เป็นประเด็นดรามาถกเถียงกันไม่น้อยในเรื่องการดูหนังต่างประเทศว่าควรดูเสียงแบบพากย์ไทยหรือเสียงตามต้นฉบับ หลังเพจหนังแนะนำไม่ควรดูพากย์ไทย ชี้ทำเสียอรรถรถ ด้านนักวิจารณ์หนังออกมาโพสต์ข้อความแนะให้เปิดใจดูเผื่อจะเห็นในความงานของศิลปะที่เรียกว่า “เสียง”
จากกรณีมีการถกเถียงกันในโลกโซเชียลในประเด็นเพจหนังเพจหนึ่งไม่แนะนำให้คนดูหนังฝรั่ง ญี่ปุ่น เป็นพากย์ไทย เนื่องจากจะทำให้เสียอรรถรสในการดูภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวโดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น พร้อมแนะนำให้เปิดใจในการดูภาพยนตร์พากย์ไทย เผื่อจะเห็นความงามของศิลปะที่เรียกว่า “เสียง” โดยทางผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า
“เห็นคนรอบตัวแชร์ #ไม่ควรดูพากย์ไทย จากเพจหนังเพจหนึ่ง พอเห็นแชร์มากๆ ก็รู้สึกอดคันปากไม่ได้จนต้องพิมพ์
ส่วนตัวในฐานะเป็นคนดูหนัง ถามว่า #พากย์ไทย มีความจำเป็นต้องฟังหรือไม่? เลยขอบันทึกคำตอบสำหรับตนเองก่อน
1 ) การข้ามกำแพงทางด้านภาษา
ส่วนหนึ่งของการเกิดพากย์ไทยช่วงเวลาดังกล่าวมาจากช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่าง หนังเงียบอยู่ช่วงขาลง กับหนังเสียงเข้ามาในสยาม ตอนนั้นทางเจ้าของโรงภาพยนตร์พัฒนากรประสบปัญหาคนดูหนังลดน้อยลง นายต่วน ยาวะประภาษ ซึ่งตอนนั้นเป็นบรรณาธิการหนังสือภาพยนตร์รายเดือนในชื่อ“ภาพยนตร์สยาม”(ซึ่งเป็นหนังสือภาพยนตร์รายเดือนเล่มแรกของสยาม) และเป็นหนังสือของเครือโรงหนัง นายต่วนเคยเรียนที่ญี่ปุ่นและเห็นการพากย์ของญี่ปุ่นมาก่อน เขาจึงเสนอให้มีการพากย์เสียงทับหนังขึ้นมา ทางโรงหนังไม่มีทางเลือกอื่นจนต้องอนุญาตให้ลอง นายต่วนจัดการด้วยการเตรียมบทพากย์ เขาใส่นุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน ยืนบนเวทีข้างหน้าจอ ในมือมีไฟส่องบท 1 ดวงและโทรโข่ง 1 ตัว และเริ่มบรรยายบทพูดและบทสนทนาขึ้น ทั้งนี้ยังรวมถึงการทำเสียงประกอบเองด้วย ถึงแม้นายต่วนจะไม่ใช่นักแสดง เสียงแข็งไร้อารมณ์ แต่ด้วยความแปลก เสียงตอบรับของคนไทยต่อการพากย์ก็ตอบสนองเป็นอย่างดี (การพากย์หนังเงียบญี่ปุ่นสามารถดูได้จาก Talking The Pictures หนังผู้กำกับ Shall We Dance : https://youtu.be/Wj546a5frJE?si=QS5hF8Igm40oJS6r )
สาเหตุที่ตอบรับเป็นอย่างดีมาจากภาพยนตร์เงียบในช่วงเวลาดังกล่าว เสียงในหนังที่เข้ามาในยุคแรกมีการพูดภาษาต่างประเทศจึงฟังไม่รู้เรื่องจนต้องมีการแปลเป็นบทขึ้นมา การกระทำของนายต่วนจึงเป็นปรากฏการณ์ต้นสายการพากย์หนังในไทย
ต่อมาในปี 2470 นายสิน สีบุญเรือง (ทิดเขียว) เพื่อนนายต่วนและญาติโรงหนังดังกล่าว เห็นโอกาสในการทดลองพากย์เสียงไทย ด้วยความสามารถด้านการพากย์โขนสดก็ดัดแปลงใช้เป็นพากย์หนังสด ด้วยความที่ตนพากย์คนเดียวจึงรับบททุกวัย ทุกเพศ สัตว์ จนถึงเสียงประกอบ เช่น เสียงปืน เป็นต้น ( จะบทเด็กชาย เด็กหญิง คนชรา ไก่ สุนัข ก็เหมาหมด) ผลตอบรับกลายเป็นกระแสบวกอย่างล้นหลาม
ถัดมาในช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การพากย์ก็เกิดเป็นยุคทองอีกครั้งโดยนำโมเดลการพากย์แบบ นายสิน มาประกอบการพากย์ กลายเป็นยุคทองของหนังฟิล์ม 16 มม. ที่เป็นช่วงการฉายหนังกลางแปลงและนักพากย์เร่ (รวมถึงฉายหนังแบบรถขายยา) ซึ่งค่านิยมของการพากย์ก็ยังเป็นที่นิยมและมีชื่อไม่แพ้ดาราในหนัง ซึ่งถ้าใครนึกไม่ออกให้นึกถึงหนังไทย “มนต์รักนักพากย์”
ฉะนั้นการพากย์ไทยจึงเป็นการข้ามกำแพงภาษาให้เข้าใจหนังมากขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว
2 ) ลดช่องว่างระหว่างชนชั้น
จะเห็นได้ว่าการพากย์ไทยแรกเดิมมาจากสื่อสารที่เข้าถึงง่ายและสนุกกับลีลาของผู้พากย์ อีกทั้งการรับจ้างพากย์หนังกลางแปลงมันต้องการพื้นที่ใหญ่ในการฉาย เช่น วัด หรืองานมงคล เป็นต้น มันจึงเป็นการสร้างคอมมูนิตีสำหรับชาวบ้านที่มานั่งดู (ซึ่งส่วนมากจะเป็นคนชนชั้นล่างและกลาง) ฉะนั้นการพากย์ไทยจึงเป็นการสร้างพื้นที่ประกอบการเรียกรายได้แก่ชุมชน (แม้ในระยะสั้น) อีกด้วย หากมองที่ช่องว่างระหว่างชนชั้น การพากย์เป็นการช่วยย่อยความเข้าใจของคนดูต่องานศิลปะ เช่น ภาพยนตร์ และแอนิเมชัน ให้ดูเข้าใกล้ง่ายและแตะถึง
3 ) การพากย์ไทยเป็นการย่อยสารให้ง่าย เหมาะกับทุกวัย
ผู้เขียนมั่นใจว่าคนไทยส่วนใหญ่เติบโตมากับงานพากย์ไทยจากแอนิเมชัน (ดิสนีย์) หรืออนิเมะญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ซึ่งไม่ว่ากี่รุ่นก็ต้องผ่านมือบ้างเนื่องจากความง่ายในการสื่อสารแบบย่อยง่าย (โดยเฉพาะภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษ) เพื่อให้เด็กเข้าถึงงานได้ง่ายเนื่องจากเป็นการช่วยลดระยะจากตัวอักษรให้มองภาพได้มากขึ้น
อีกส่วนคือ คนไทยมีพฤติกรรมทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เหมือนกับแม่บ้านช่วงยุคละครสบู่ยุค 50 พากย์ไทยจึงเป็นโอกาสในการลดการมองจากภาพ ถึงทำกิจกรรมได้ด้วยก็สามารถรู้เนื้อหาของสิ่งที่ดูได้ หรือย่อยสิ่งที่ยากเพื่อสื่อสารให้ง่ายขึ้น เช่น รายการแนววิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น หรือช่วยบุคคลที่นึกภาพไม่ออกให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น (เช่น คนตาบอด หรือสายตาสั้น)
ทั้งนี้ จากทั้งหมด 3 อย่างก็พึงถึงประโยชน์ของงานพากย์ไทยได้ทั้งเชิงอรรถรสและความสำคัญของงานศิลปะ
ในระยะหลังของทีมอินทรี และพันธมิตร (ซึ่งจะคุ้นเคยผ่านงานฝรั่งและเอเชีย ผ่านมีเดียตั้งแต่วิดีโอเทป ซีดี ดีวีดี ช่องทีวี และเคเบิล) แม้ทีมพากย์จะแตกตัวจากกลุ่มเป็นอิสระ แต่การสื่อสารเท่าต้นฉบับและความสนุกของการดูก็ยังคงผ่านสายตาของคนดูชาวไทยไม่มากก็น้อย ยิ่งนับวันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากการปั้นตัวละครเป็นการแสดงมากขึ้นเพื่อยกระดับให้เท่าสากล การพากย์จึงเป็นงานเชิงศิลปะผ่านการใช้เสียงที่มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนหน้าตาไม่แพ้การแสดงผ่านร่างกายเลย
ถึงแม้เรื่องอรรถรสส่วนบุคคลจะเป็นเรื่องเชิงปัจเจก เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ชอบต้องมีคนไม่ชอบบ้างด้วยเหตุผลส่วนตัว แต่ในแง่ความเป็น “สื่อ” โดยเฉพาะงานศิลปะ มันต้องเปิดใจให้กว้างเพื่อตอบรับคำวิจารณ์หรือวาดลวดลายทางอารมณ์อย่างเข้าอกเข้าใจ ฉะนั้น การเข้าใจความหลากหลายจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะคำว่า “ไม่ควร” นอกจากเป็นการตัดตัวเลือกในเชิง “ติ” มันยังส่อความโดยนัยถึงความ “ไม่งาม” ด้วย ทางเพจดังกล่าวจึงควรใช้คำที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่ #ไม่ควรดูพากย์ไทย (ถ้าเป็นผู้เขียนจะใช้คำว่า “ไม่สันทัด” เพื่อลดเรื่องการแนะนำ และเปิดโอกาสให้คนดูได้เลือกมากขึ้น)
ฉะนั้นลองปิดตาสักข้าง หรือตีลังกาดูอีกสักรอบ เผื่อเห็นความงามของศิลปะที่เรียกว่า “เสียง” เผื่อจะเห็นสุนทรียะของการฟังเสียงไทยมากขึ้นนะครับ
.
#เป็นกำลังใจให้นักพากย์ไทยครับ“