เพจดังวิจารณ์คอนเทนต์อวดลูก เอาลูกมาทำอะไรสนุกๆ ให้พูดอะไรตลกๆ คนเอ็นดู ติดตามเยอะ เผินๆ อาจไม่ได้คิดอะไรเยอะเพราะเด็กไม่ได้ลำบาก แนะเด็กเปราะบางกว่าที่คิด อาจเป็นปมตอนโตได้
วันนี้ (14 มิ.ย.) เพจ "อวยไส้แตกแหกไส้ฉีก" ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีคอนเทนต์ที่หากินกับเด็กๆ โดยระบุข้อความว่า “ช่วงนี้เราเห็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หลายๆคนเริ่มมีครอบครัวมีลูกมีเต้ากันแล้ว ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน หลายๆ คนก็ยังเป็นเด็กๆ เป็นวัยรุ่น เริ่มเข้ามาทำงานจนเป็นอินฟลูฯ มีชื่อเสียง หรือดาราหลายๆ คนก็เริ่มมีลูกมีเต้ากันแล้ว การโพสต์คลิปลูกน่ารักๆ ลงโซเชียลฯ มันอาจจะเป็นเหมือนไดอารีที่เก็บความทรงจำเอาไว้ดูเล่น แต่เมื่อโลกเราเข้าสู่สังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก เรื่องที่มันควรจะส่วนตัวมันอาจจะไม่ส่วนตัว เพราะคลิปอวดลูกมันอาจจะตามมาด้วยยอดผู้ติดตามไปจนถึงทำให้ทำมาหากินได้
เราเห็นดาราบางคนเอาลูกมาออกโซเชียลแล้วอ้อนขอดาวจากคนดู เผินๆ อาจไม่ได้คิดอะไรเยอะ เพราะเด็กไม่ได้ลำบากแบบเด็กที่พ่อแม่อุ้มไปขอเงินตามข้างถนน อยู่ในห้องแอร์ เล่นสบายๆ หรือบางคนก็อาจจะเอาลูกมาทำอะไรสนุกๆ ให้ลูกพูดอะไรตลกๆ แล้วคนเอ็นดู ติดตามเยอะๆ บางคนเสพติดยอดผู้ติดตาม เพราะรู้ว่าคนตามเยอะ ก็อาจจะมีสินค้ามาจ้างงานได้เงินด้วย นั่นก็คือการทำมาหากิน
บางคนอาจจะสร้างคาแรกเตอร์ว่าดูแลลูกลำบากมาก ดรามาสุดชีวิต เลี้ยงลูกคนเดียว เหนื่อยมาก และมีคนเห็นใจบริจาคบ้าง จ้างงานบ้าง จนมีเงินเอาไว้เลี้ยงดู คือหากินคู่กับลูกไปเลย
คอนเทนต์ที่ดีควรเกิดตามธรรมชาติ แต่บางครั้งไปสร้างดรามาให้มันมีคอนเทนต์แล้วทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไปๆ มาๆ พอดรามามันย้อนกลับมาหาตัวเอง แน่นอนว่าตัวพ่อแม่สร้าง เด็กมันไม่รู้เรื่องในวันนี้ แต่อย่าลืม ดิจิทัลฟุตพรินต์มันน่ากลัวมาก สมมติว่าวันนี้เด็กๆ อาจจะอายุ 5 ขวบ แต่ผู้ปกครองคนอื่น ครูบาอาจารย์ แฟนเพจจำได้ และเขาอาจจะเฝ้าดูการเติบโตของลูกคุณอยู่โดยคุณไม่รู้ตัว เดี๋ยวนี้เวลา 5 ปี 10 ปี มันผ่านไปไวมากนะครับ ดิจิทัลฟุตพรินต์ ดรามาที่เคยก่อไว้ พอลูกโตมาอ่านเจอมันอาจจะเป็นปมในใจจนเกิดความอับอายก็ได้ อันนี้อันตรายมากนะครับ ผมเองไม่เคยมีลูกมีเต้าหรอก แต่มีหลานๆหลายคน ก็ระวังตลอดเลย โพสต์ลงโซเชียลยังปิดเฉพาะเพื่อนๆ คนที่สนิทญาติแค่นี้เอง
เด็กเขาเปราะบางกว่าที่คิดนะ บางครั้งความอับอายด้วยเรื่องเล็กน้อยที่เราคาดไม่ถึง อาจจะเป็นปมในชีวิตจนเขาเติบโตก็ได้ ผมว่าหลีกเลี่ยงก่อนดีที่สุด หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้เพราะต้องทำมาหากิน ก็ต้องมองไปที่อนาคตเขาอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้าด้วยว่าถ้าเขากลับมาอ่านเจอ หรือมาเห็นคลิปที่พ่อแม่ทำร่วมกับเขาในวันนี้มันจะย้อนไปทำร้ายเขาหรือไม่ เราไม่คิด แต่เด็กคิดครับ เราเองก็ต้องคิดทุกครั้งก่อนทำคอนเทนต์ครับ”
คลิกอ่านโพสต์ต้นฉบับ