xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเผยปฐมบท “บุ้ง ทะลุวัง” จากจุดเริ่มต้นสู่จุดสิ้นสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักประวัติศาสตร์ร่ายยาวผ่านเฟซบุ๊ก เผยปฐมบทของ “บุ้ง ทะลุวัง” ก่อนไปถึงจุดสิ้นสุด ใครชักนำ-อะไรจูงใจเข้าสู่วงการ

จากกรณี นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง มีอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลันในช่วงเช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 โดยทางทีมแพทย์ได้ทำการกู้ชีพ พร้อมนวดหัวใจ จากนั้นส่งตัวออกรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทีมแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้พยายามกู้ชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ ตั้งแต่เวลา 06.20-11.22 น. ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา และถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในเวลา 11.22 น. และยังพบพินัยกรรม ‘บุ้ง เนติพร’ เขียนเมื่อ 2 ก.พ. 67 ยกสมบัติให้ "หยก" พร้อมทำหนังสือแสดงเจตนาบริจาคร่างกายให้ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 พ.ค. นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดปฐมบท ‘บุ้ง ทะลุวัง’ ก่อนไปถึงจุดสิ้นสุด ใครชักนำ-อะไรจูงใจเข้าสู่วงการ โดยได้ระบุข้อความว่า

“บุ้ง ตอนที่ 1 ปฐมบทก่อนไปถึงจุดสิ้นสุด
"ใครชักนำ หรืออะไรจูงใจให้บุ้งเข้าสู่วงการ"

• โลกในทวิตเตอร์ คือจุดเปลี่ยนของชีวิตของบุ้ง

BBC THAI เคยรายงานข่าว จากปากคำของโบ พี่สาวของบุ้งว่า…

บุ้งเคยเป็นคนที่คอยบอกเพื่อนๆ นักเรียนอยู่เสมอในฐานะคณะกรรมการนักเรียนว่า ต้องดูแลทรงผมให้เรียบร้อย เสื้อผ้าต้องทำให้ถูกระเบียบ แต่เขาเริ่มเอะใจว่า ทำไมมีเพื่อนที่เห็นต่าง มีเพื่อนที่คัดค้านเรื่องทรงผม จึงทำให้ได้ฉุกคิดว่า ตัวกฎระเบียบก็ไม่ได้แฟร์ (ยุติธรรม) สำหรับกลุ่มคนหลายกลุ่ม หากฝ่าฝืนถึงขั้นคาดโทษกัน รวมทั้งกลุ่ม LGBTQ ที่พวกเขาต้องการแต่งตัวอีกแบบ

ในระหว่างสัมภาษณ์ โบได้หยิบภาพเก่าๆ ที่เตรียมมาด้วย และมีท่าทีภูมิใจเมื่อพูดถึงเรื่องการเรียนของน้องสาวคนนี้ว่า "เรียนก็เก่ง กิจกรรมก็ไม่แพ้ใคร" พร้อมกับบอกว่า สิ่งหนึ่งที่พ่อกับแม่เห็นตรงกันเกี่ยวกับบุ้งคือ การเลี้ยงดูให้น้องเป็นคนมีความมั่นใจและกล้าแสดงออก

จากคำถามที่ผุดขึ้นในความคิดต่อระเบียบควบคุมนักเรียนระหว่างที่บุ้งเป็นคณะกรรมการนักเรียนยังคงทำงานของมันต่อผลที่ตามมาคือการตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "นักเรียนเลว"

ที่กลายเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนที่ต้องการส่งเสียงเพื่อสิทธิตัวเอง (speak for yourself) ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการไว้ทรงผมนักเรียน ซึ่งประสบผลสำเร็จจนทำให้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในระหว่างปี 2563 มีระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ตามความเหมาะสม

บุ้งสอบเข้าโรงเรียนเตรียมน้อมฯ ได้เอง และผลการเรียนก็อยู่ในเกณฑ์ดีมาก 3.8, 3.9 และ 4.0 สลับกันไป กิจกรรมในโรงเรียนก็ไม่ขาด

โบยอมรับว่าครอบครัวของเธอเคยเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. เมื่อปี 2557 ที่กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดรัฐประหารขึ้น ซึ่งในขณะนั้นบุ้งยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

หลังจากนั้นเมื่อบุ้งได้เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้เปิดโลกกว้างมากขึ้นจากข้อมูลชุดใหม่ผ่านสังคมออนไลน์อย่าง “ทวิตเตอร์” ซึ่งมีการถกเถียงประเด็นสังคมอย่างกว้างขวางและหลากหลาย

…………………………………………………………………………….
• จากทวิตเตอร์ ตามมาด้วย ช่อ พรรณิการ์-ทนายอานนท์

The Thaiger รายงานว่า…

เส้นทางชีวิตของบุ้งเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและการค้นพบตัวเอง ในวัยเยาว์ เธอเคยหลงใหลในอุดมการณ์อนุรักษนิยม เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. แต่แล้ววันหนึ่ง ประกายไฟแห่งความจริงก็ได้จุดประกายความคิดของเธอให้เปลี่ยนไป

“ช่อ พรรณิการ์ วานิช คือผู้จุดประกายนั้น”
เธอเปิดเผยรายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือคนไร้บ้านที่ถูกสไนเปอร์ยิง ความจริงอันโหดร้ายนี้ ทำให้เธอตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีต และความรู้สึกผิดต่อผู้ที่สูญเสียก็หลั่งไหลเข้ามา

จุดกำเนิด “โพลทะลุวัง”: เมื่อคำถามกลายเป็นอาวุธ

ความคิดที่จะใช้ “คำถาม” เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มก่อตัวขึ้นในใจบุ้ง หลังจากได้เข้าร่วมเวิร์กชอปกับ ”ทนายอานนท์ นำภา“ ผู้ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการตั้งคำถามสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112

…………………………………………………………………………….
ใครกัน อำมหิตหลอกใช้เยาวชนและประชาชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง

จากนักเรียนดีสู่การเป็นสมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว ต่อเนื่องไปสู่กลุ่มทะลุวัง เกิดจากการที่เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนหลงผิดจากการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกบิดเบือน ปลุกปั่นจนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองจากผู้ไม่หวังดีต่อประชาชน สถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติหรือไม่

หากจะหาผู้มีส่วนต่อการจากไปของบุ้งหรือคนอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีในเรื่องที่มีลักษณะเดียวกันนี้ ก็คงต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบของคนไทยทั้งชาติ ที่ต้องร่วมมือกันป้องกันและกำจัดผู้ไม่หวังดี ที่ใช้ยุทธวิธีทางการเมือง ด้วยการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารมาปลุกปั่นเยาวชนและประชาชนให้กระด้างกระเดื่องต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบการปกครองของไทย

อย่างไรก็ตาม เราในฐานะประชาชนคนไทยทุกคนมีส่วนในการป้องกันหรือกำจัดคนที่อำมหิตเหล่านั้น ก่อนจะเกิดการสูญเสียมากไปกว่านี้

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะอย่างไร ผมในฐานะคนไทยก็รู้สึกเสียใจและไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้กับบุ้งและคนอื่นๆ

ดังนั้นเราคนไทยทุกคนต้องช่วยกันป้องกันและกำจัดขบวนการเหล่านี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น