xs
xsm
sm
md
lg

เสธ.วีร์ ผู้ป่วยสูญเสียการทรงตัวจากไปด้วยอายุ 53 ปี ผลงานสุดท้ายรถไฟฟ้าเพื่อเด็กด้อยโอกาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พ.อ.วีร์ โรจนวงศ์ หรือ เสธ.วีร์ เตรียมทหารรุ่น 29 จ.ป.ร.รุ่น 40 ผู้ป่วยโรคสูญเสียการทรงตัว เสียชีวิตในวัย 53 ปี ผลงานสุดท้ายก่อนจากโลกนี้ไป ร่วมกันทำโครงการดัดแปลงสองแถวไม้รับส่งนักเรียนคันเก่าเป็นรถ EV เพื่อเด็กบ้านเอื้อพร บ้านพักพิงเด็กด้อยโอกาสในจังหวัดชุมพร

วันนี้ (3 ก.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า พ.อ.วีร์ โรจนวงศ์ หรือ เสธ.วีร์ นายทหารสังกัดกรมการทหารสื่อสาร และเจ้าของเฟซบุ๊กเพจ "เสธ.วีร์ ชีวิตที่ไม่ยอมแพ้" ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง รวมอายุได้ 53 ปี หลังรักษาตัวจากอาการป่วยด้วยโรคสูญเสียการทรงตัว หรือ SAC3 ตั้งแต่อายุ 47 ปี ยาวนานกว่า 6 ปี และได้ถ่ายทอดเรื่องราวลงในเพจดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางการรักษา ดูแลตัวเองแก่ผู้ป่วย โดยเชื่อในการใช้ชีวิตที่มีชีวิตชีวา และสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตเป็นเพียงเงื่อนไขไม่ใช่ข้อจำกัด

สำหรับ พ.อ.วีร์ เกิดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2514 ที่กรุงเทพมหานคร จบจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 13 ปี 2531 ก่อนศึกษาต่อเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 29 และนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ (จ.ป.ร.) รุ่นที่ 40 สำเร็จการศึกษาได้ยศร้อยตรี เลือกรับราชการเหล่าทหารสื่อสาร เมื่อปี 2536 ศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีพี่น้อง 1 คน รับราชการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย

ผ่านประสบการณ์เรียนหลักสูตรชั้นนายพัน สหรัฐอเมริกา (Officer Advance Course) Fort Gordon Atlanta Georgia USA 2538-2539 ระยะเวลา 8 เดือน นายทหารรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ประเทศติมอร์ตะวันออก (UNMO) 2547-2548 ระยะเวลา 6 เดือน เป็นล่ามอังกฤษ-ไทย ชุดซ่อมอาวุธ ที่เมืองชือเจียจวง สาธารณรัฐประชาชนจีน 3 เดือน ในปี 2548-2549 แล้วกลับมาทำงานในเรื่องการส่งกำลังบำรุงสายสื่อสาร ปี 2548-2558 รับราชการเจริญก้าวหน้าตามลำดับ

วันหนึ่งมีผู้คนทักว่าเดินเซ เกิดจากอุบัติเหตุหรือเปล่า จึงไปตรวจร่างกาย พบว่าเป็นโรค SCA3 ซึ่งแพทย์ระบุว่าเป็นแล้วไม่หาย มีแต่ทรงกับทรุด หากดูแลตัวเองดีก็จะทรงๆ แต่ถ้าไม่ดูแลตัวเองเลยก็จะทรุด โดยโรคสูญเสียการทรงตัว อาการของโรคคือการเดินไม่ดี การเคลื่อนไหวลำบาก การยืนก็ต้องมีการจับ การกลืนจะยากเพราะว่าจะสำลักอยู่บ่อยๆ รวมถึงการพูดด้วย แต่เมื่อนั่งแล้วก็จะไม่มีปัญหาอะไร โรคนี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ โอกาสที่จะเกิดโรคนี้จะคิดเป็น 50% ทุกการเกิดจะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

"จากรุ่นปู่มีพี่น้อง 6 คน เป็นโรค 3 คน สู่รุ่นพ่อมี 4 คน พี่น้องเป็นโรคนี้ 2 คน และ สู่รุ่นผมมี 2 คน ผมเป็นโรคนี้แต่พี่ชายของผมไม่เป็น คุณปู่เป็นโรคนี้ตอนอายุ 65 ปี คุณพ่อเป็นโรคนี้อายุ 60 ปี ส่วนผมมีอาการตอนอายุ 42 ปี ตอนนี้ผมก็มีความยากลำบากในการเคลื่อนที่ โดยคิดเสมอว่า ผมเลือกที่จะอยู่อย่างมีความสุข แม้ว่ามันจะไม่สบาย การเลือก ทำให้ผมเลือกที่จะเป็นโรคที่ไม่สะดวกสบายได้อย่างมีความสุขได้ครับ" พ.อ.วีร์ ระบุในคำกล่าวแนะนำตัว

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้ พ.อ.วีร์ได้ร่วมจัดทำโครงการรถไฟฟ้าเพื่อน้องบ้านเอื้อพรฯ ร่วมกับบ้านเอื้อพร ซึ่งเป็นบ้านพักพิงดูแลเด็กด้อยโอกาส และเด็กที่ได้รับผลกระทบความรุนแรงในครอบครัว ที่ ต.ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร โดยการนำรถสองแถวไม้รับส่งนักเรียนคันเก่า มาดัดแปลงให้ใช้ระบบพลังงานไฟฟ้า (EV) แทนการใช้น้ำมัน ที่อู่แห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน และใช้รถสไลด์ขนส่งรถสองแถวไม้ระหว่างจังหวัดชุมพรกับอู่ที่จังหวัดลำพูน และใช้รับส่งนักเรียนจากบ้านเอื้อพรมาถึงปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น