xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริหาร “สกร.” ยกนิ้ว 9 ศูนย์เรียนรู้ฯ ชูอาชีพที่สอง ส่งผลคนเข้าห้องสมุดเพิ่ม-ผู้สูงวัยได้เพื่อนได้สังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วงเสวนาเรื่อง "ถอดรหัสห้องสมุดประชาชน….สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน"  จัดโดยสมาคมห้องสมุดฯ โดยศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ชื่นชมศูนย์เรียนรู้ฯ 9 แห่ง ดันตัวเลขคนเข้าห้องสมุดเพิ่มขึ้น ช่วยผู้สูงวัยสุขกายสุขใจคลายเหงา แถมมีรายได้เสริม ระบุผลงาน-ผลิตภัณฑ์บางอย่างเป็นซอฟต์เพาเวอร์สร้างชื่อได้

สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี โดยศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน จัดประชุมทางวิชาการ เรื่อง "การถอดรหัสสู่ความสำเร็จศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน Relearning Space @ Library:ห้องสมุดประชาชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี" ที่โรงแรมวังใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา โดยนางเกศรา มัญชุศรี อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาและกรรมการมูลนิธิทวีปัญญา เป็นประธานเปิดงาน มี น.ส.กานสินี โอภาสรังสรรค์ ส.ส.สุราษฎร์ฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ, นายประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ฯ และว่าที่ร.อ.ดร.อาศิส เชยกลิ่น รักษาการผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนาฯ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ร่วมเป็นเกียรติ รวมทั้งบรรณารักษ์จากจังหวัดต่างๆ พร้อมด้วยนางสุพินดา มโนมัยพิบูลย์ ผู้จัดการมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ซึ่งนำวงปล่อยแก่สุราษฎร์ฯ มาโชว์การแสดงทั้งการร้องเพลงประสานเสียง และการเต้นไลน์แดนซ์

กิจกรรมภายในงานมีการเสวนาเรื่อง "ถอดรหัสห้องสมุดประชาชน….สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล กรรมการมูลนิธิทวีปัญญา อดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าที่ร.อ.ดร.อาศิส เชยกลิ่น และนางเตือนจิตร วงศ์สวัสดิ์ บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ ห้องสมุดประชาชน จ.สุราษฎร์ฯ ดำเนินการเสวนาโดยอาจารย์สุจิตร สุวภาพ หัวหน้าโครงการศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องฯ

ดร.กฤษฎากล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ที่มีอาจารย์สุจิตร สุวภาพ เป็นหัวหน้าโครงการฯ เริ่มตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากเห็นปัญหาคนเข้าห้องสมุดน้อยลง ในขณะที่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) หรือ กศน.เดิม สอนอาชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งสินค้าโอทอปจำนวนไม่น้อยก็มาจากผลงานนักเรียน สกร. การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งแรกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในปี 2563 โดยเน้นการสอนหลักสูตรอาชีพที่สองตามความต้องการของชุมชน ต่อมาได้ขยายศูนย์เรียนรู้ฯ ไปอีก 8 จังหวัด รวมเป็น 9 จังหวัด จนถึงทุกวันนี้ถือเป็นผลงานที่น่าชื่นใจเพราะมีการพัฒนาก้าวหน้าไปค่อนข้างมาก

“ผมมองว่าผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมบางอย่างที่แต่ละศูนย์เรียนรู้ฯ ทำนั้นอาจเป็นซอฟต์เพาเวอร์ให้กับทางจังหวัดและประเทศไทยได้ เพราะสินค้าบางอย่างสมาชิกศูนย์เรียนรู้ฯ ทำจากใจ เป็นสินค้าที่มาจากภูมิปัญญาของชุมชน เป็นสินค้าโฮมเมดจริงๆ ซึ่งแต่ละศูนย์ก็มีจุดเด่นแตกต่างกันไป โดยเฉพาะงานผ้าพิมพ์ใบไม้จากสีธรรมชาติ และของที่ระลึกต่างๆ เป็นการช่วยลดขยะ ลดโลกร้อน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย ส่งเสริมให้สมาชิกมีรายได้เสริม พร้อมกับลดรายจ่าย แต่มิติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือได้ในเรื่องสังคม ทุกคนมาอยู่ร่วมกันมาเสียสละเวลาและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ในขณะที่บ้านเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงวัยได้ใช้เวลาว่างอย่างเกิดประโยชน์ เชื่อว่ามูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนงานของศูนย์เรียนรู้ฯ ต่อไปอย่างแน่นอน”

ว่าที่ ร.อ.ดร.อาศิสกล่าวว่า ห้องสมุดสังกัด สกร.ทั่วประเทศมีทั้งหมด 925 แห่ง โดยแบ่งเป็นห้องสมุดประเภทต่างๆ เช่น ห้องสมุดประชาชน ”เฉลิมราชกุมารี” 108 แห่ง ห้องสมุดประชาชนจังหวัด 69 แห่ง ห้องสมุดประชาชนอำเภอ 745 แห่ง นอกนั้นเป็นบ้านหนังสือชุมชน 18,728 แห่ง สกร.ระดับตำบล 7,435 แห่ง ซึ่งนโยบายของอธิบดี สกร.เน้นการทำกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การอ่าน ห้องสมุดต้องปรับบทบาทไม่ใช่ส่งเสริมให้คนมาอ่านหนังสืออย่างเดียวจะไปไม่รอด โดยห้องสมุดจะต้องเป็น ”Library smart” เน้นการขับเคลื่อนด้วยกิจกรรม การใช้ชื่อโซเชียลหลากหลายแพลตฟอร์ม รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่และส่งต่อองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ

“การเรียนหลักสูตรวิชาชีพ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ สกร.ที่ว่าใช้กิจกรรมนำการอ่าน เพราะก่อนที่จะไปทำอาชีพได้อย่างน้อยก็ต้องผ่านการอ่าน และเท่าที่ดูผลงานพร้อมผลิตภัณฑ์ของศูนย์เรียนรู้ฯ แต่ละแห่งเห็นว่าทำได้ดีมาก ผลิตภัณฑ์หลายอย่างเป็นของดีในชุมชน เมื่อนำมาสอนในศูนย์เรียนรู้ฯ ก็เป็นการดึงดูดให้คนเข้ามาห้องสมุดกันมากขึ้น ดังนั้น การนำผลงานความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้มาโชว์นับว่าเป็นประโยชน์มากจะได้มีการขยายผลต่อไป”

ด้านนางเตือนจิตรกล่าวว่า ช่วงหลายปีก่อนคนไม่มาห้องสมุดกันเลย ตนเองก็รู้สึกเซ็งๆ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับปัญหาที่เจอ พอปี 2563 สมาคมห้องสมุดฯ และมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้จักรเย็บผ้ามา 1 ตัวเพื่อให้ศูนย์เรียนรู้ฯ สุราษฎร์ธานีเย็บหน้ากากอนามัยในช่วงโควิดระบาด จากนั้นได้จักรมาเพิ่มกว่า 10 ตัวทำกระเป๋าและของที่ระลึก ต่อมาห้องสมุดฯ ได้รับการคัดเลือกกระเป๋าผ้าทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระราชินี เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ เป็นแรงบันดาลใจให้ทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งในเรื่องอาหารว่าง ศิลปะประดิษฐ์ ตลอดจนผ้าพิมพ์ใบไม้ ทำให้ผู้เรียนมีรายได้เสริม วัยรุ่นบางคนเรียนทำวุ้นแฟนซีจนสามารถต่อยอดเป็นผู้จำหน่าย เป็นอาชีพหลักได้เลย

“ศูนย์เรียนรู้ฯ ทำให้บรรดาผู้สูงอายุได้มาพบปะกัน อยู่กันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน เกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ผลงาน ที่ผ่านมาได้จดทะเบียนสินค้าโอทอป 7 ผลิตภัณฑ์ และในปีนี้กำลังดำเนินการขอจดอีก 3 ผลิตภัณฑ์ สำหรับผ้าพิมพ์ใบไม้ของศูนย์ฯ เป็นสินค้าขายดีของศูนย์ฯ จนผลิตไม่ทันขายเพราะต้องออกบูทตามงานต่างๆ ทั้งที่ในจังหวัดสุราษฎร์ฯ และกรุงเทพฯ พร้อมกันนี้ ได้ตกลงกันภายในกลุ่มว่าเมื่อมีงานอะไรสมาชิกต้องสวมใส่ผ้าพิมพ์ใบไม้ เพื่อเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปในตัวด้วย” นางเตือนจิตรกล่าว

ต่อจากนั้นตัวแทนจากศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องฯ 7 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์เรียนรู้ฯ อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี ลำปาง เพชรบูรณ์ ขอนแก่น สมุทรสงคราม และยะลา ได้นำเสนอผลงานของแต่ละศูนย์ ซึ่งนำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงและจำหน่าย และเตรียมจดทะเบียนเป็นสินค้าโอทอปประจำจังหวัด เช่น ผ้าห่มครั่งของศูนย์เรียนรู้ฯลำปาง ผ้าพิมพ์ใบไม้จากธรรมชาติของศูนย์เรียนรู้ฯอุบลราชธานี และลูกปัดมโนราห์ของศูนย์เรียนรู้ฯ ยะลา ฯลฯ

นางสาวสุจิตร สุวภาพ หัวหน้าโครงการศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ฯ ทั้ง 9 แห่ง ซึ่งวันนี้จังหวัดกาญจนบุรีติดภารกิจไม่ได้มาจัดแสดง ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากสมาชิก ผู้เรียน ชุมชน เครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยได้ขยายหลักสูตรวิชาชีพที่สองไปยังตำบลและอำเภอของแต่ละจังหวัด การพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง การสร้างวิทยากรจิตอาสา การพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ เป็นการสร้างจุดแข็งของศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและผลงานของผู้เรียน นับเป็นการสร้างความรู้ สู่ทักษะ เพิ่มรายได้ ให้ความสุข แก่สมาชิกผู้เรียนของศูนย์เรียนรู้ต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืนต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น