xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐอนุรักษ์ควายไทยได้ผลยั่งยืน ต้องหนุนเกษตรกรเลี้ยงควายเนื้อแปรรูปส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - “ควายไทย” กลายเป็นสัตว์เกษตรมากมูลค่า! หลังการเลี้ยงควายงาม-ควายพ่อพันธุ์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น จากเลี้ยงเป็นงานอดิเรกต่อยอดเป็นธุรกิจขายน้ำเชื้อ-รับจ้างทับ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยมีเวทีประกวดควายงามช่วยปลุกกระแสปั่นราคา แนะรัฐหากต้องการอนุรักษ์ควายไทยให้ได้ผลยั่งยืน ต้องหนุนเกษตรกรเลี้ยงควายเนื้อเพื่อแปรรูปส่งออก


กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นับวันจะมีผู้คนหันมาเลี้ยงกันเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น กลุ่มข้าราชการ พนักงานบริษัทหรือครอบครัวผู้มีอันจะกินทั้งหลายก็หันมาเลี้ยงควายสวยงาม ควายพันธุ์ไทยกันจำนวนไม่น้อย บ้างก็เลี้ยงเป็นงานอดิเรก เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้จากการตระเวนประกวดตามเวทีต่างๆ ยิ่งได้รางวัลการันตีก็สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทั้งขายน้ำเชื้อหรือเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์รับจ้างผสมพันธุ์ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ

ผศ.นวรัตน์ บุญภิละ หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ธุรกิจการเลี้ยงควายงามหรือการทำฟาร์มควายงามในขณะนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมากในทุกภูมิภาคของไทย เนื่องจากในระยะหลังเกิดการพัฒนาของควายจากสายพันธุ์ของภาคกลางและภาคอีสาน ขณะที่ภาครัฐได้หันมาส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยมากขึ้น ซึ่งการอนุรักษ์ได้ช่วยให้ควายที่เมื่อก่อนเลี้ยงเฉพาะในชุมชนในจังหวัดคือจำกัดเฉพาะท้องถิ่น จึงทำให้ตัวมีขนาดเล็ก

แต่พอมีการผสมพันธุ์ระหว่างควายภาคกลางกับภาคอีสาน ก็ทำให้ควายมีรูปร่างลักษณะที่ใหญ่โตขึ้น มีความสวยงามมากขึ้น


“ค่านิยมของการเลี้ยงควายงามตอนนี้เหมือนกับช้าง คือ ตอนนี้คนเลี้ยงควายพ่อพันธุ์หรือควายงามก็คือคนที่มีกำลังซื้อ มีเงิน ถึงจะเลี้ยงควายพวกนี้ได้ ในภาคอีสานหรือในภูมิภาคอื่น ทุกวันนี้ควายได้กลายสัตว์คู่บารมีของคนเลี้ยง ธุรกิจเลี้ยงควายพ่อพันธุ์ควายงามน่าจับตามอง” ผศ.นวรัตน์ให้ความเห็น และกล่าวต่อว่า

การเลี้ยงควายพ่อพันธุ์หรือว่าควายงาม เฉพาะในพื้นที่ จ.อุดรธานีมีมากกว่า 30 ฟาร์ม แต่ละฟาร์มมีพ่อพันธุ์อย่างน้อยๆฟาร์มละ 1-2 ตัว หากเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคอีสาน จ.อุดรธานีถือได้ว่ามีการเลี้ยงควายมากที่สุดของภาคก็ว่าได้ มีการจัดประกวดควายบ่อยมาก โดยสายพันธุ์ควายตอนนี้จะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ก็ คือ ควายปลัก และควายแม่น้ำ ทุกภาคในประเทศไทยจะเลี้ยงควายปลัก และคนแถบลุ่มแม่น้ำโขงส่วนใหญ่จะเลี้ยงควายปลักเช่นกัน ส่วนควายแม่น้ำจะเห็นมีการเลี้ยงที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียกันมาก




ผศ.นวรัตน์กล่าวอีกว่า จากการสำรวจเก็บข้อมูลพบว่า ควายพ่อพันธุ์ โดยมากเจ้าของจะขายน้ำเชื้อชุดละ 5,000 บาท ราคา (1 ชุดจะมี 12 หลอด) ใน 1 ชุดจะได้น้ำเชื้ออยู่ประมาณ 300 กว่าโดส ควายงามบางตัวหรือพ่อพันธุ์บางตัวขายน้ำเชื้อ 1 โดส 10,000-30,000 บาท สำหรับในจังหวัดอุดรธานีจะขายอยู่ที่ราคา 300 ถึง 4,000 บาท และจากการเก็บสถิติการรีดน้ำเชื้อขายในสัปดาห์หนึ่งจะสามารถทำเงินได้ประมาณ 3-4 แสนบาท ถ้าจองกันก็จองข้ามปี การรีดน้ำเชื้อขายเป็นธุรกิจเป็นรายได้ที่ทำเงินจำนวนไม่น้อยในแต่ละเดือน

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงควายให้เป็นควายงามนั้นไม่สามารถทำให้เป็นได้ทุกตัว ควายกลุ่มนี้จะถูกคัดออกเพื่อเลี้ยงเป็นควายเนื้อ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยในเรื่องของตลาดควายเนื้อ เพราะว่าในประเทศไทยด้วยวิถีชีวิตของคนไทยมีความใกล้ชิดผูกพันกับควายค่อนข้างมาก มองว่าเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีบุญคุณต่อเกษตรกร ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงไม่บริโภคเนื้อควาย ปัจจุบันการกินเนื้อควายจะมีให้เห็นมากเฉพาะภาคเหนือเท่านั้น ขณะที่ เวียดนาม จีน มีความนิยมการบริโภคเนื้อควายสูงมาก ดังนั้นรัฐควรเข้ามาส่งเสริมการแปรรูปควายเนื้อเพื่อส่งออกไปยังตลาดในประเทศเหล่านี้


“อยากจะฝากไว้ว่าการอนุรักษ์ควายไม่ใช่ว่าจะเลี้ยงควายอย่างเดียวเพื่อไม่ให้สูญพันธุ์ สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อการบริโภคได้ วิธีนี้จะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยงอื่น เมื่อเลี้ยงแล้วมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ เกษตรกรก็จะหันมาเลี้ยงควายเนื้อเป็นอาชีพกันมากขึ้น เป็นการอนุรักษ์ควายไทยไม่ให้สูญพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ส่วนการเลี้ยงควายพ่อพันธุ์ควายงามก็เป็นอีกตลาดหนึ่ง แต่สามารถเชื่อมโยงเกื้อกูลกันได้” ผศ.นวรัตน์กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น