xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแล้ววันนี้อุโมงค์ผาเสด็จ ครองแชมป์ยาวที่สุดในไทย โค่นแชมป์อุโมงค์ขุนตาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ : ITD Italian-Thai Development Public Company Limited
การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดใช้รถไฟทางคู่ มาบกะเบา-คลองขนานจิตร บางส่วน พร้อมเปิดใช้อุโมงค์ผาเสด็จ แชมป์ยาวที่สุดในไทยโค่นอุโมงค์ขุนตาน ที่เป็นแชมป์มานานกว่า 100 ปี และเปิดอุโมงค์หินลับ

วันนี้ (28 ก.ค.) เป็นวันแรกที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดใช้เส้นทางเดินรถไฟในทางคู่ใหม่ ช่วงสถานีมาบกะเบา ถึงสถานีมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 13.20 กิโลเมตร และช่วงสถานีบันไดม้า ถึงสถานีคลองขนานจิตร จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กิโลเมตร และเปิดใช้งานอุโมงค์ผาเสด็จ อุโมงค์หินลับ โดยงดใช้บริการโดยสารที่สถานีรถไฟผาเสด็จและสถานีรถไฟหินลับ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 2567 

ผู้โดยสารสามารถใช้บริการที่สถานีใกล้เคียง ได้แก่ สถานีมาบกะเบา และสถานีมวกเหล็ก จ.สระบุรี อย่างไรก็ตาม แม้จะปิดให้บริการสถานีรถไฟผาเสด็จและสถานีรถไฟหินลับ แต่ยังมีขบวนรถสินค้าปูนซีเมนต์ จากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) โรงงานสระบุรี ใช้เส้นทางรถไฟดังกล่าวอยู่ ซึ่งมีเดินรถวันละ 8-10 ขบวน รวมถึงขบวนรถไฟท่องเที่ยวที่จัดเฉพาะกิจเท่านั้น

ภาพ : กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม
สำหรับอุโมงค์ผาเสด็จ (อุโมงค์ที่ 1) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบากับสถานีหินลับ เป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว มีความกว้าง 7.50 เมตร สูง 7 เมตร ระยะทาง 5.41 กิโลเมตร เป็นอุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทย มีระบบความปลอดภัยที่ครบครัน ทั้งระบบระบายอากาศภายในอุโมงค์ ระบบแจ้งเตือนไฟไหม้ ระบบดับเพลิง ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ระบบจ่ายไฟฟ้ากำลังสำรอง ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบตรวจจับผู้บุกรุกเข้ามาในอุโมงค์ ระบบตรวจจับก๊าซออกซิเจน ให้มีค่าไม่น้อยกว่า 18% ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ให้มีค่าไม่เกิน 70 ppm. และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ ให้มีค่าไม่เกิน 0.2 ppm หากตรวจพบค่าใดค่าหนึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ระบบระบายอากาศจะทำงานโดยอัตโนมัติ 

มีระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน ระบบ SCADA และระบบตรวจจับความร้อนโดยใช้ fiber optic อีกด้วย นอกจากนี้ ภายในอุโมงค์ผาเสด็จมีทางเดินอพยพฉุกเฉินด้านข้างทางรถไฟ และมีทางเชื่อมหนีภัยระหว่างสองอุโมงค์ (cross passage) ทุกระยะประมาณ 500 เมตร รวม 11 แห่ง และมีห้องอุปกรณ์ (equipment room) 5 แห่ง รวมทั้งมีห้องควบคุมอยู่ด้านบนฝั่งเหนือของอุโมงค์ผาเสด็จ เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมสั่งการตรวจจับสิ่งผิดปกติต่างๆ ภายในอุโมงค์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน NFPA 130

ภาพ : กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม
ส่วนอุโมงค์หินลับ (อุโมงค์ที่ 2) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีหินลับกับสถานีมวกเหล็ก เป็นอุโมงค์เดี่ยวทางคู่ มีความกว้าง 11 เมตร สูง 7.30 เมตร ระยะทาง 265 เมตร การเดินรถไฟดังกล่าว ระยะทาง 42.90 กิโลเมตร เริ่มจากช่วงสถานีมาบกะเบาถึงสถานีมวกเหล็ก ลอดอุโมงค์ผาเสด็จและอุโมงค์หินลับ แล้ววิ่งเบี่ยงขวาเข้าทางเดี่ยวเดิมก่อนถึงสถานีมวกเหล็กใหม่ เนื่องจากทางลงทางรถไฟยกระดับของสถานีมวกเหล็กใหม่ ยังอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องค่าปรองดองก่อนดำเนินการก่อสร้าง จึงต้องใช้ทางเดี่ยวเดิมไปพลางก่อน จากนั้นจึงกลับมาเริ่มเดินรถทางคู่อีกครั้ง ที่ด้านเหนือของสถานีบันไดม้า ใช้ทางคู่จนถึงสถานีคลองขนานจิตร โดยสถานีบันไดม้าจะใช้ทางล่องวิ่งร่วมกันเพียงทางเดียว

โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร (กม.134+250-กม.198+200) สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างอุโมงค์ และสัญญาที่ 4 งานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ก่อสร้างในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2560 ลงมือก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561 ค่าก่อสร้างสัญญาที่ 1 รวม 7,560 ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) สัญญาที่ 3 รวม 9,290 ล้านบาท ผู้รับจ้าง กิจการร่วมค้า ไอทีดี-อาร์ที (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน)) และสัญญาที่ 4 รวม 2,445 ล้านบาท ผู้รับจ้าง กลุ่มกิจการร่วมค้าอิตาเลียนไทยฯ-LSIS อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีเป้าหมายก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2568


ส่วนสัญญาที่ 2 การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ (กม.199+600-กม.268+136) อยู่ระหว่างการแก้ไขรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ช่วงสถานีโคกกรวด-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 16 กิโลเมตร และปรับกรอบวงเงินเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ก่อนเสนอเข้าบอร์ดการรถไฟฯ และคณะรัฐมนตรี ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมีอุโมงค์ทางลอดรถไฟทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่

1. อุโมงค์ขุนตาน ทางรถไฟสายเหนือ อยู่ระหว่างสถานีรถไฟแม่ตานน้อย กับสถานีขุนตาน จ.ลำพูน ความยาว 1,362.10 เมตร แล้วเสร็จเมื่อปี 2461

2. อุโมงค์ห้วยแม่ลาน ทางรถไฟสายเหนือ อยู่ระหว่างสถานีรถไฟบ้านปิน กับสถานีรถไฟผาคัน จ.แพร่ ความยาว 130.20 เมตร

3. อุโมงค์เขาพลึง ทางรถไฟสายเหนือ อยู่ระหว่างที่หยุดรถไฟเขาพลึง กับที่หยุดรถไฟห้วยไร่ จ.แพร่ ความยาว 362.44 เมตร

4. อุโมงค์ปางตูบขอบ ทางรถไฟสายเหนือ อยู่ระหว่างสถานีรถไฟปางต้นผึ้ง กับที่หยุดรถไฟเขาพลึง จ.อุตรดิตถ์ ความยาว 120.09 เมตร

5. อุโมงค์เขาพังเหย ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่) อยู่ระหว่างสถานีรถไฟโคกคลี กับสถานีรถไฟช่องสำราญ จ.ลพบุรี ความยาว 235.60 เมตร เปิดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2510

6. อุโมงค์ช่องเขา ทางรถไฟสายใต้ อยู่ระหว่างสถานีรถไฟช่องเขา และสถานีรถไฟร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ความยาว 235.90 เมตร

7. อุโมงค์พระพุทธฉาย ทางรถไฟสายตะวันออก (ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย) อยู่ระหว่างสถานีรถไฟบุใหญ่ กับสถานีรถไฟวิหารแดง จ.สระบุรี ความยาว 1,197 เมตร เปิดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2538

8. อุโมงค์บ่อฝ้าย ทางรถไฟสายใต้ อยู่ระหว่างสถานีห้วยทรายใต้ กับสถานีหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อสร้างขึ้นเพื่อลอดใต้ทางวิ่งของท่าอากาศยานหัวหิน
กำลังโหลดความคิดเห็น