล เข้าใจผิดไปได้ว่าประเทศไทยที่อยู่ในอาเซียนยังไม่พัฒนาในเรื่องนี้ พอเห็นแบบนี้แล้วก็ได้แต่ทำใจ"
อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวดังกล่าว เป็นจังหวะเดียวกับธนาคารกลางมาเลเซีย และธนาคารแห่งชาติกัมพูชาเปิดตัวระบบชำระเงิน QR ข้ามพรมแดน สำนักข่าวรอยเตอร์และซินหัวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาทั้งสองประเทศเปิดตัวระบบดังกล่าวในแถลงการณ์ร่วมของทั้งสองธนาคารกลางระบุว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้ผู้ค้ามากกว่า 5 ล้านรายในกัมพูชาและมาเลเซีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงลูกค้าที่กว้างขึ้นจากทั้งสองประเทศ
โดยนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาสามารถใช้แอปฯ Bakong และ M2U KH สแกนจ่ายตามร้านค้าที่มี Duit Now QR ของมาเลเซียกว่า 2 ล้านแห่ง และระยะต่อไป นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียสามารถสแกนจ่ายผ่าน KHQR ที่ร้านค้าในกัมพูชา จากแอปพลิเคชันธนาคารที่เข้าร่วม ซึ่งที่ผ่านมาประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่างทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมต่อระบบการชำระเงินของตน และใช้ระบบ QR Code ในการทำธุรกรรมการค้าปลีกด้วย
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย มีความไม่ชอบมาพากลในการรายงานข่าว ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาเว็บไซต์และเพจบางเพจ เช่น สำนักข่าว เดอะ สแตนดาร์ด หรือ บัญชา ชุมชัยเวทย์ ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 นำเสนอข่าวทำนองว่ากำลังเกิดวงจรอุบาทว์ขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย โดยอ้างอิงข่าวจากเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย ทำให้เพจเฟซบุ๊ก Bangkok Media Academy โพสต์ข้อความหัวข้อ "นิกเกอิ กับข่าววงจรอุบาทว์ ! จริงหรือ ??" เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา
สาระสำคัญระบุว่า มีสื่อมวลชนหลายค่ายนำบทความจากนิกเกอิ เอเชีย มาลง ในฐานะที่เป็นนักข่าว และจบด้านบริหารธุรกิจ อ่านอย่างละเอียดแล้วจึงมีทัศนะว่า เนื้อหาในข่าวนั้นเป็นการชี้นำไปในทิศทางที่ว่ารถยนต์ไฟฟ้าค่ายจากจีน เป็นตัวที่ทำให้ตลาดปั่นป่วน ซึ่งตนค้านมุมมองของนิกเกอิ เอเชีย ว่ามันไม่ใช่วงจรอุบาทว์ แต่เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของตลาด ที่มีสินค้าใหม่ (รถยนต์อีวี) เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการแข่งขันในตลาดเดิม (รถยนต์สันดาป) ทำให้ตลาดเดิมต้องหาทางรอด หลังจากที่โกยกำไรจำนวนมากมาเป็นเวลานาน
"รถยนต์ของยุโรปก็เจอปัญหานี้อย่างหนัก เมื่อรถไฟฟ้าอย่างเทสล่าเกิดขึ้นในตลาด ขณะที่รถญี่ปุ่นในบ้านเราก็ไปไม่ถูก เมื่อเจอรถไฟฟ้าจากจีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่ง ผมใช้ความรู้เรื่องบริหารธุรกิจไปหารายละเอียดเพิ่ม ก่อนมองแบบวิเคราะห์เรื่องตลาดรถยนต์ แล้วขอย้อนมาที่เรื่องสื่อ ซึ่งเจ้าของ Nikkei นั้นแยกกันไม่ออกเลยกับ กลุ่มทุนแห่งแดนอาทิตย์อุทัย"
สำหรับเว็บไซต์นิกเกอิ เอเชีย เป็นเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและบทวิเคราะห์ทางธุรกิจ สถานการณ์ทางการเมือง การเติบโตทางเทคโนโลยี ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มทางการตลาดทั้งในภูมิภาคและตลาดโลกจากมุมมองเอเชีย และยังนำเสนอดัชนี Asia300 เสนอข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวทางการเงินและการลงทุนที่สำคัญของบริษัทที่ทรงอิทธิพลในเอเชีย 300 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์, ปตท., ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น