ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า วันอนุรักษ์ควายไทย ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และดูแลควายไทย และส่งเสริมการเลี้ยงควายให้อยู่คู่คนไทยไปอีกแสนนาน ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนควายทั้งสิ้น 1,817,289 ตัว
ควาย หรือภาษาทางการเรียกว่า กระบือ ที่เรารู้จักกันนี้ น้อยคนแล้วที่จะได้เคยเห็นตัวจริง ได้รู้จักตัวเป็นๆ ของสัตว์สี่เท้าที่มีกีบเหล่านี้ ควายไทยถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อภาคเกษตรกรรมของไทยมาอย่างช้านาน คนไทยเทียมควายไถนามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่มีความอดทน ทนแดด ทนร้อน ทนสภาพอากาศแห้งแล้งได้ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือไถนาชั้นดี ก่อนที่จะมีรถไถเกิดขึ้นมา นอกจากนี้แล้ว การเดินทางในสมัยก่อนก็ยังใช้ควายเทียมเกวียนเพื่อทุ่นแรงในการเดินทางไกลอีกด้วย แต่ปัจจุบันควายไทยถูกลดความสำคัญลง จนกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น
คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควายยังเป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากทางภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างเสริมอาชีพ การกำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทยเห็นความสำคัญของควายและช่วยกันอนุรักษ์ก่อนที่ควายไทยจะสูญพันธุ์ไป
เหตุที่ต้องกำหนดให้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม เนื่องมาจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือ เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ควายไทยสืบมา
ข้อมูลจากศูนย์สนเทศทางกระบือนานาชาติ (IBIC) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า ในปี 2567 มีจำนวนควายทั้งสิ้น 1,817,289 ตัว โดยจังหวัดที่มีจำนวนควายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บุรีรัมย์ 164,855 ตัว รองลงมาคือ สุรินทร์ 155,366 ตัว อุบลราชธานี 139,083 ตัว ศรีสะเกษ 97,102 ตัว และสกลนคร 94,634 ตัว ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงควายมีจำนวนทั้งสิ้น 311,303 ราย โดยจังหวัดที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงควายมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บุรีรัมย์ 27,614 ราย รองลงมาคือ สุรินทร์ 32,430 ราย อุบลราชธานี 36,015 ราย ศรีสะเกษ 23,512 ราย และสกลนคร 17,922 ราย