เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ CLMVT Forum 2024: CLMVT’s Catalyst for Digital Growth ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอผลการดำเนินโครงการ CLMVT Forum ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับภาครัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และแนวทางสำหรับภาคเอกชนในการปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมศักยภาพด้านการค้า และเป็นบ่อเกิดของภาคอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างการเติบโตและมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลให้กับภูมิภาค CLMVT สนค. จึงร่วมมือกับบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี ประเทศไทย (จำกัด) จัดสัมมนาเชิงวิชาการในวันนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และหารือแนวทางความร่วมมือในการยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มประเทศ CLMVT โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จากกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย จำนวนกว่า 225 ราย
ในการสัมมนาครั้งนี้ ดร. วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการและร่างข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล สำหรับภาครัฐและภาคเอกชนของกลุ่มประเทศ CLMVT ประกอบด้วย (1) การเสริมสร้างความร่วมมือและความตกลงด้านดิจิทัลในระดับภูมิภาค (2) การยกระดับขีดความสามารถทางดิจิทัลของภาครัฐและเอกชน (3) การพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลที่ครอบคลุมทุกมิติ และ (4) การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์
ภายในงานสัมมนายังประกอบด้วยการเสวนา 4 ช่วง โดยในช่วงที่ 1 Mega Trends driven under Digital Wave ได้รับเกียรติจากวิทยากรจากภาควิชาการและองค์ระหว่างประเทศ ได้แก่ National University of Laos, ASEAN Secretariat, World Economic Forum และ ESCAP ที่ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์และความสำคัญของดิจิทัล ทั้งในระดับโลกและภูมิภาค โดยวิทยากรต่างมีความเห็นตรงกันว่าควรให้ความสำคัญในด้านการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) และความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) เนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ นำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่น (Trust) และสร้างระบบนิเวศที่ดีต่ออนาคตของเศรฐกิจดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในการใช้ข้อมูลทางการค้า ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยีของโลกนั้นย่อมส่งผลต่อการปรับตัวของกลุ่มประเทศ CLMVT อย่างมีนัยสำคัญเพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
การเสวนาช่วงที่ 2 ในหัวข้อ Digital Economy in the Eyes of Government ได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐของกลุ่มประเทศ CLMVT ได้แก่ Ministry of Science and Technology จากเมียนมา Ministry of Technology and Communication จาก สปป.ลาว Ministry of Commerce จากกัมพูชา Ministry of Industry and Trade จากเวียดนาม และสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็น และมุมมองของภาครัฐต่อการพัฒนาด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล โดยความท้าทายสำคัญที่กลุ่มประเทศ CLMVT ล้วนเผชิญ และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล คือ การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลภายในประเทศที่ครอบคลุม และการพัฒนาทักษะแรงงานไปสู่การเป็นบุคลากรดิจิทัลร่วมกับการดึงดูดผู้มีความสามารถทางดิจิทัลโดดเด่น (Talent) ภายในประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Transformation) ทั้งจากฝั่งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนาด้านดิจิทัลในมุมมองของภาครัฐกลุ่ม CLMVT ชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐต้องมีการผลักดันทั้งในด้าน Digital Economy Digital Society และ Digital Government ไปพร้อม ๆ กันทั้งองคาพยพ เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศให้เศรษฐกิจและสังคมได้พัฒนาเติบโตอย่างเหมาะสม
ในช่วงบ่าย เป็นการเสวนาในหัวข้อที่ 3 Digital Economy in the Eyes of Private Sector เป็นการเสวนาในมุมมองของภาคเอกชนจากวิทยากรจากภาคเอกชนของประเทศ CLMVT บางส่วนอันได้แก่ Myanmar Digital Economy Association, AI Forum, Cambodia และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยการเสวนาในช่วงนี้ได้ตกผลึกความเห็นในมุมมองของภาคเอกชนว่า นอกเหนือไปจากประเด็นด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและสตาร์ทอัพ โดยอาจดำเนินการในรูปแบบการบ่มเพาะผู้ประกอบการและการสร้างทัศนคติแบบดิจิทัล (Digital Mindset) รวมทั้งควรมีการให้แรงจูงใจในการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ CLMVT ยังคงมีโอกาสสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตอีกมาก ผู้แทนจากภาคเอกชนจึงได้นำเสนอช่องว่างความต้องการอื่น ๆ เช่น การพัฒนาระบบการชำระเงินดิจิทัล (Digital Payment) การพัฒนาระบบยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรม (Authentication) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในกลุ่มประเทศ CLMVT เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำนโยบายต่อไป
การเสวนาในหัวข้อที่ 4 Trade Cooperation and Agreement under the Spinning of Digital Economy Era ได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในด้านความตกลงด้านการค้าและเศรษฐกิจดิจิทัล จากหลากหลายองค์กร ได้แก่ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สถานทูตแคนาดา World Economic Forum และธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านดิจิทัล ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของประเทศในกลุ่มประเทศ CLMVT ให้มีศักยภาพทัดเทียมประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ ภายใต้มุมมองที่เกี่ยวข้องกับความตกลงด้านดิจิทัลชี้ให้เห็นว่า การค้าดิจิทัล (Digital Trade) คืออนาคตของการค้า เนื่องจากมูลค่าการค้าบริการแบบดิจิทัลของโลก ในปี 2565 สูงถึง 3.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 54 ของมูลค่าการค้าบริการรวมของโลก ดังนั้น การค้าดิจิทัลจึงเป็นประเด็นระดับโลก ที่ภูมิภาค CLMVT ควรมุ่งเป้าการพัฒนาความร่วมมือตามมาตรฐานความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลที่ก้าวหน้าในระดับโลก เพื่อปรับใช้ทั้งใน CLMVT และใน ASEAN โดยความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลต่าง ๆ (DEAs) รวมถึง Digital Economy Framework Agreement (DEFA) ของอาเซียน ซึ่งความตกลงเหล่านี้จะมีหัวข้อการเจรจาดิจิทัลที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ การเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามพรมแดน ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และข้อบังคับให้ต้องเก็บข้อมูลในประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ ความท้าทายของการสรุปข้อตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลเหล่านี้ คือการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความสอดคล้องกัน (Regulatory Harmonization) ควบคู่ไปกับการรักษาความยืดหยุ่นในการพัฒนาของแต่ละประเทศและการกำกับดูแลและการดำเนินตามพันธกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ DEFA ตั้งเป้าหมายให้ได้ข้อสรุปภายในปีหน้า
รอง ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มประเทศ CLMVT คือ เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ และอื่น ๆ ดังนั้นการผลักดันการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศไทยและระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV ควรหันมาให้ความสำคัญ ข้อมูลและองค์ความรู้จากงานสัมมนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและต่อยอดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
D