xs
xsm
sm
md
lg

11 ประเด็น 2475 “ส.ศิวรักษ์” แพ้ “อ.ไชยันต์” คาบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สรุป 11 ประเด็น “ส.ศิวรักษ์” พยายามด้อยค่าเนื้อหาแอนิเมชั่น “2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” จน “อ.ไชยันต์ ไชนพร” ต้องบุกไปสนทนาถึงบ้าน และสุดท้ายก็ยอมรับว่าตนเองพูดผิด หรือบางประเด็นก็อ้างว่าตนไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง “2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” ที่เริ่มเผยแพร่เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งต่อมานายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ได้ให้สัมภาษณ์ทางช่องยูทูป "ธนดิส" ในชื่อเรื่อง “คู่มือรับชม อนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” กล่าวโจมตีภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า บิดเบือน มอมเมา กึ่งจริงกึ่งเท็จ


โดยในการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ส.ศิวรักษ์ พูดว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เตรียมพระราชทานนั้น ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยในหลวงเท่านั้น และยังพูดผิดพลาดอีกหลายจุดตลอดรายการ

ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ไชยยันต์​ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ออกมาจัดการกับวิทยานิพนธ์บิดเบือนของ นายณัฐพล ใจจริง ซึ่งต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือในเครือสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน จึงได้ตัดสินใจแจ้งทางสาธารณะไปยังทีมงานธนดิส ว่าตนเองต้องการที่จะออกรายการเดียวกันบ้าง และขอไปจัดรายการสนทนากับ อาจารย์​ ส.ศิวรักษ์ ถึงที่บ้าน เพื่อการแสวงหาความจริงและให้ปัญญากับประชาชนอย่างถูกต้อง


ซึ่ง ถ้าทีมงานหรือ ส.ศิวรักษ์ ปฏิเสธก็คงจะเสียคน เพราะแสดงว่าไม่กล้ารับฟังความเห็นอีกด้าน จึงตอบรับ แต่กว่าจะให้เกิดการเผยแพร่หาความจริงนั้น ต้องใช้เวลานานถึง 1 เดือน หรือประมาณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

ขอชื่นชม ศาสตราจารย์ ดร.ไชยยันต์​ ว่ามีความเป็นมืออาชีพมาก เพราะเดินทางไปถึงที่บ้าน ส.ศิวรักษ์ นอกจากนี้ ใช้คำพูดให้เกียรติ อ่อนน้อมถ่อมตน แต่ยืนในหลักการที่ถูกต้อง และเป็นความจริง และไล่บี้ถามไม่ให้เกิดการบิดเบือน และที่สำคัญมีความแม่นยำและหนักแน่นในทางวิชาการเหนือกว่า ส.ศิวรักษ์ อย่างเห็นได้ชัด โดยอาจารย์ ไชยยันต์ ได้ทำหน้าที่อย่างสมฐานะตำแหน่งวิชาการคือ “ศาสตราจารย์ ดร.”

อีกมุมหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะ ส.ศิวรักษ์ และ ศาสตราจารย์ ดร.ไชยยันต์​ ไชยพร ต่างเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญทั้งคู่ จึงมีความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันอยู่ มีความที่ให้เกียรติกันอยู่


แต่เนื่องจาก ศาสตราจารย์ ดร.ไชยยันต์​ ไชยพร บุกไปพูดคุยถึงบ้าน จึงทำให้ ส.ศิวรักษ์ ถึงกับเปลี่ยนท่าที ด้วยการพูดออกตัวอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่า ส.ศิวรักษ์มีสปีริต ที่ยอมรับการสนทนาครั้งนี้และยอมให้เผยแพร่ ทั้ง ๆ ที่เป็นตอนที่เปิดโปง และ แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยทางข้อมูลของ ส.ศิวรักษ์ อย่างเห็นได้ชัด

สรุปเป็นประเด็นที่มีการถกเถียง ในรายการวันนี้ จน ส.ศิวรักษ์ ต้องยอมจำนน ในประเด็นที่สำคัญๆ ดังนี้

ประเด็นแรก ส.ศิวรักษ์อ้างว่า รัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เตรียมพระราชทานก่อนเกิดการปฏิวัติ 2475 นั้น ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย เพราะในหลวงสามารถเลือกนายกรัฐมนตรี อำนาจอยู่ที่พระมหากษัตริย์ ไม่ได้อยู่กับประชาชนเลย โดยออกตัวว่าเป็นการพูดสรุปภาพรวมเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดมากกว่านั้นในรัฐธรรมนูญ

อาจารย์ ไชยยันต์ โต้กลับว่า ร่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 เตรียมพระราชทานให้นั้น มีการกล่าวถึงสภา คุณสมบัติของ ส.ส. และมี ส.ส. 2 ประเภท ทั้งมาจากการเลือกตั้ง และแต่งตั้ง ซึ่งให้สิทธิประชาชนเลือกตั้งด้วย


ตรงนี้ขอเพิ่มข้อมูลเพิ่มเติม เพราะเดี๋ยวคนจะอ้างว่า ทำไมรัฐธรรมนูญมี ส.ส. แต่งตั้งด้วย ทำไมไม่ให้ประชาชนเลือกตั้งทั้งหมด เพราะรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ที่มาจากคณะราษฎรนั้น ส.ส.มาจากการเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และแต่งตั้งจากพวกคณะราษฎรกันเองอีกครึ่งหนึ่ง

เพราะในสมัยนั้น ทั้งในหลวงรัชกาลที่ 7 และ คณะราษฎร เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีแม้กระทั่งการศึกษา จึงให้เลือกตั้งหมดยังไม่ได้ จึงต้องมีการเตรียมการในด้านศึกษาเสียก่อน และในหลวงรัชกาลที่ 7 ยังให้มีการเลือกตั้งในระดับเทศบาลก่อนด้วย

แต่ ส.ส. ประเภทที่ 2 ของคณะราษฎร กลับฉวยโอกาสออกกกฎหมายมาตั้งศาลพิเศษ ที่ไม่ใช่ศาลยุติธรรม เอาพรรคพวกตัวเองมาลงโทษการเมืองได้ด้วย แถมยังเอาที่ดินพระคลังข้างที่ของพระมหากษัตริย์เอามาเป็นของตัวเองด้วย

สรุป ข้อมูล ส.ศิวรักษ์ ผิดพลาดอย่างแรง จน ส.ศิวรักษ์ ต้องยอมจำนนว่า รัฐธรรมนูญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เตรียมพระราชทานก่อนเกิดการปฏิวัติ 2475 นั้น ไม่ใช่ไม่เป็นประชาธิปไตยเสียเลย(ดังที่ตัวเองเคยพูดเอาไว้เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว)

ถึงจุดนี้ จึงสรุปประเด็นนี้ได้ว่า ข้อมูลในภาพยนตร์ แอนนิเมชั่น 2475 เป็นเรื่องจริง และสิ่งที่ ส.ศิวรักษ์พูด เป็นเรื่องเท็จ จริงครึ่ง ไม่จริงครึ่ง

ประเด็นที่สอง ส.ศิวรักษ์ อ้างว่า รัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เตรียมพระราชทานก่อนเกิดการปฏิวัติ 2475 กำหนดให้ “สภาองคมนตรี” ที่เขียนขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่เป็นขุนนางเกือบทั้งหมด ไม่สามารถแสดงความเห็นถวายในหลวงได้ นอกจากในหลวงจะทรงสอบถามความเห็นเท่านั้น และใช้คำว่าเบื้องต่ำเบื้องสูงห่างกันมาก


ปรากฏว่า อาจารย์ ไชยยันต์ งัดหลักฐานเอกสาร นายเบนจามิน เอ. แบทสัน พบว่าสิ่งที่ ส.ศิวรักษ์ อ้างนั้นผิดพลาด เพราะในความเป็นจริงภายหลังมีประชุมถกเถียงกัน ได้มีการลงมติแล้วว่าให้สภาองคมนตรีสามารถถวายความเห็นให้พระมหากษัตริย์ได้ด้วย โดยที่พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงริเริ่มถาม

ส.ศิวรักษ์ จึงเปลี่ยนท่าทีว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 พยายามจะสร้างบรรยากาศที่มีท่าทีประชาธิปไตยไม่ใช่น้อย

ประเด็นที่สาม ส.ศิวรักษ์อ้างว่า จอมพล ป. รังเกียจเจ้ามาก จึงมีเจ้าจำนวนหนึ่งหนีไป (เสมือนว่าขี้ขลาดหนีไปเอง)

อาจารย์ไชยยันต์ จึงได้อ้างบันทึกของนายทหารฝรั่งเศส พันโทอองรี รูซ รายงานต่อสถานทูตฝรั่งเศสปรากฏว่า คณะราษฎรได้เป็นฝ่ายเนรเทศเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ออกนอกประเทศไป เพราะมีความกลัว น่าเกรงขามในกองกำลังทหารมาก


ส.ศิวรักษ์ จึงค่อยมายอมรับว่าได้รับคำบอกเล่าว่า ตอนนั้นผู้ก่อการตอนนั้นเป็น “เสือหิว” ต้องให้อะไรเขาไปบ้างเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ จึงถูกบีบให้พระราชทานวังให้เป็นทรัพย์สมบัติให้พวกคณะราษฎรไป และถูกเนรเทศออกนอกประเทศ

ทำให้ ส.ศิวรักษ์ ต้องยอมรับกับการถามซ้ำของ อาจารย์ไชยันต์ว่า ฝ่ายเจ้าไม่ได้หนี แต่เป็นฝ่ายถูกคณะราษฎรเชิญให้เนรเทศออกนอกประเทศไป เพราะความน่ากลัวและน่าเกรงขามของฝ่ายเจ้า

ซึ่งถึงจุดนี้ก็ต้องสรุปอีกครั้งว่าภาพยนตร์ แอนนิเมชั่น 2475 เป็นเรื่องจริงอีกเช่นกัน

ประเด็นที่สี่ อาจารย์ไชยยันต์ ถามคำถามของผู้ที่ฝากมาว่า มนุษย์มีดีมีชั่ว ทำไมจึงจะกล่าวในแง่ความเลวร้ายหรือผิดพลาดในวัยหนุ่มของ นายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้ การได้ทราบความเลวร้ายหรือผิดพลาดไม่ได้ทำให้เราเข้าใจเขาในความเป็นคนหรือ ?

ส.ศิวรักษ์ยอมรับว่า เรื่องนี้อาจารย์ปรีดีเคยกล่าวถึงความผิดพลาดของตัวเองเอาไว้ และยอมรับความผิดพลาดจากการนำเสนอ เค้าโครงการเศรษฐกิจ พ.ศ. 2475 หรือ สมุดปกเหลือง


ณ จุดนี้ก็แปลความอีกได้เช่นกันว่า ภาพยนตร์ แอนนิเมชั่น 2475 ได้นำเสนอช่วงเวลาหนึ่งของอาจารย์ปรีดีที่ผิดพลาดนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ไม่ใช่การบิดเบือนหรือมอมเมาเหมือนที่ ส.ศิวรักษ์เคยพูดเอาไว้เมื่อ 1 เดือนก่อนหน้า

ประเด็นที่ห้า สมุดปกเหลืองเป็นรัฐสวัสดิการ หรือสังคมนิยม คอมมิวนิสต์กันแน่ ?

ถึงจุดนี้ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ กล่าวแก้ตัวให้อาจารย์ ปรีดีว่า สมุดปกเหลืองที่ อาจารย์ปรีดีนำเสนอ เป็นเพียงการนำเสนอเป็นรัฐสวัสดิการ (Social Welfare) เท่านั้น เพราะช่องว่าคนรวยคนจนมาก ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย

ส.ศิวรักษ์ยังได้กล่าวหาว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงตอบโต้สมุดปกเหลืองด้วย “สมุดปกขาว” ว่า “สมุดปกเหลือง” ลอกสตาลินและดัดแปลงมานั้น ส.ศิวรักษ์ ด้อยค่า ร.7 โดยอ้างว่า “ตนเองเชื่อว่า” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้อ่านหนังสือสมุดปกเหลืองของอาจารย์ปรีดีด้วยซ้ำ และคงไม่มีความรู้เรื่องสตาลินอะไรด้วย น่าจะมีคนอื่นเขียนให้

ซึ่งฟังถึงตรงนี้ต้องบอกเลยว่า ส.ศิวรักษ์นั้นด้อยค่าพระมหากษัตริย์ของไทยมากเกินไป พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคนระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินได้รับการศึกษาจากอีตัน โรงเรียนนายร้อยอังกฤษ รับราชการมาตั้งมากมายก่อนขึ้นเป็นกษัตริย์ ท่านศึกษาทุกอย่างมาอย่างลึกซึ้งกว่า ส.ศิวรักษ์ไม่รู้กี่เท่า แต่ ส.ศิวรักษ์กลับมาด้อยค่าท่าน?


ด้วยเหตุนี้ อาจารย์ไชยยันต์ โต้กลับ ส.ศิวรักษ์ ทันทีว่า รัฐสวัสดิการตอนนั้นยังไม่มีในโลก สวีเดนเพิ่งเริ่มรัฐสวัสดิการอ่อน ๆ ครั้งแรกด้วยซ้ำไป รัฐสวัสดิการมาเกิดขึ้นในภายหลัง ดังนั้นในปี 2475 ยังไม่มีรัฐสวัสดิการเลย อาจารย์จะเอารัฐสวัสดิการในอนาคต มาอธิบายสมุดปกเหลืองของอาจารย์ปรีดีได้อย่างไร ?

เพราะสมุดปกเหลืองของ อาจารย์ปรีดีเหมือนสตาลินทุกอย่าง ยกเว้นไม่ได้บังคับยึดที่ดิน แต่ให้รัฐไปซื้อที่ดินของเอกชนเอามาเป็นของรัฐเท่านั้น ซึ่งลักษณะที่คล้ายกับการปฏิรูปที่ดินของสตาลิน มันจึงน่าจะเหมือนเป็นสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ มากกว่าจะเป็นรัฐสวัสดิการมากกว่าหรือเปล่า

ถึงตอนนี้ ส.ศิวรักษ์ต้องยอมถอย บอกว่า อาจารย์ปรีดีเป็นสังคมนิยมแน่นอน (ไม่เป็นรัฐสวัสดิการแล้ว) แต่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์แน่

ประเด็นที่หก อ.ปรีดี พนมยงค์ เป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่ อาจารย์ไชยันต์ ถามตรงไปยัง ส.ศิวรักษ์อีกว่า ทำไม อาจารย์ปรีดี ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ?

ส.ศิวรักษ์อ้างว่าตอนนั้นมีการออกกฎหมายพระราชบัญญัติต้านคอมมิวนิสต์ คณะกรรมาธิการสอบสวนอาจารย์ปรีดีแล้ว สรุปว่า อาจารย์ปรีดีไม่เป็นคอมมิวนิสต์


อาจารย์ไชยยันต์ ถามกลับโดยอ้างหนังสือของ อาจารย์ ส.ศิวรักษ์เองที่ชื่อ นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง โดยกล่าวถึงคอมมิวนิสต์ของคาร์ลมาร์กซ์ เพราะทุกประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ ล้วนมาจากจุดเริ่มต้นเป็นสังคมนิยมทั้งสิ้น เพราะสังคมนิยมเป็นวิวัฒนาการไปสู่คอมมิวนิสต์

ส.ศิวรักษ์จึงพูดกลับลำว่า “ผมก็เห็นด้วยเรื่องนี้”

ประเด็นที่เจ็ด ประเด็น “สมุดปกขาว” ที่โต้สมุดปกเหลืองเป็นพระบรมราชวิจารณ์โต้แย้ง โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 หรือไม่ ?

อาจารย์ไชยันต์ ได้ไปถามพระญาติในสายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ให้ความเห็นว่า หากไม่ใช่ความเห็นของในหลวงรัชกาลที่ 7 ท่านก็ต้องปฏิเสธไปนานแล้ว เพราะเป็นเรื่องใหญ่ในเวลานั้น ในอีกด้านหนึ่งสำนวนที่เขียนก็เป็นสำนวนภาษาของในหลวงรัชกาลที่ 7 ด้วย

แต่ ส.ศิวรักษ์ ไม่เชื่อในหลวงรัชกาลที่ 7 ไม่เขียนหนังสือยาวแบบนี้ ไม่อ่านงานของคาร์ล มาร์กซ์ หรือ สตาลินเหมือนด้อยค่าว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 ไม่มีความรู้อะไรพวกนี้


อาจารย์ไชยันต์ จึงได้อ้างงานเขียนของ เบนจามิน เอ. แบทสัน ซึ่งเป็นคนที่ ส.ศิวรักษ์ เคยสัมภาษณ์พูดคุยด้วย ซึ่งเบนจามิน เอ. แบทสัน ได้ค้นพบงานเขียนที่เป็นผลงานของในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา เพราะมีการใช้ภาษาคำว่า “racial qualities” ในพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 7 เรื่อง “Democracy of Siam”

ซึ่ง ส.ศิวรักษ์ ยอมรับว่าไม่เคยรู้เรื่องหนังสือแบบนี้มาก่อนเลย อาจารย์ไชยันต์ จึงย้ำว่า ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในหลวงรัชกาลที่่ 7 จะทรงเขียนสมุดปกขาวเอง

ประเด็นที่แปด เนื้อหาสมุดปกเหลืองของปรีดี ที่ ส.ศิวรักษ์ระบุว่า พวกที่เป็นขวาคือพวกที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง พวกกลัวจะถูกริบที่ดิน จะมองสมุดปกเหลืองเป็นคอมมิวนิสต์เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นแค่สังคมนิยมอ่อน ๆ เท่านั้น

อาจารย์ไชยันต์ ระบุว่า ขนาดพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นผู้ก่อการยังตั้งคำถามเลยว่า ทำไมต้องซื้อที่ดิน เพราะในเวลานั้นที่ดินรกร้างว่างเปล่าเยอะแยะ และคนว่างงานก็มีเยอะแยะ พระยาทรงสุรเดช ไม่ต้องการให้รัฐบังคับ พระยาทรงสุรเดช ถือเป็นเสรีนิยมได้หรือไม่?

ส.ศิวรักษ์อ้างว่า พระยาทรงสุรเดช มีความรู้ด้านทหารไม่มีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ

หลังจากนั้น อาจารย์ไชยยันต์ ได้อ้างเอกสารอีกหลายชิ้น ชนิดที่ ส.ศิวรักษ์ ไม่เคยรู้เคยเห็นมาก่อน แม้กระทั่งการสนับสนุนหรือการไม่ยับยั้งการตั้งศาลพิเศษที่คอยเที่ยวลงโทษและประหารฝ่ายตรงกันข้ามโดยไม่ต้องใช้ศาลนั้น อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ พูดแต่ว่า อันนี้ผมไม่รู้ อันนี้ผมไม่ทราบ !?!


ประเด็นที่เก้า อาจารย์ไชยยันต์ ได้ตอบเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับร่างของในหลวงรัชกาลที่ 7 ทำไมถึงให้มีพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มาก โดยอาจารย์ไชยยันต์ ได้ หยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยนั้นในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นในประเทศสวีเดน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก หรือ นอร์เวย์ ต่างให้อำนาจเป็นพระมหากษัตริย์มาก่อนทั้งนั้น

ประเด็นที่สิบ อาจารย์ไชยยันต์ ได้หยิบคำถามของผู้ฝากคำถามมาว่า อาจารย์ ส. เอียงข้างปรีดี พูดแต่มุมเดียวคือด้านดีใช่หรือไม่ ?

อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ยอมรับว่า จริง เพราะตัวเองเคยเขียนโจมตี อ.ปรีดี ในคดีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 ต่อมาได้ทราบความจริงว่า อาจารย์ปรีดีไม่ได้ทำ จึงกลับมาสนับสนุนทุกอย่างในอดีตของอาจารย์ปรีดี

และความดีของ อาจารย์ปรีดี มีหลายประการ ทั้งสมุดปกเหลือง เสรีไทย ตั้งอาเซียน ยอมรับว่าเอียงเข้าข้างปรีดีมากไป และติน้อยเกินไป

อาจารย์ไชยยันต์ ก็ได้อธิบายว่าในทางรัฐศาสตร์ ไม่มีเหตุผลเลยว่าอาจารย์ปรีดีจะเกี่ยวกับคดีสวรรคตด้วยแรงจูงใจอะไร จึงเชื่อว่าอาจารย์ปรีดีไม่ได้ทำ


ประเด็นที่สิบเอ็ด ทั้งอาจาย์ ส.ศิวรักษ์ และ อาจารย์ไชยยันต์​ยอมรับว่า ส.ส.ประเภทที่ 2 ในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 หรือ รัฐธรรมนูญของคณะรัฐนั้นเป็นพวกคณะราษฎรตั้งกันเองทูลเกล้าถวายชื่อในระยะสั้น ๆ จนในหลวงรัชกาลที่ 7 ไม่มีคนของตัวเอง ผลัดกันเลือกสืบทอดอำนาจกันอย่างต่อเนื่องเหมือนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สืบทอดอำนาจเหมือน ส.ว.

“สรุป ถ้ามองกันในเรื่องของการโต้วาทีกันแล้ว อาจารย์ไชยันต์ ท่านใช้ความเป็นรุ่นน้อง ลูกหลาน ไปคารวะอาจารย์ ส. ที่บ้าน แล้วไปไต่ถามถึงเรื่องราวที่อาจารย์ ส. พูด แล้วเอาข้อมูลใหม่ที่ตัวเองมี ที่อาจารย์ ส. ไม่เคยมี มาโต้แย้งอย่างสุภาพเรียบร้อย
“ผมขอชื่นชมและให้กำลังใจอาจารย์ไชยันต์ ว่า อาจารย์ไชยันต์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นไดโนเสาร์ตัวสุดท้ายของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นั้น อาจจะเป็นไดโนเสาร์ตัวสุดท้าย เหมือนผมก็เป็นไดโนเสาร์ตัวสุดท้ายในวงการสื่อมวลชน 

"แต่ถ้าอาจารย์ไชยันต์ เป็นไดโนเสาร์ และผมเป็นไดโนเสาร์ เราสองไดโนเสาร์มีหน้าที่คือรับประทานตัวเหี้ยที่โกหกพกลม เหมือนอย่างอาจารย์ไชยันต์ ตีแสกหน้าณัฐพล ใจจริง ในเรื่องของวิทยานิพนธ์ที่โกหก เอาข้อมูลปลอมออกมา แล้วจุฬาลงกรณ์ฯ ก็ยังไม่ทำอะไรกับมันเลยแม้แต่นิดเดียว


“หมดจากอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร ไปแล้ว ผมยังไม่รู้ว่าจะมีใครมาแทนแกได้ในเรื่องรัฐศาสตร์การปกครอง แกเป็นมือวางอันดับหนึ่ง แต่แกโดนอคติของคนรุ่นใหม่ อาจารย์รุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อในต่างประเทศ ดูถูกเหยียดหยามแกว่าแกเป็นไดโนเสาร์ ผมเสียดาย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาควิชาการปกครอง หมดจากอาจารย์ไชยันต์ แล้ว ยุบไปเลยดีกว่าครับ 

"เพราะมีอาจารย์ไชยันต์ คนเดียวเท่านั้นเองที่กล้ายืนตัวตรง ชี้แจงความจริงที่มีหนึ่งเดียว แล้วกล้าไปหาอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ที่บ้าน จากการที่อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ด้อยค่าแอนิเมชัน 2475 โดยให้ข้อมูลที่ผิดพลาด ไปพูดจานิ่มๆ อธิบายความอย่างอ่อนหวานและสุภาพเรียบร้อย โดยที่บอกว่าอาจารย์ ส. ครับ ที่อาจารย์ ส. ออกมาพูดนั้น พูดผิดครับ ผิดตรงไหนบ้างครับ ข้อมูลมีอย่างนี้ๆ ครับ ในที่สุดอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ก็ยอมรับว่าตัวเองนั้นพูดผิด” นายสนธิ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น