ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายเอ็มมานูเอล มาครง คงเกิดอาการหิวแสงอย่างแรงหรือต้องการแสดงออกให้เห็นความเฮ้าเลี่ยน ในฐานะผู้เป็นเจ้าภาพการประชุมว่าด้วยความมั่นคงที่กรุงปารีสเมื่อวันจันทร์และวันอังคาร
อาจจะรู้ทั้งรู้ก็ได้ว่าข้อเสนอของตัวเองจะได้รับความฮือฮาจากประชาคมโลก แต่สุดท้ายจะถูกตีตกโดยกลุ่มประเทศยุโรปด้วยกันเอง
แต่นั่นก็ถือว่าได้เป็นข่าวและแย่งชิงพื้นที่ข่าวจากบรรดาผู้นำประเทศในกลุ่มยุโรป และถึงแม้ว่ามีเสียงต่อต้านคัดค้านก็ตาม กระแสข่าวต่อเนื่องก็ยังจะมีชื่อของผู้นำฝรั่งเศสหนุ่มต่อไปอีกหลายวัน
มาครง ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเป็นสมัยที่สองในฐานะที่เป็นผู้นำมีภรรยาสูงอายุซึ่งเคยเป็นครูของตัวเอง ที่ผ่านมามาครง พยายามทำตัวเป็นผู้นำยุโรปหลังจากที่เยอรมนีประสบสภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่อง
ข้อเสนอซึ่งฟังดูแล้วกล้าหาญของผู้นำฝรั่งเศสบอกว่า ถ้าจำเป็นกลุ่มประเทศยุโรปคงจะต้องส่งกำลังทหารไปในยูเครน ซึ่งกำลังทำสงครามกับรัสเซียครบกำหนดสองปีวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยูเครนกำลังขาดแคลนทหารและเงินอย่างสาหัส
มาครงไม่บอกว่าจำนวนทหารยุโรปจะส่งเข้าไปในสถานภาพไหน เป็นทหารขององค์การสนธิสัญญานาโตหรือแล้วแต่ประเทศต่างๆ
แต่ไม่ทันสิ้นเสียงความเห็นเชิงเสนอแนะ แทนที่ผู้นำฝรั่งเศสจะได้รับเสียงขานรับอย่างชื่นชม ได้ดอกไม้สวยงาม ปรากฏว่ามีเสียงต่อต้านคัดค้านระงมจากผู้นำเยอรมนี และอีกหลายประเทศ
แสดงความไม่เห็นด้วยชัดเจนและมองว่าเป็นการไม่ฉลาด ด้านยุทธศาสตร์และยุทธการอย่างยิ่งที่จะส่งทหารเข้าไปในยูเครน จะทำให้สงครามขยายตัว
ไม่มีแม้แต่เสียงเดียวในกลุ่มประเทศยุโรปที่มีความคิดเห็นด้วย ซึ่งสภาวะเช่นนี้คงไม่เหนือความคาดหมายของผู้นำฝรั่งเศสซึ่งชอบความโดดเด่นในสไตล์แบบข้ามาคนเดียวตลอดมา
แต่เมื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมทั้งทีถ้าไม่มีความคิดเห็นอะไรที่แปลก แหกนอกกรอบ ก็คงไม่มีอะไรทำให้มาครงตกเป็นข่าว และได้ผลจริงๆ เพราะเสียงคัดค้านระงม
เพียงแต่ยังไม่มีใครกล้าบอกว่าถ้าฝรั่งเศสอยากจะทำเช่นนั้นก็ส่งกองทหารของตัวเองเข้าไปในยูเครนเป็นต้นแบบตัวอย่างก็ได้
เหตุผลแท้จริงของมาครง ผู้นำฝรั่งเศสคืออยู่ในช่วงขาลงและกำลังสูญเสียอิทธิพลอย่างแรงในกลุ่มประเทศแอฟริกาซึ่งเคยเป็นอดีตอาณานิคมและกำลังแข็งข้อ ขับไล่ทหารฝรั่งเศสให้ออกไปนอกประเทศ
นี่เป็นการเสียหน้าอย่างแรงและเสียผลประโยชน์มหาศาลสำหรับผู้นำประเทศและฝรั่งเศสเองแสดงให้เห็นว่าทวีปแอฟริกาได้ลุกฮือไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มประเทศตะวันตกอีกต่อไป
ล่าสุดสหภาพแอฟริกันเรียกร้องให้สมาชิกกว่า 50 ประเทศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลซึ่งยังสังหารชาวปาเลสไตน์อย่างโหดเหี้ยมและไม่ยอมหยุดยิง
จากนี้ไปต้องรอดูว่าผู้นำฝรั่งเศสจะมีลีลาลูกเล่นอะไรที่จะรักษาความนิยมเพราะฝ่ายค้านเริ่มมีพลังพร้อมจะท้าทายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อนาคตของมาครง ดูไม่สวย
ต้องไม่ลืมว่า ช่วงผู้นำนาซีเยอรมนี ฮิตเลอร์บุกฝรั่งเศสนั้นแทบไม่ต้องเสียกระสุน กรุงปารีสแทบไม่ได้ มีความเสียหายเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสยอมจำนนอย่างง่ายดาย หลังจากประเทศเคียงข้างยอมแพ้ต่อฮิตเลอร์
ถึงจะไม่มีใครเห็นด้วยกับผู้นำฝรั่งเศสแต่ก็มีเสียงตอบโต้จากโฆษกรัฐบาลรัสเซียทันทีว่าถ้ามีทหารจากยุโรปหรือนาโตเข้าไปช่วยยูเครนรบรัสเซีย คงไม่ต้องถามว่าสงครามระหว่างนาโตกับรัสเซียจะเป็นไปได้หรือไม่
นายดมิทรี เพสคอฟ ประกาศชัดเจนว่า นั่นจะเป็น “สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” ไม่ต้องแปลก็รู้ว่ารัสเซียพร้อมรบกับกองทัพยุโรปภายใต้นาโตหรือแม้แต่จะต้องรบกับสหรัฐฯจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สามก็ตาม
เพราะรัสเซียประกาศแล้วว่าเพื่อความอยู่รอดจะต้องใช้อาวุธทุกอย่างที่มีอยู่ รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ และปัจจุบันรัสเซียมีแสนยานุภาพด้านขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกข้ามทวีปสามารถทำลายทุกเป้าหมาย ไม่ว่าอยู่ไกลแค่ไหน
อาวุธประเภทนี้ฝ่ายนาโตหรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ ก็ยังไม่มีเพราะการทดลองล้มเหลวซ้ำซาก ดังนั้นถ้าผู้นำฝรั่งเศสยังคิดอยากจะเป็นพระเอกก็จะทำให้ยุโรปตะวันตก และตอนกลางกลายเป็นสมรภูมินิวเคลียร์
และอังกฤษจะเป็นประเทศแรกที่จะโดนแปรสภาพเป็นเมืองยุคหินสมัยพระเจ้าอาเธอร์ ถ้าโดนขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกซาร่าซึ่งหนึ่งลูกติด 10 หัวรบ
เพียงลูกเดียวแต่มีหัวรบนิวเคลียร์ 10 ลูกจะแปรสภาพของอังกฤษให้ไปสู่ยุคหิน ใช้ดาบขวานเป็นอาวุธเพราะทุกอย่างที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่จะถูกทำลายไม่เหลือ
มีการประเมินตั้งแต่ยุคสงครามเย็นแล้วว่ายุโรปตะวันตกและตอนกลางจะเป็นสมรภูมิของอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย สำคัญที่ว่าจะมีประเทศอื่นเข้าร่วมหรือไม่
ปัจจุบันประเทศที่มีขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก ล้วนแต่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ เช่น จีน เกาหลีเหนือ และอิหร่านอาจจะมีด้วยเช่นกัน แต่ล้ำหน้าที่สุดคือรัสเซีย
สัญญาณว่าอาจจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สามแต่จะกว้างขวางแค่ไหนนั้นอยู่ในความคิดของผู้เฝ้าสังเกตการณ์สภาพของสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียซึ่งอาจจะลามเข้าสู่ยุโรป
อีกสมรภูมิหนึ่งคือการสู้รบในพื้นที่ปาเลสไตน์โดยกองทัพอิสราเอลยังคงถล่มฉนวนกาซาและสังหารชาวปาเลสไตน์อย่างเหี้ยมโหดมากกว่า 30,000 รายและบาดเจ็บทุพพลภาพกว่า 70,000 รายผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กและสตรี
ทั้งสองจุดของสงครามล้วนมีโอกาสขยายเป็นสงครามโลกได้ทั้งสิ้น เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนหลักของสงครามทั้งสองแห่งโดยลากเอาประเทศอื่นๆ เข้าไปร่วมชะตากรรมด้วย