โดย อาจหาญ วิจารณ์ทัศน์
ไม่ใช่ผู้บริโภค แต่เป็นแม่ค้าขายเนื้อไก่ ที่บ่นออกสื่อว่าไก่แพง กรมการค้าภายในก็รีบแอ๊คชั่นเอาใจแม่ค้า สั่งโรงงาน ห้างร้านต่างๆ ทำรายงานเกี่ยวกับปริมาณและราคาของชิ้นส่วนไก่ทุกวัน ทั้งๆที่สถานการณ์ไก่เนื้อในปัจจุบัน ไม่ใช่ช่วงวิกฤตหรือขาดแคลน ถึงขนาดต้องทำอะไรเช่นนั้น
จากตารางแสดงราคาไก่เนื้อ ในช่วง พ.ค.-มิ.ย. ปีที่แล้ว ราคาหน้าฟาร์มสูงถึง 45 บาท/กก. จากนั้นเมื่อกลไกตลาดทำงาน ราคาก็ร่วงต่อเนื่องลงมา จนตกต่ำสุดๆที่ 34 บาท/กก. ในเดือนตุลาคม 2566 สวนทางต้นทุนที่พุ่งสูงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำธัญพืชอาหารสัตว์สูงขึ้นทุกตัว รวมถึงราคาพลังงาน และ สภาพอากาศแปรปรวน ที่มีผลต่อการเลี้ยงดูสิ่งมีชีวิต ทำให้คนเลี้ยงไก่ประสบภาวะขาดทุน
เมื่อระดับราคาไก่ไม่ดี สถาบันการเงินเริ่มไม่มั่นใจ จึงไม่ปล่อยสินเชื่อ กระทบถึงเงินทุนหมุนเวียน ทำให้โรงงานหลายแห่งขาดสภาพคล่อง ต้องลดกำลังการผลิต และบางแห่งถึงกับต้องปิดเพื่อหนีหนี้ เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากของคนเลี้ยงไก่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่เห็นกรมการค้าภายในออกมาช่วยเหลือผู้ผลิตแต่อย่างใด
ปัจจุบันไก่เนื้อหน้าฟาร์ม เพิ่งขยับราคามาอยู่ที่ 43 บาท/กก. ยังไม่ใช่จุดสูงสุดที่ 45 บาทเหมือนปีที่แล้ว และการนำราคาในช่วงขาดทุนที่ 34-35 บาท/กก. มาเป็นบรรทัดฐานเปรียบเทียบว่าแพงมาก ก็ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง ซึ่งหากรัฐเข้าใจ ก็จะไม่นำไปสู่การรายงานปริมาณชิ้นส่วนรายวันแน่นอน
ปกติการรายงานปริมาณชิ้นส่วนเป็นรายวันนั้น เป็นหนึ่งในมาตรการกำกับดูแลสินค้าควบคุมในยามวิกฤตหรือสินค้าขาดแคลน แต่ปัจจุบันเนื้อไก่บ้านเราไม่ได้วิกฤต ไม่มีปัญหาขาดแคลน จึงนับเป็นการเพิ่มภาระให้โรงงานและห้างร้านต่างๆ โดยใช่เหตุ ขณะที่ตลาดในประเทศขณะนี้สามารถปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไป แพงนักคนไม่กิน หันไปกินอย่างอื่น เดี๋ยวราคาก็ลงเอง เป็นธรรมชาติของซัพพลายดีมานด์ที่รัฐไม่จำเป็นต้องแทรกแซง
พูดถึงตลาดส่งออกบ้าง อุตสาหกรรมไก่ไทยเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานโลก และไทยจัดเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับต้นๆของโลก สามารถผลิตเนื้อไก่ได้ประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี ส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ราว 1.1 ล้านตัน/ปี สร้างรายได้เข้าประเทศร่วม 2 แสนล้านบาท ขณะที่ปริมาณเนื้อไก่ที่จำหน่ายและบริโภคกันภายในประเทศมีอยู่ราว 2.4 ล้านตัน/ปี คิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 8 หมื่นล้านบาท
จะเห็นว่า เนื้อไก่ ซึ่งเป็นโปรตีนเนื้อสัตว์ที่ราคาถูกที่สุด สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกมหาศาล จึงค่อนข้างแปลกใจที่กรมการค้าภายใน มีท่าทีกำกับการส่งออกไก่ไม่ให้มากขึ้น สวนทางสิ่งที่ควรจะเป็นในขณะที่ประเทศกำลังต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ที่ถูกที่ควรคือ ต้องสนับสนุนให้ส่งออกไก่ได้มากขึ้น นำเงินตราเข้าประเทศมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เยอะขึ้น อีกทั้งต้องช่วยบริหารจัดการลดต้นทุนการผลิตไก่ไทยให้สามารถแข่งขันด้านราคากับไก่ประเทศอื่นๆได้มากขึ้น ไม่ใช่พะวงว่าส่งออกไก่มากแล้วราคาในประเทศจะสูง หรือกรมไม่รู้จริงๆ ว่าการมีตลาดส่งออกนี่ล่ะ ที่ช่วยให้ราคาไก่เนื้อในประเทศมีเสถียรภาพมากกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ