xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-30 มี.ค.2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1."จักรภพ" เดินทางกลับไทย หลังหนีคดีครอบครองอาวุธ-อั้งยี่ 15 ปี ด้านกองปราบฯ คุมตัวสอบตามหมายจับ ก่อนให้ประกันตัว เจ้าตัวบอก กลับมารับใช้เมืองไทย!

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และโฆษกประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาลนายทักษิณ ซึ่งหนีคดีเกี่ยวกับอาวุธและอั้งยี่ อยู่นอกประเทศ 15 ปี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงการเตรียมกลับเมืองไทย โดยระบุว่า "วันที่ 28 มี.ค.67 เวลา 07.35 น. กลับไปรับใช้เมืองไทยครับ"

วันต่อมา (28 มี.ค.) ตำรวจกองปราบฯ ได้นำกำลังไปรอรับตัวนายจักรภพ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ท่ามกลางบรรยากาศที่ผู้สื่อข่าวไปดักรอจำนวนมาก แต่ตำรวจกองปราบฯ ได้นำตัวนายจักรภพ ไปก่อน เพื่อไปสอบสวนที่กองปราบฯ เนื่องจากมีหมายจับในข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและเป็นอั้งยี่

ทั้งนี้ ก่อนเดินทางถึงไทย นายจักรภพได้โพสต์คลิปวิดีโอด้วยว่า "...ผมจักรภพ เพ็ญแข ออกจากเมืองไทยมาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ...เพราะมีเหตุผลทางด้านการเมือง ...ผมเดินทางกลับประเทศไทยวันนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเดินปร๋อที่ไหนสบายนะครับ กลับไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีคดีเกิดขึ้นหลายคดี ผมต้องกลับไปมอบตัว และก็ไปขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามที่เป็นตามกฎหมาย และผมก็หวังว่าผมจะสามารถสู้คดีได้ อธิบายตัวเองได้ และออกมาสู่อิสรภาพมารับใช้บ้านเมืองได้"

"ส่วนเรื่องสิ่งที่เคยพูดไว้ เคยเขียนไว้ เคยแสดงออกไว้ ผมไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ผมอยากเรียนท่านว่า ผมได้คิดอะไรใหม่ขึ้นเยอะ และขอให้โอกาสผมสักนิดเถอะครับว่าความคิดใหม่ๆ จะช่วยประเทศได้ไงบ้าง"

หลังเจ้าหน้าที่นำตัวนายจักรภพถึงกองปราบฯ นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความส่วนตัวของนายจักรภพ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ครอบครอบอาวุธปืน และอั้งยี่ ที่เกิดขึ้นในอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็คงต้องว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย ส่วนจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ ก็อยู่ที่ดุลพินิจของพนักงานสอบสวน แต่เบื้องต้นจะยื่นขอประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 2-3 แสนบาท ต่อคดีความ ซึ่งคดีดังกล่าวมีอายุความ 20 ปี

เมื่อถามว่า นายจักรภพได้แจ้งรายละเอียดทางคดีหรือไม่ ทนายกล่าวว่า คดีนี้เข้าสู่กระบวนการของศาลไปแล้ว บางคนได้รับการตัดสินไปแล้ว แต่ของนายจักรภพยังไม่มีการตัดสิน และให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ส่วนจะได้รับการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

หลังตำรวจสอบปากคำแล้วเสร็จ นายจักรภพได้ให้ทนายความยื่นประกันตัวทั้ง 2 คดี โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดคดีละ 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 4 แสนบาท ซึ่งพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยนัดหมายให้นายจักรภพมาพบอีกครั้งในวันที่ 22 และ 23 เม.ย.นี้

ด้านนายจักรภพ ทันทีที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ได้ก้มลงกราบพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี บริเวณชั้น 1 อาคารประชาอารักษ์

จากนั้นนายจักรภพ กล่าวว่า วันนี้ได้กลับมายังประเทศไทยเพื่อสู้คดีที่เหลืออยู่ทั้ง 2 คดี ซึ่งเป็นคดีอาวุธทั้ง 2 คดี แบ่งเป็นคดีที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 คดี และศาลอาญากรุงเทพอีก 1 คดี โดยก่อนหน้าที่จะมาในวันนี้ได้มีการประสานกับทนายความและประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาบ้างแล้ว ทำให้วันนี้ราบรื่น และสิ่งที่ประทับใจมากในวันนี้คือ การอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างครบถ้วน ทำให้ตนและลูกศิษย์สามารถตอบคำถามเจ้าหน้าที่ได้อย่างมั่นใจ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับขบวนการยุติธรรม

“15 ปีที่ผมลี้ภัยไปต่างประเทศนั้นรู้สึกเสียดายเวลา ที่ไม่ได้รับใช้ประเทศชาติ เพราะฉะนั้นจากนี้เป็นต้นไปคิดว่าสิ่งไหนที่ทำได้ก็อยากจะทำ ซึ่งวิถีทางการเมืองนั้นก็เป็นเส้นทางหนึ่ง หรือการทำงานต่าง ๆ ในบทบาทของต่างประเทศก็จะรับ ซึ่งหากผลจากเรื่องคดีความแล้วผมจะขอทำตัวให้มีประโยชน์ต่อชาติ ในเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตนี้”

นายจักรภพ กล่าวอีกว่า ตนเพียงกลับมาสู่กระบวนการยุติธรรมซึ่ งตนเชื่อในขบวนการดังกล่าวว่ามีความถูกต้อง ตนเองมีคดีตั้งแต่ปี 49 มาจนถึงเกือบ 10 คดี ซึ่งได้มีการต่อสู้มาโดยตลอด โดยมีคดีที่หมดอายุความไปบ้าง ศาลสั่งไม่ฟ้องหรือหมดอายุความไปบ้าง เช่น คดี ม.112 ศาลก็ได้มีการสั่งยกฟ้องไป เมื่อเดือน ก.ย. 54

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกระบวนการทางคดีจบสิ้นเรียบร้อยแล้ว หากได้รับการทาบทามจากรัฐบาลให้เข้าช่วยงานยินดีหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า ตนยินดี แต่การเข้าไปช่วยนั้นจะต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคเดียวกันหรือพรรคใดก็ตาม

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ได้มีการติดต่อกับนายทักษิณบ้างหรือไม่ นายจักรภพ ยอมรับว่า มีการติดต่อคุยกันทางโทรศัพท์เพียงหนึ่งครั้ง โดยมีการสอบถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง และบรรยากาศโดยรวมเป็นอย่างไร

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการสอบปากคำนายจักรภพ เบื้องเจ้าตัวให้การปฏิเสธทั้ง 2 คดี โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ตรวจพบในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา อีกทั้งในช่วงที่เกิดเรื่อง ยังใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศกัมพูชา จึงมั่นใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธปืนแต่อย่างใด

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายจักรภพเดินทางกลับไทย เพื่อมอบตัวสู้คดี และบอกว่า กลับมารับใช้เมืองไทย ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.นายจอม เพชรประดับ อดีตผู้สื่อข่าวและพิธีกรรายการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และวอยซ์ทีวี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดีความมั่นคงไปอยู่ต่างประเทศ ได้โพสตฺ์ช้อความในเฟซบุ๊กว่า “ขณะที่ “สมุนทักษิณ” ทยอยกลับไทย “เยาวชนนักสู้” ถูกศาลทยอยยัดเข้าห้องขัง แหม..ปากบอกกลับมารับใช้คนไทย เอาให้แน่ รับใช้ใคร..ก่อน?”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.หลังทราบข่าวว่านายจักรภพจะเดินทางกลับประเทศไทย นายจอมได้โพสต์ข้อความว่า “ยินดีกับการได้กลับบ้านของคุณจักรภพ เพ็ญแข...และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การกลับมาครั้งนี้ คงมาร่วมกันผลักดันให้ อย่างน้อยสุด ผู้ต้องหาทางการเมืองที่อยู่ในคุกทั้งหมด ได้รับการประกันตัว หรือปล่อยตัวเพื่อออกมาสู้คดีตามสิทธิ หาไม่แล้ว...ก็จะเป็นอีกคนที่ล้มละลายทางความเชื่อและความศรัทธา รวมถึงอาจถูกตราหน้าว่าตระบัดสัตย์..เพิ่มขึ้นอีกคน”

2."ทักษิณ" เข้าพรรคเพื่อไทย ผู้สนับสนุนแห่ต้อนรับ ด้าน "อุ๊งอิ๊ง" พร้อม รมต.ลาราชการไปต้อนรับ พร้อมห้ามสื่อสัมภาษณ์ทักษิณ!


ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาด ซึ่งไม่เคยต้องนอนคุกแม้แต่คืนเดียว เพราะเข้าพักที่ รพ.ตำรวจตั้งแต่วันแรกที่เดินทางกลับไทย และอยู่ รพ.นานถึง 6 เดือน ราวกับเป็นผู้ป่วยหนัก แต่ออกจาก รพ.ได้ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับการพักโทษ และสามารถเดินสายไปเชียงใหม่เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ได้ราวกับไม่เคยป่วยมาก่อน ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นายทักษิณได้เดินทางเข้าพรรคเพื่อไทย โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีกลุ่มผู้สนับสนุนมารอต้อนรับ เช่นเดียวกับบรรดารัฐมนตรี และ สส.ของพรรคที่ทยอยเข้าพรรคเพื่อต้อนรับนายทักษิณเช่นกัน

สำหรับแกนนำและรัฐมนตรีของพรรคที่ลาราชการมาต้อนรับนายทักษิณ ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค, นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม, นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกฯ และนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม

ทั้งนี้ นายทักษิณเดินทางมาพรรคด้วยรถเบนท์ลีย์ สีดำ ทะเบียน พค 9999 กรุงเทพมหานคร ทันทีที่ถึงที่จอด มีมวลชนกรูเข้าไปมอบดอกไม้ พร้อมตะโกน “เรารักทักษิณ” บางส่วนเข้าไปสวมกอด พร้อมหอมแก้ม ซึ่งนายทักษิณไม่มีการใส่เฝือกอ่อนที่คอ และไม่ได้ใส่ที่คล้องแขนแต่อย่างใด เมื่อนายทักษิณขึ้นบันไดมายังพรรคเพื่อไทย ได้ทำความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 จากนั้นได้ขึ้นลิฟต์ไปยังชัั้น 8 เพื่อพูดคุยกับบรรดารัฐมนตรี ข้าราชการการเมืองในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย และอดีตผู้สมัคร สส.ของพรรค ก่อนที่จะลงไปชั้น 7 ซึ่งเป็นที่ประชุม สส.ประจำสัปดาห์ เพื่อคุยกับ สส.ของพรรคเพื่อไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดเวลาที่นายทักษิณเดินทางมาถึงพรรค น.ส.แพทองธาร ได้โบกมือห้ามสื่อมวลชน ที่พยายามจะสอบถามนายทักษิณด้วย

ขณะที่ความเคลื่อนไหวอีกด้าน นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามตรวจสอบกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาดชายในคดีทุจริต พักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ก่อนการพักโทษว่า จากที่ตนได้ทำเรื่องถามไปยังกรมราชทัณฑ์ว่า นายทักษิณพักรักษาตัวในห้องผู้ป่วยพิเศษ ใช้งบประมาณอะไร ล่าสุด กรมราชทัณฑ์ได้ทำหนังสือชี้แจงเพียงว่า ใช้หลักประกันสุขภาพ และ พ.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรมก็ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ว่า ไม่ใช่ห้องพิเศษ แต่เป็นห้องที่ดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากนายทักษิณเคยโดนคาร์บอมบ์เมื่อปี 2549 จึงกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกและจะกระทบกับผู้ป่วยคนอื่น จึงได้ย้ายไปพักห้องดังกล่าว ทาง กมธ.จะต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป โดยอยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ระบุห้ามผู้ป่วยพักห้องพิเศษ ยกเว้นป่วยหนักสามารถแยกห้องพักจากคนอื่นได้ ต้องไปดูว่าสามารถทำได้แค่ไหน

“เรื่องนี้แตกต่างจากมาตรา 43 ผู้ต้องขังมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกรมราชทัณฑ์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ส่วนมาตรา 44 การรักษาที่สูงกว่าขั้นพื้นฐาน ผู้ต้องขังจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่พอเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล กลับเขียนว่าใช้เงินตามสิทธิที่ได้รับจากรัฐบาล โดยไม่มีการบอกว่าถ้าสูงกว่าสิทธิที่รัฐให้ จะต้องทำอย่างไร”

ส่วนกรณีที่นายทักษิณเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการเข้าพรรคเพื่อไทย เพื่อไปพบปะกับ สส.ของพรรค นายชัยชนะ กล่าวว่า รมว.ยุติธรรม บอกว่า ถ้าไปเยี่ยมก็สามารถทำได้ แต่สุดท้ายแล้วสังคมจะเป็นผู้ตัดสินเอง สังคมสามารถสรุปเรื่องอาการป่วยได้ว่าอะไรคืออะไร สังคมส่วนใหญ่ก็เข้าใจเหมือนๆ กัน

3. ศาลพิพากษายกฟ้อง "พันธมิตรฯ ชุด 2" คดีชุมนุมสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ชี้ชุมนุมโดยสงบ ไม่เข้าข่ายก่อการร้าย แม้กระทบผู้ใช้สนามบินบ้าง แต่ทำเพื่อชาติ!


เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ชุดที่ 2 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้องนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์, นายการุณ ใสงาม, นายวีระ สมความคิด, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค หรือจอย อดีตนักแสดงชื่อดัง และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กับพวกรวม 67 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุมปลุกปั่นยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 24 พ.ย.-3 ธ.ค.2551 จำเลยที่ 1-14 ได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมใหญ่โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอยู่ในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. และนำจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์ ของบริษัท วิทยุการบินฯ ปิดกั้นสะพานกลับรถ ตรวจค้นตัว จนท.บริษัทการบินไทย ร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน ทำลายทรัพย์สินของบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ เสียหาย 627,080 บาท เพื่อกดดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ทั้งนี้ จำเลยได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ยกเว้น พล.ร.ต.มิ้นท์ กลกิจกำจร และนายชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย ที่ป่วยต้องวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาจากโรงพยาบาล ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล และญาติจำเลยจำนวนมากต่างมาให้กำลังใจ และติดตามคำพิพากษา

ด้านศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า พวกจำเลย เป็นกลุ่มผู้ชุมนุมมาจากหลายอาชีพ ทั้งศิลปิน นักร้อง ดารา สื่อมวลชน อดีตเอกอัครราชทูต มาชุมนุม เพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องเขยของนายทักษิณ ชินวัตร มีการทุจริตเชิงนโยบาย และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุกนายทักษิณ ชินวัตรหลายคดี โดยเป็นการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ฐานชุมนุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ มาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง และข่มขืนใจผู้อื่น จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดทุกข้อหา

หลังฟังคำพิพากษา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ศาลอาญาพิจารณาประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น โดยสรุปคือ ข้อหาการฟ้องซ้ำ ศาลเห็นว่า ด้วยพฤติการณ์ บุคคล ข้อหาคดีที่เคยมีการฟ้องร้องก่อนหน้านี้ และจำเลยหนึ่งรายร้องเป็นการฟ้องซ้ำ การลงโทษจะซ้ำซ้อนหรือไม่ ศาลพิพากษาเห็นว่า พฤติการณ์ ข้อหา บุคคลที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาและสถานที่ เป็นคนละสถานที่ ศาลจึงมีคำพิพากษาว่าไม่ได้เป็นการฟ้องซ้ำ และศาลมีสิทธิ์ที่จะพิจารณา

ส่วนพฤติการณ์ของรัฐบาล เป็นพฤติการณ์ที่เป็นสาเหตุของการชุมนุม โดยศาลวิเคราะห์ตั้งแต่การก่อตั้งของกลุ่มพันธมิตรฯ และเหตุในปี 2551 คือความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างความผิดคดียุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งทุจริตการเลือกตั้ง มีความพยายามแก้ไขมาตราในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกอำนาจการตรวจสอบของ คตส. ในคดีทุจริตคอรัปชั่น โดยศาลเห็นว่า ทั้งสองประเด็นนี้ เป็นประเด็นของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ รวมถึงการต่อต้านการนำปราสาทเขาพระวิหารไปขึ้นเป็นมรดกโลกให้กับประเทศกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา นอกจากนั้นศาลยังได้พิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งหมดว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรนั้น เป็นการชุมนุมภายใต้กรอบที่มีเหตุผลตามรัฐธรรมนูญ เนื่องด้วยตลอดระยะเวลาการชุมนุม จำเลยทั้ง 67 ราย ไม่ได้มีข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ หรือมีอาวุธอยู่ในครอบครอง ศาลจึงเห็นว่า ไม่เข้าข่ายการก่อการร้าย การก่อกบฏ หรือก่อความวุ่นวาย

ส่วนเรื่องการท่าอากาศยาน ศาลได้มีการพิจารณาวิเคราะห์จากหลักฐานทั้งหมด ด้วยพยานฝ่ายโจทก์เอง พบว่า ไม่สามารถยืนยันว่าจำเลยทั้ง 67 คน ทำความผิดอย่างไรที่ก่อให้เกิดการขัดขวางท่าอากาศยานได้จริง ในทางปฏิบัติ แม้แต่ดาวเทียม ซึ่งเป็นทีวีการถ่ายทอดสด ก็ไม่สามารถกระทบต่อสัญญาณการบินได้ และพื้นที่การชุมนุมไม่ได้กระทบต่อการบิน ดังนั้นด้วยพยานฝ่ายโจทก์ประกอบกับการที่พันธมิตรยุติการชุมนุมแล้ว ไม่เกิดความเสียหาย สามารถดำเนินการบินและให้บริการได้ทันที สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีความเสียหาย ศาลเห็นว่าไม่มีความผิดในการขัดขวาง ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบิน และพื้นที่ชุมนุมไม่กระทบ หรือความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้น

ส่วนการประทะ ซึ่งอาจมีเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม เช่น พยายามเข้าพื้นที่บางส่วนของผู้ชุมนุม การขัดขวางของเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วเป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวาย ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เป็นการสั่งการของจำเลย 67 คน แต่อาจมีการกระทบกระทั่งแต่เป็นวิถีของการเกิดขึ้นเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการสั่งการ การยั่วยุ ให้กระทำการรุนแรง ศาลเห็นว่า จำเลยทั้ง 67 คน ล้วนมีเจตนาอย่างชัดเจนว่า ให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบปราศจากอาวุธ และยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรง ศาลจึงพิพากษาว่า การกระทำของภาครัฐในเวลานั้น ทั้งการทุจริตการเลือกตั้ง การทุจริตคอรัปชั่นทั้งนายทักษิณ ชินวัตรและพวกเป็นเรื่องจริง และมีคำพิพากษาจำนวนมาก รวมถึงศาลพิจารณาการกลับมาของนายทักษิณ ที่หลบหนีไป 15 ปี และการกลับมาขอพระราชทานอภัยโทษ ด้วยข้อความว่าสำนึกผิด ยอมรับการกระทำความผิด แสดงให้เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ มีมูลเหตุของเจตนารมย์เป็นเรื่องจริง ดังนั้นการชุมนุมจึงไม่ใช่เป็นไปด้วยประโยชน์ส่วนตัว แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

และประเด็นสุดท้าย หลังศาลพิจารณาว่าเป็นการชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ ศาลยังได้พิจารณาเรื่องการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ศาลพิจารณาว่า รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กระทำการลงไปเพื่อขัดขวาง งดเว้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องเป็นไปด้วยความชอบธรรม โดยเฉพาะการชุมนุมของพันธมิตรฯ แม้กระทบต่อการบินบ้าง แต่ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นศาลจึงเห็นว่า การกระทำความผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินจึงไม่เข้าข่าย เพราะได้รับการยืนยันว่า ในเวลาต่อมา มีการหลบหนีคำพิพากษาของนายทักษิณ และการยอมรับความผิด แม้การชุมนุมจะกระทบต่อประชาชนผู้ใช้สนามบินอยู่บ้าง แต่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงไม่เป็นความผิด ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด 67 คน

นายปานเทพ กล่าวด้วยว่า คำพิพากษาเป็นคดีประวัติศาสตร์ ซึ่งตนสรุปเพียงใจความสำคัญบางส่วนเท่านั้น แต่ความงดงามและความครบถ้วนของเนื้อหาไม่สามารถจะตัดทอนได้จากคำพิพากษาชุดนี้ จนอาจจะบอกว่า เป็นการเยียวยาความรู้สึกของพวกเราในฐานะผู้ที่ถูกกระทำมา 17 ปี ว่าพวกเราเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยโทษที่รุนแรง โทษถึงขั้นประหารชีวิตหรือการก่อการร้าย ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นแค่พิธีกร เป็นประชาชน เป็นศิลปิน แต่คนที่อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพความเสมอภาค ไม่เคยออกมาเรียกร้องหรือเห็นใจของการชุมนุมของพวกเรา แต่คำพิพากษานี้ให้ความเป็นธรรมกับพวกเราที่ต่อสู้และเคารพกระบวนการยุติธรรมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนทำให้จำเลยจำนวนมากที่มาฟังคำพิพากษา น้ำตาซึม และน้ำตาไหลออกมา เพราะพวกเขาเหล่านั้นได้รับความเป็นธรรมจากการพิสูจน์ตัวเองมายาวนาน 17 ปี

4. อัยการสูงสุดไม่ยื่นฎีกาคดีแกนนำพันธมิตรฯ กับพวกชุมนุมหน้าสภาเรียกร้อง "สมัคร" ลาออก หลังศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง!


เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า สำนักงานอัยการสูงสุดมีความคืบหน้าคดีสำคัญที่สังคมและสื่อมวลชนให้ความสนใจ โดยเป็นคดีที่อัยการสูงสุดไม่รับรองให้ฎีกาคดีฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันมิตรฯ กับพวก เป็นผลให้คดีถึงที่สุด

ตามที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 1 นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ 2 นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 3 นางมาลีรัตน์ แก้วก่า จำเลยที่ 4 นายประพันธ์ คูณมี จำเลยที่ 5 ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.4924/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.590/2562

ซึ่งคดีดังกล่าว ศาลมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.275/2556 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.591/2562 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กับนายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่ 1 นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 2 นายอมร อมรรัตนานนท์ จำเลยที่ 3 นายสำราญ รอดเพชร จำเลยที่ 4 นายศิริชัย ไม้งาม จำเลยที่ 5 นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่ 6 นายพิชิต ไชยมงคล จำเลยที่ 7 นายอำนาจ พละมี จำเลยที่ 8 นายกิตติชัย ใสสะอาด จำเลยที่ 9 นายประยุทธ วีระกิตติ จำเลยที่ 10 นายสุชาติ ศรีสังข์ จำเลยที่ 11 นายสมบูรณ์ ทองบุราณ จำเลยที่ 12 นายศุภผล เอี่ยมเมธาวี จำเลยที่ 13 นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก จำเลยที่ 14 นายพิเชฐ พัฒนโชติ จำเลยที่ 15 และให้รวมพิจารณากับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3881/2557 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.592/2562 คดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 กับนายวีระ สมความคิด จำเลย (รวมทั้งหมด 3 คดี ให้เป็นคดีเดียวกัน)

โดยกล่าวหาจำเลยทั้งหมด ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก มั่วสุมร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการไม่กระทำการหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้นไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ร่วมกันหน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นปราศจากจากเสรีภาพในร่างกาย

ซึ่งคดีทั้งหมดดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 เว้นแต่กรณีอัยการสูงสุดเห็นว่า คดีมีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยก็ให้ลงชื่อรับรองในฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221

นายประยุทธ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว จึงมีคำสั่งไม่รับรองฎีกาคดีดังกล่าว เป็นผลให้คดีถึงที่สุด

สำหรับคดีดังกล่าว เกิดเมื่อวันที่ 25 พ.ค.-7 ต.ค.2551 จำเลย ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดันและเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลาออก และไปชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภา เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

5. ศาลยกฟ้อง "หมอพรทิพย์" กับพวก คดีจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด GT 200 ชี้ ไม่พบทุจริต ด้านหมอพรทิพย์ ฝาก ป.ป.ช.กล่าวหาไม่เป็นธรรม มันบาป!


เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ฐานร่วมกันทุจริตและประพฤติมิชอบคดีจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และอัลฟ่า ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2551

หลังศาลพิพากษา ดร.ณรงค์ พลมาตร์ ทนายความ เผยว่า ศาลพิเคราะห์หลักฐานหลังการไต่สวนพยานครบถ้วนแล้ว ไม่พบว่าคดีมีมูลความผิด หรือการทุจริต หรือมีการแสวงหาประโยชนแก่ตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ และไม่พบว่า คุณหญิงพรทิพย์กับเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบ มีเจตนาจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด ศาลจึงพิพากษายกฟ้องคุณหญิงพรทิพย์และเจ้าหน้าที่ทุกข้อกล่าวหา

ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า การถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอรัปชัน ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับราชการ โดยเฉพาะข้าราชการที่ลงไปทำงานในพื้นที่อันตรายที่มีความเสี่ยงตลอดเวลา เมื่อมีการกล่าวหาและให้ข่าวต่อสาธารณะ โดยเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นเหมือนการประหารชีวิต ทั้งที่ ป.ป.ช.ทราบอยู่แล้วว่า ไม่มีหลักฐานการทุจริตคอรัปชัน ตั้งแต่ในชั้นการสอบสวน และตลอดระยะเวลา 14 ปี มีบุคคลพยายามสื่อสาร สร้างข่าว สร้างกระแสในทางลบต่อคุณหญิงพรทิพย์ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ว่าเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด จีที 200 และอัลฟ่า ทำให้เกิดความเสียหาย

โดยข้อเท็จจริง หน่วยงานความมั่นคงได้ดำเนินการจัดซื้อ GT 200 ดังนี้ 1.กองทัพอากาศ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ.2548 รวมจัดซื้อ 26 เครื่อง 2.กองทัพบก จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ.2550 รวมจัดซื้อ 757 เครื่อง 3.กองทัพเรือ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ.2550 รวมจัดซื้อ 38 เครื่อง 4.กรมราชองครักษ์ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ.2551 รวมจัดซื้อ 8 เครื่อง และ 5.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์์ จัดซื้อครั้งแรกปีงบประมาณ พ.ศ.2551 รวมจัดซื้อ 6 เครื่อง

“การที่ ป.ป.ช. ตั้งข้อหาทุจริต ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก และการกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบ ซึ่งหมายถึง การกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งที่ผู้เชี่ยวชาญ และกรมบัญชีกลางให้ความเห็น และตรวจสอบความชอบแล้ว ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. ได้กล่าวหาโดยไร้พยานหลักฐาน แต่อ้างเป็นความเห็นส่วนตัว สร้างตราบาปให้ข้าราชการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์และคุณหญิงพรทิพย์มาตลอดระยะเวลา 14 ปี (กล่าวหาปี 2553 พิพากษา 2567) และมีเจ้าหน้าที่บางหน่วยเครียดจนต้องจบชีวิตตัวเอง”

ดร.ณรงค์ กล่าวย้ำว่า ป.ป.ช. ใช้เวลาในการสอบสวนเป็นเวลานาน โดยผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่เคยได้มีโอกาสชี้แจงทั้งก่อนและหลังการชี้มูล ทั้งนี้ เมื่อร้องขอความเป็นธรรมตามมาตรา 99 อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคุณหญิงพรทิพย์ และกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ ป.ป.ช.นำคดีมายื่นฟ้องเอง ซึ่งศาลไต่สวนโดยละเอียดและตรวจสอบพยานบุคคล เอกสาร ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยัน ไม่พบการทำผิดใดๆ ในข้อกล่าวหาว่า ทุจริตประพฤติมิชอบ ดังนั้น ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ทั้งหมดจึงไม่เป็นความจริง

ด้าน พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ ได้โพสต์ผ่านอินสตาแกรมว่า ในที่สุดก็มาถึงวันนี้ที่พวกเราพ้นมลทิน "การที่ ป.ป.ช.ใช้อำนาจกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม นับเป็นการสร้างบาป หมอสอนทีมว่า ต้องเชื่อมั่นว่าทำดีได้ดี โดยเฉพาะทำดีเพื่อแผ่นดิน ทุกคนจะยังคงมุ่งมั่นทำความดีต่อไป ฝากถึงผู้ที่ชอบใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้อื่น มันบาปนะ บาปหนา ท้ายสุดขอบคุณทีมทนายที่สู้ ผู้ที่คอยสนับสนุนให้กำลังใจ ฟ้าหลังฝนจะสดใสแน่นอน ทำดีเพื่อแผ่นดิน"


กำลังโหลดความคิดเห็น