ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ชูประกวดกระบือวันเกษตรอีสาน ม.ขอนแก่น ยกระดับควายไทยสู่การพัฒนาสายพันธุ์ เพิ่มมูลค่าตัวละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท อีกทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงใน จ.ขอนแก่นได้หันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสายพันธุ์จนสามารถส่งแข่งขันระดับประเทศ ล่าสุดจัดประกวดปีนี้มีควายงามทั่วประเทศกว่า 500 ตัวร่วมแข่งขัน
นายวีระสันติ ประทุมพล ปศุสัตว์เขต 4 ขอนแก่น เปิดเผยถึงการจัดงานประกวดกระบืองาม ภายในงานวันเกษตรภาคอีสาน ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า เป็นการริเริ่มจัดประกวดสนามแรกของประเทศไทย ได้จัดประกวดเป็นประจำทุกปีมากว่า 15 ปีแล้ว ถือเป็นสนามครู ที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงควายทั้งในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานให้ความสนใจ ต่างรอนำเอาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ไปพัฒนาสายพันธุ์ จนตกลูกออก แล้วนำเข้ามาประกวดแข่งขันกัน ณ เวทีงานวันเกษตรภาคอีสานแห่งนี้
เดิมทีการเลี้ยงควายของชาวนาอีสาน เลี้ยงกันแบบทั่วๆ ไป ไม่มีการพัฒนาสายพันธุ์ ราคาขายค่อนข้างต่ำ แต่หลังจากกรมปศุสัตว์ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดประกวดกระบือตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ได้ทำให้การเลี้ยงควายเกิดความตื่นตัว ในการพัฒนาสายพันธุ์ ควายที่ชาวนาเลี้ยงไว้มีมูลค่าสูงขึ้น ราคาขายได้เป็นตัวละหลักแสนบาทขึ้นไป ชาวนารวมถึงกลุ่มผู้เลี้ยงใหม่ๆ จึงหันมาสนใจเลี้ยงควายเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์มีแนวคิดอยากนำควายงามที่เกษตรกรได้พัฒนาสายพันธุ์แล้วนำมารวมกัน สิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงควายจะได้ คือควายที่ดีที่สุด ถูกต้องตรงตามสายพันธุ์ สามารถหาได้ที่งานวันเกษตรภาคอีสาน โดยควายที่มีมูลค่าแพงที่สุด ควายที่สวยที่สุด ล้วนถูกนำมารวมกันไว้ภายในงานวันเกษตรภาคอีสาน
เกษตรกรผู้เลี้ยงควายชาวขอนแก่นจะได้ประโยชน์ คือได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ ลักษณะที่ดีของควาย ให้เกษตรกรนำไปปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อควายตัวละหลักล้าน เมื่อเรามีควายอยู่แล้ว ก็นำเอาพ่อพันธุ์ที่ดีไปปรับปรุง ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผสมเทียม ใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์ที่มีขนาดน้ำหนักเป็นตัน เอาไปผสมเทียมกับควายที่เลี้ยงไว้ ให้ลูกควายมีขนาดความสูง มีปริมาณเนื้อมากขึ้น ซึ่งสามารถหาได้ภายในเวทีประกวดกระบืองานวันเกษตรอีสาน ศูนย์รวมน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ดีไว้ที่นี่
นายวีระสันติกล่าวต่อว่า การประกวดควายครั้งนี้มีควายงามร่วมประกวดกว่า 500 ตัว แบ่งประกวดเป็น 2 ส่วน กลุ่มแรก คือควายที่เลี้ยงอยู่ในจังหวัดขอนแก่น เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่พัฒนาพันธุ์ แต่ไม่สามารถแข่งขันกับควายงามระดับประเทศได้ จึงจัดเวทีให้เกษตรกรจังหวัดขอนแก่นนำผลงานการพัฒนาพันธุ์มาแข่งขัน สร้างขวัญและกำลังใจให้เกษตรกรต่อประสบการณ์เรียนรู้การพัฒนาพันธุ์ เมื่อเปรียบเทียบกับควายที่พัฒนาระดับประเทศแล้วต่างกันขนาดไหน และจะได้พัฒนาต่อเนื่องให้ถึงระดับนั้นได้
ส่วนอีกกลุ่มคือ การจัดประกวดประเภททั่วไป ที่เปิดรับควายงามจากทั่วประเทศมาแข่งขัน โชว์ผลงานให้ประชาชนได้รับชมในงานวันเกษตรอีสาน ทั้งนี้ ควายงามในกลุ่มจังหวัดขอนแก่นที่เข้าประกวดมีจำนวนกว่า 120 ตัว และเมื่อรวมกับควายงามประเภททั่วไปที่เข้ามาร่วมประกวดแข่งขันรวมแล้วกว่า 500 ตัวที่มาร่วมประกวดในงาน
นายวีระสันติกล่าวต่อว่า สำหรับพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ควายงามที่เข้ามาประกวดงานวันเกษตรอีสาน ถือว่าเป็นสนามใหญ่ที่ได้รับความสนใจมาก จึงมีฟาร์มเลี้ยงควายที่มีชื่อเสียงระดับประเทศจากทั่วภูมิภาค ส่งควายเข้ามาแข่งขันกันอย่างคึกคัก ควายแต่ละตัวเฉลี่ยแล้วราคาหลักล้านขึ้นไป บางตัวราคา 7-8 ล้านบาท บางตัวเคยติดต่อซื้อขายกันสูงถึง 15 ล้านบาท ล้วนนำมาแข่งประกวดด้วย โดยการตัดสินคณะกรรมการจะให้ความยุติธรรมที่สุด ไม่มีลำเอียง ซึ่งจะได้รับความเชื่อถือทำให้ฟาร์มและผู้เลี้ยงควายสนใจส่งควายงามเข้าประกวดมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่น่าสนใจ การเลี้ยงควายงามเพื่อส่งแข่งขันประกวด หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งสามารถส่งออกควายไปต่างประเทศ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน จะทำให้อาชีพเลี้ยงควายเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้เลี้ยงควายที่ส่งควายเข้างานประกวดกระบือ เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เดิมทีจากการจัดประกวดกระบือ เริ่มต้นนั้นมีผู้เลี้ยงควายแค่ไม่กี่กลุ่ม แต่สถานการณ์ล่าสุด ผู้เลี้ยงควายประกวดได้ขยายตัวไปหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มข้าราชการ นักธุรกิจ เกษตรกร ฯลฯ ต่างสนใจลงทุนเข้ามาเลี้ยงควาย พัฒนาสายพันธุ์ จัดทำทะเบียนประวัติ และส่งควายจากฟาร์มเลี้ยง เข้าประกวดในงานวันเกษตรอีสาน
“เดิมคนเลี้ยงควายคือชาวนา สวมใส่เสื้อม่อฮ่อม แต่ปัจจุบันคนเลี้ยงควายเปลี่ยนไปสวมชุดคาวบอย ขับรถยนต์หรู ไม่ใช่คนแก่ที่เลี้ยงควาย แต่กลายเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว ที่เลี้ยงควายในลักษณะทำเป็นฟาร์มเลี้ยงอย่างจริงจัง ซึ่งอยากให้เยาวชนเข้ามาชมการประกวดควาย เพื่อศึกษาก่อนจะตัดสินใจว่าจะเลี้ยงควายเป็นอาชีพหรือรายได้เสริม” ปศุสัตว์เขต 4 กล่าว
ผลประโยชน์ต่อเนื่องจากการจัดประกวดกระบือครั้งนี้ พบว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ จ.ขอนแก่น เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนสูงมาก เนื่องจากมีประชาชนจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงควาย เดินทางเข้ามาในจังหวัดขอนแก่นเพื่อชมประกวดกระบือ และท่องเที่ยวใน จ.ขอนแก่น เบ็ดเสร็จแต่ละวันประมาณ 5,000 ราย เกิดการใช้จ่ายภายในจังหวัด เบ็ดเสร็จแล้วเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนจากการประกวดกระบืองานวันเกษตรอีสานไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ อยากฝากถึงหน่วยงาน หรือผู้ที่มีศักยภาพต่อการช่วยเหลือเกษตรกรในการพัฒนาสายพันธุ์ควายงาม และการจัดประกวดกระบือ เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น หรือแม้แต่จังหวัดขอนแก่น ให้ช่วยสนับสนุนจัดงานประกวดกระบือวันเกษตรอีสาน ให้เป็นที่รู้จักไม่เฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงควาย แต่ขยายวงไปยังกลุ่มอื่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่นต่อไป