รอยเตอร์ - สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะถูกบังคับให้ทบทวนแผนสันติภาพที่ตกลงไว้กับพม่าอีกครั้ง หากผู้ปกครองทหารของพม่าดำเนินการประหารชีวิตนักโทษเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา กล่าววันนี้ (3)
กลุ่ม 10 ประเทศ กำลังผลักดันให้พม่าปฏิบัติตามฉันทมติสันติภาพ 5 ข้อ ที่กลุ่มได้ตกลงกันไว้เมื่อปีที่ผ่านมา และได้ประณามการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 คน ของรัฐบาลทหาร
“หากมีการประหารนักโทษเพิ่มขึ้นอีก เราจำเป็นต้องทบทวนใหม่ บทบาทของเรากับฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียน” ฮุนเซนที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนคนปัจจุบันกล่าวเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม
ฮุนเซน กล่าวว่า ความเป็นเอกภาพของอาเซียนถูกท้าทายด้วยผลกระทบทางการเมืองและความมั่นคงปลอดภัยของวิกฤตในพม่าที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรม
นายกรัฐมนตรีของกัมพูชากล่าวว่า ขณะที่ฉันทมติ 5 ข้อ ไม่คืบหน้าตามที่ทุกคนปรารถนา แต่มีความคืบหน้าบางอย่างที่รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
แต่เขากล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและอาจถูกมองว่าเลวร้ายลงกว่าเดิมเพราะการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวของรัฐบาลทหาร
“กัมพูชาและประเทศสมาชิกอาเซียนรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งและไม่สบายใจต่อการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านเหล่านั้น แม้จะมีคำอุทธรณ์จากผมและคนอื่นๆ ให้ทบทวนโทษประหารก็ตาม” ผู้นำกัมพูชา กล่าว
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพพม่าได้ปกป้องการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวว่าเป็นความยุติธรรมเพื่อประชาชน และไม่สนการประณามจากนานาประเทศ รวมถึงเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่สุด
กองทัพกล่าวว่าได้ประหารนักเคลื่อนไหวจากการให้ความช่วยเหลือกระทำการก่อการร้ายของขบวนการต่อต้านพลเรือน การประหารครั้งแรกของพม่าในรอบหลายทศวรรษ
พม่าจะไม่มีตัวแทนในการประชุมสัปดาห์นี้ โฆษกของประธานอาเซียนกล่าว หลังผู้ปกครองทหารของพม่าปฏิเสธข้อเสนอส่งตัวแทนที่ไม่ใช่รัฐบาลทหารมาร่วมประชุมแทน
นับตั้งแต่ปลายปีก่อน อาเซียนได้ห้ามรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมของกลุ่มเนื่องจากขาดความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนสันติภาพ
สมาชิกบางประเทศของอาเซียนซึ่งมีธรรมเนียมไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ได้วิพากษ์วิจารณ์นายพลดุดันมากขึ้น
ไซฟุดดิน อับดุลละห์ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียระบุว่า การประหารชีวิตเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และดูเหมือนเป็นการเย้ยหยันแผนสันติภาพอาเซียน
เมื่อวันจันทร์ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวโทษความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 และความรุนแรงภายในประเทศ ที่เป็นผลให้ความพยายามที่จะดำเนินการตามแผนสันติภาพต้องหยุดชะงัก
รัฐบาลทหารยังขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน หลังประกาศครั้งแรกหลังยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในเดือน ก.พ.2564
นับจากนั้นพม่าตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวาย และความขัดแย้งได้ลุกลามบานปลายหลังกองทัพปราบปรามการประท้วงอย่างสันติในเมืองต่างๆ.