xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “บิ๊กกุ้ย” เสี่ยงคุก ตั้งลูกน้องคนสนิทนั่งเลขาฯ ป.ป.ช.สืบทอดอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา ตั้งเลขาฯ ป.ป.ช.คนใหม่ แทน “นิวัติไชย” ที่จะเกษียณอายุ 30 ก.ย. “พล.ต.อ.วัชรพล” ประธาน ป.ป.ช.จะตั้ง “พล.ต.ต.อรุณ” เด็กในคาถาสืบทอดเก้าอี้หรือไม่ แม้มีอำนาจในฐานะประธานฯ เสนอชื่อให้กรรมการ ป.ป.ช.เห็นชอบ แต่ต้องระวังขัดมติ ครม.ปี 2547 ที่ห้ามผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ขรก.ซี 10-11 เพื่อให้มีผลหลังจากที่ตัวเองพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. จะพ้นตำแหน่งในวันที่ 9 กันยายน หลังอยู่ครบวาระ 9 ปี

ส่วนตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. นายนิวัติไชย เกษมมงคล จะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายนนี้ ซึ่งถูกจับตามองอย่างมากว่าใครจะได้เก้าอี้ตัวนี้ไปครอง เบื้องต้นเรียกได้ว่าเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายลูกหม้อ ป.ป.ช. กับตำรวจ โดยแคนดิเดตเวลานี้มีด้วยกัน 3 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นรองเลขาธิการ ป.ป.ช. ด้วยกันทั้งสิ้น ประกอบด้วย (1) พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล ซึ่งเป็นเด็กในคาถา เด็กในบ้านของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. (2) นายสุรพงษ์ อินทรถาวร ซึ่งถูกแขวน ไม่ให้ทำงานอะไร เพราะว่าเป็นคนที่ตรงไปตรงมา ไม่ยอมรับใบสั่งใครมา และ (3) นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ

พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล
เดิมทีถ้าเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่มีการก่อตั้ง ป.ป.ช. ขึ้นมา ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จะพบว่าเลขาธิการ ป.ป.ช. จะมาจากคนในแทบทั้งสิ้น ซึ่งเป็นจารีตประเพณียึดถือกันมาเป็นเวลานาน การวางหลักการให้คนในขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำ เพื่อให้เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้รับการยอมรับจากคนในที่ทำหน้าที่คอยเป็นฟันเฟืองมาตลอด เพราะต้องไม่ลืมว่างาน ป.ป.ช. เป็นงานที่เอาคนผิดมาลงโทษ การจะทำภารกิจให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องใช้ความร่วมแรงร่วมใจเป็นอย่างมาก

แต่เวลานี้มาตรฐาน ป.ป.ช.ที่สั่งสมกันมานาน กำลังถูกสั่นคลอนครั้งใหญ่ เมื่อมีความพยายามที่จะให้คนนอกที่ไม่ใช่ลูกหม้อ มาเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. คือ พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล เป็นแรงหนุน เพื่อหวังสร้างทายาทใน ป.ป.ช. ต่อไป

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ - พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล
พล.ต.ต.อรุณ เส้นทางที่ผ่านมาเจริญเติบโตในหน้าที่การงานในแวดวงตำรวจ ไม่ได้ไต่เต้ามาจากคนทำงานใน ป.ป.ช. โดยตรง เพียงแต่ที่ข้ามจากตำแหน่งผู้บังคับการกองยุทธศาสตร์ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาทำงานที่ ป.ป.ช.ได้เพราะ พล.ต.อ.วัชรพล ต้องการให้มาช่วยราชการในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. และทำหน้าที่มาจนกระทั่งเป็นตำแหน่งรองเลขาธิการ ป.ป.ช. ในปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น พล.ต.ต.อรุณ ในอดีตเคยเป็นนายเวรให้กับ พล.ต.อ.วัชรพล มาก่อน ทั้งยังเป็นน้องชายของ พล.ต.อมร อมรวิริยะกุล ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าสำนักงานนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม สมัย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงไม่แปลกที่ตำรวจรายนี้จะมาแรงกว่าลูกหม้อคนอื่นที่เป็นรองเลขาธิการ ป.ป.ช. เหมือนกัน

นายนิวัติไชย เกษมมงคล
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ พล.ต.ต.อรุณ มีโอกาสมากกว่าใคร คือกติกาที่เอื้อให้ประธาน ป.ป.ช. เสมือนเป็นผู้เคาะคนที่มานั่งเก้าอี้เลขาธิการ ป.ป.ช. โดยกระบวนการสรรหาและเลือกเลขาธิการ ป.ป.ช. นั้น เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง คุณสมบัติและวิธีการได้มาซึ่งเลขาธิการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาและเสนอรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาต่อประธาน ป.ป.ช. ไม่เกิน 3 ราย ให้ประธานพิจารณาเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งจำนวน 1 ราย และเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ถ้าดูตามกติกาแล้ว ประธาน ป.ป.ช. จะให้เก้าอี้นี้กับ พล.ต.ต.อรุณ ก็ทำได้เลย ด้วยการเสนอให้กรรมการ ป.ป.ช.เห็นชอบ ทุกอย่างก็จบ เพราะในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่กรรมการ ป.ป.ช. จะฉีกหน้าประธาน ป.ป.ช.กลางที่ประชุม แต่ว่าทุกอย่างอาจไม่ได้ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามืออย่างที่ พล.ต.อ.วัชรพล คิดก็ได้ เนื่องจากหากจะหักด้ามพร้าด้วยเข่าก็สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมายเช่นกัน

ประเด็นอยู่ตรงไหน ? เราต้องย้อนกลับไปปี 2547 หรือยี่สิบปีที่แล้ว คณะมนตรีเคยมีมติแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการระดับ 10 หรือระดับ 11 โดยระบุว่า การแต่งตั้งข้าราชการล่วงหน้าให้กระทำได้โดยผู้อำนาจแต่งตั้งซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ไม่พึงออกคำสั่งไว้ล่วงหน้า โดยให้คำสั่งมีผลบังคับใช้เมื่อผู้ออกคำสั่งพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว รายละเอียดดังกล่าว หนังสือลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2547 ลงนามโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี


จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว หมายความว่า พล.ต.อ.วัชรพล ทราบดีว่าตัวเองจะต้องลงจากตำแหน่งในวันที่ 9 กันยายน ย่อมไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ 11 ได้โดยเด็ดขาด เพราะนายนิวัติไชย เกษียณอายุวันที่ 30 กันยายน หลังจากการพ้นตำแหน่งของ พล.ต.อ.วัชรพลไปแล้ว 21 วัน ขืนทำไปก็สุ่มเสี่ยงว่ามีความผิดแน่นอน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

“ผมได้ข่าวว่าตอนนี้มีผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. คนสนิทของ พล.ต.อ.วัชรพล ชื่อ "เปิ้ล" พูดกรอกหูเจ้านายถี่ๆ ว่ามติ ครม. เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับองค์กรอิสระแต่อย่างใด ป.ป.ช. ไม่ต้องยึดถือ ไม่ต้องทำตามหรอก แต่ผมอยากจะเตือนคุณเปิ้ล ท่านผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเท่าที่ผมทราบมา คุณเปิ้ล คือตัวประสานงานใหญ่เลย ของวัชรพล ใน ป.ป.ช. ประสานงานเรื่องอะไร ? ท่านผู้ชมไปคิดเอาเองก็แล้วกัน

“ผมจะเตือนว่าเรื่องอื่นที่เป็นมติ ครม. เหมือนกัน แล้วทำไม ป.ป.ช. ปฏิบัติตาม ยิ่งเป็นสิทธิประโยชน์ เงินเดือนได้ขึ้น ก็เห็น ป.ป.ช. รับเอามาทำตามทุกเรื่อง แล้วคุณมาอ้างได้อย่างไรว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องทำตาม


“ผมขอเตือนคุณวัชรพลอีกครั้งนะครับ ถ้าคุณยังดันทุรังจะลงจากตำแหน่งแบบไม่มีคดีฟ้องร้องเพิ่มอีก คุณไม่ควรไปยุ่มย่ามเด็ดขาด ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ คือ รอให้มีประธาน ป.ป.ช. คนใหม่เข้ามาแต่งตั้งเลขาธิการ ป.ป.ช. คนใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสง่างามด้วยกันทุกฝ่าย และเรียกศรัทธาจากประชาชนให้กลับมามีความเชื่อมั่นใน ป.ป.ช. อีกครั้งหนึ่ง เชื่อผมสิครับคุณวัชรพล ถ้าคุณทำแบบนั้น ถ้าคุณไม่ยอมฟัง ไม่ยอมเชื่อในมติ ครม. แล้วก็รอ คุณดึงดันจะตั้งคนของคุณขึ้นมาเพื่อสืบทอด โดยไปฟังคุณเปิ้ล ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. แล้ว คุณโดนคดีแน่นอน แล้ววันที่คุณต้องขึ้นศาลโดนคดีนี้ นายเปิ้ล ก็ไม่รู้ว่าหายหน้าหายตาไปไหนแล้ว คงจะไม่อยู่รอช่วยคุณหรอก เพราะต้องมีคนฟ้องร้องคุณอย่างแน่นอน แล้วผมปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายหลายท่านแล้ว ทั้งอดีตผู้พิพากษา อดีตหัวหน้าศาลฎีกา หัวหน้าองค์คณะศาลฎีกา ท่านดูแล้วว่าทำไม่ได้ ฟ้องแล้วชนะอย่างแน่นอน

“คุณวัชรพล สิ่งที่คุณทำไว้ในช่วง 9 ปี ที่มีอยู่เยอะแยะตาแป๊ะไปหมดนี่คุณยังไม่พอใจอีกหรือ ของที่คุณทำเอาไว้ถ้าประธาน ป.ป.ช. คนใหม่เข้ามา กรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่เข้ามา เขารื้อหลายๆ เรื่องขึ้นมา และอาจจะพาดพิงถึงคุณ คุณจะมีความสุขอยู่ไหม ทำไมถึงต้องไปหาเรื่องเพิ่มมาอีก เพียงเพื่อต้องการให้มีทายาทสืบทอดงานของคุณเท่านั้นเอง หรือจะเอาเขามาเพื่อกลบขี้ กลบขยะ ที่อยู่ใน ป.ป.ช.” นายสนธิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น