“รอมฎอน” เผย เอกสารสำนวนคดีตากใบ “หาย” เจ้าหน้าที่บอกหาไม่เจอ หลังผ่านมา 19 ปี คดีใกล้หมดอายุความ จี้ นายกฯ-รมว.ยุติธรรม เอาจริง คลายปมมืดคนชายแดนใต้ พิสูจน์ว่ารัฐจะให้ความเป็นธรรมได้ หวั่นเป็นอุปสรรคสร้างสันติภาพ
วันนี้ (13 ธ.ค.) นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ที่ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญา กรณีการสลายการชุมนุมที่ สภ.ตากใบ เมื่อปี 2547 หรือ 19 ปีก่อน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 85 ราย ส่วนใหญ่เสียชีวิตระหว่างการขนย้ายไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตามคำร้องของศูนย์ทนายความมุสลิม โดยได้เชิญตัวแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการภาค 9, เจ้าหน้าที่ สภ.ตากใบ, เจ้าหน้าที่ สภ.หนองจิก และผู้แทนจาก ศอ.บต. ตามคำร้องของมูลนิธิทนายความมุสลิม
นายรอมฎอน ยอมรับว่า รู้สึกตกใจ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากแต่คำชี้แจงสรุปแล้วคือสำนวนคดีอาญาที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมและการทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิตกว่า 85 คน ไม่รู้อยู่ที่ไหน ซึ่งหลังจากผ่านกระบวนการชันสูตรไต่สวนการตายระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ซึ่งศาลมีคำสั่งว่าผู้เสียชีวิตเสียชีวิตจากการขาดการหายใจไม่ได้ระบุว่าเป็นการเสียชีวิตโดยการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ท่านไหนเป็นการเฉพาะ เป็นข้อจำกัดตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งเอกสารคำสั่งของศาล ที่จะส่งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบพิจารณาดำเนินคดีสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิดนั้น “ไม่มี ไม่รู้อยู่ที่ไหน”
“วันนี้ทำให้เห็นว่า 19 ปีผ่านไป งานอำนวยความยุติธรรมที่สำคัญที่สุดของกระบวนการยุติธรรมไทย บกพร่องอย่างน่าประหลาดใจมาก”
นายรอมฎอน ย้ำว่า ประเด็นสำคัญที่มีการร้องเรียน คือ การดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนทำให้เกิดผู้เสียชีวิตดำเนินการถึงไหนแล้ว ขณะเกิดการนับถอยหลังที่คดีอาญานี้จะหมดอายุความในอีกประมาณ 10 เดือนข้างหน้า แต่ข้อเท็จจริงน่าเศร้า เพราะรู้สึกว่าไม่มีความคืบหน้า ในวันนี้ที่ประชุมจึงขอให้ทางอัยการและตำรวจไปตามหาว่าตกลงสำนวนคดีอยู่ที่ไหน มีความคืบหน้าอย่างไร ซึ่งรับปากว่าจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับอัยการ และจะมีการแจ้งความคืบหน้ามาต่อคณะกรรมาธิการภายในหนึ่งเดือนคือวันที่ 13 มกราคม 2567
นายรอมฎอน เผยว่า ตนจะเสนอให้คณะกรรมาธิการนั้นตั้งคณะอนุกรรมกรรมาธิการเพื่อศึกษา แนวทางการคืนความยุติธรรมผ่านกลไกศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งหากประเมินจากความคืบหน้าในวันนี้ มีความเป็นไปได้สูงมากที่คดีจะหมดอายุความก่อนที่เรื่องจะส่งถึงศาล จะถึงทางตัน ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับพี่น้องและญาติของผู้สูญเสีย โดยในมุมของตน จะไม่สามารถคลายปมปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและจะเป็นข้อจำกัดในการแสวงหาสันติภาพที่ควรจะได้ข้อยุติร่วมกัน เพราะฉะนั้นสภาผู้แทนราษฎรควรจะมีการศึกษาแนวทาง ในการดำเนินคดีอาญาระหว่างประเทศแม้ไทยจะยังเป็นสมาชิกของธรรมนูญกรุงโรม แต่ในบทเรียนกรณีอื่นเห็นว่าสามารถเปิดช่องให้มีการขยายขอบเขตในบางกรณีย้อนหลังได้
“มันขนาดนี้เลยเหรอวะ ขนาดที่ว่าเอกสารสำนวน มันหาไม่เจอ มันเป็นไปได้ไง ถ้าผมเป็นญาติผมจะบอกว่า เฮ้ยพี่ชายเราตายทั้งคน แล้วคนอีกตั้ง 70 กว่าคน แล้วตากใบไม่ใช่กรณีปัจเจกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นความทรงจำหมู่ของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคนมลายูแล้ว
แล้วคุณบอกว่าเอกสารย้ายโรงพัก ไปโรงพักใหม่แล้วหาไม่เจอ มันอยู่ในสำนวนไปคีย์ดูในสารบัญของศาลก็ไม่รู้ว่าส่งไปที่ไหน อะไรยังไง อัยการก็ยังมึน ผมว่ามันเกินไป อย่างน้อยที่สุดสำนวนนี้อยู่ตรงไหนอย่างไร เป็นข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ควรตอบง่ายที่สุด กลับหาไม่เจอ แสดงว่ามันซุกและซ่อนอยู่ขนาดนั้นเลยหรือ เรื่องนี้ไม่สามารถวางอยู่บนมาตรการปกติได้เลยหรือ ผมรู้สึกผิดหวัง“
นายรอมฎอน เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาลและกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองมากพอ ถ้าไม่ทำอะไรภายในเวลาที่เหลืออยู่ไม่ถึงปีก่อนคดีหมดอายุความ ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงมีปมมืดปมนี้อยู่เสมอ ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาและจะทำให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนไม่น้อยรู้สึกกังขาต่อจุดยืนและท่าทีของรัฐบาล คนจะไม่เชื่อมั่นไว้วางใจในอำนาจรัฐ และขอยืนยันว่า การเยียวยาที่ผ่านมา ไม่สามารถถมความรู้สึกเหล่านี้ได้ เราต้องการความจริงจัง ฟื้นความยุติธรรม และเชื่อว่าหากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเอาจริง สามารถทำได้ รื้อฟื้นและคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ