ทีมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ จะไปศาลจังหวัดนราธิวาส 25 เม.ย. ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตเหตุการณ์ตากใบ เมื่อปี 47 หวังแสวงหาความยุติธรรมให้ผู้ตาย
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า ทีมทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ จะเดินทางไปศาลจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 25 เม.ย. เพื่อยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 9 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ในระหว่างการขนย้ายหลังถูกจับกุมในการสลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 หรือเมื่อ 20 ปีก่อน โดยการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ 9 รายดังกล่าว ทีมทนายความตั้งข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขัง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 และมาตรา 310 การฆ่าผู้อื่นและกระทำในลักษณะที่โหดร้าย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 และ 289 (5) และยังเป็นเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ผู้เสียหายและญาติผู้ตายส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมกันเป็นโจทก์และมอบหมายให้ทีมทนายความทำคดี มีความตั้งใจมุ่งมั่นว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีครั้งนี้กระทำเพื่อจะแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้ตาย พวกเขาไม่ได้หวังผลเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ก่อนหน้านี้ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินคดีอันควรมี เนื่องมาจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบดังกล่าว และคณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด้วยการเรียกเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงแล้ว ปรากฏจากข้อมูลที่มีการชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า ในสำนวนคดีไต่สวนการตาย พนักงานสอบสวนได้สรุปว่าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และไม่ทราบถึงสถานะและความมีอยู่ของสำนวนคดี ข้อเท็จจริงนี้ทำให้เห็นว่าเส้นทางการดำเนินคดีอาญาที่พึงริเริ่มโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เกิดขึ้น ในขณะที่อายุความของการเป็นคดีอาญากำลังจะสิ้นสุดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
แม้เหตุการณ์ตากใบจะผ่านมาแล้วเกือบ 20 ปี แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และด้วยวิธีการที่ทารุณโหดร้าย แม้ญาติผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาจากภาครัฐไปแล้ว แต่ผลพวงของเหตุการณ์ยังคงเป็นที่รับรู้กันทั่วไปทั้งในระหว่างเครือญาติครอบครัวที่สูญเสียและประชาคมที่ติดตามกรณีนี้ที่ต่างต้องการความยุติธรรม แต่ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนอย่างมากแล้วว่ากระบวนการทางคดีอาญาไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ได้ เพื่อจะหาตัวผู้กระทำความผิดให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี
เพื่อให้มีการค้นหาความจริงและพฤติกรรมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการเยียวยาความรู้สึกของครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ ได้ร่วมกันรับมอบหมายจากผู้เสียหายและญาติผู้เสียชีวิตบางส่วน ให้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์สลายการชุมนุมและการขนย้ายดังกล่าว ทั้งครอบครัวผู้เสียหายและทีมทนายความเชื่อว่าการทำความจริงให้ปรากฏและสร้างความยุติธรรมโดยอาศัยกระบวนการทางศาลเช่นว่านี้ จะส่งผลด้านดีอย่างมากต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความขัดแย้งยืดเยื้อมายาวนานถึง 20 ปี