xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 3-9 มี.ค.2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.ตม.ถอนวีซ่า "เดวิด" ฝรั่งเตะหมอแล้ว เหตุพฤติกรรมเป็นภัยต่อสังคม เจ้าตัวยังมีสิทธิอยู่ใน ปท.แบบมีเงื่อนไข เพื่อสู้คดี!

จากกรณีที่แพทย์หญิงธารดาว จันทร์ดำ หรือหมอปาย ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี Mr.URS BEAT FEHR หรือนายเดวิด สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ อายุ 45 ปี กรรมการผู้จัดการ บจก.อีเลเฟนท์ แซงชัวรี่พาร์ค ข้อหาทำร้ายร่างกายบริเวณชายหาดยามู จ.ภูเก็ต เมื่อคืนวันที่ 24 ก.พ.67 จนเกิดกระแสการขับไล่นายเดวิดออกจากพื้นที่

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ ได้งนามในหนังสือด่วนที่สุดถึง ผกก.ตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต ให้พิจารณาเพิกถอนวีซ่านายเดวิดโดยเร่งด่วน โดยให้เหตุผลว่า จังหวัดภูเก็ตพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของ MR.URSFEHR มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่า เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขและความเรียบร้อยของประชาชน

สองวันต่อมา 7 มี.ค. พ.ต.อ.ปริญญา กลิ่นเกษร รอง ผบก.ตม.1 ในฐานะรองโฆษก สตม. เปิดเผยว่า เมื่อคืนวันที่ 6 มี.ค. พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6 ได้ลงนามอนุมัติเพิกถอนวีซ่าของนายเดวิดตามที่ ตม.จว.ภูเก็ต เสนอแล้ว

โดยเห็นว่า การกระทำของนายเดวิด มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขและความเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ตามพฤติการณ์ที่ได้รับการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าราชการจังหวัด และ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต

หลังจากนี้ ตม.จว.ภูเก็ต จะทำเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าตัวทราบ และทำการควบคุมตัวไปห้องกัก ตม.จว.ภูเก็ต ซึ่งช่วงบ่ายวันเดียวกัน ตม.ภูเก็ต ได้คุมตัวนายเดวิดมายัง ตม.ภูเก็ต เพื่อดำเนินการแจ้งสิทธิในการอยู่ในราชอาณาจักรได้หมดลงแล้ว และนายเดวิดสามารถยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัว เพื่อต่อสู้คดีความที่ยังไม่สิ้นสุด และเมื่อประกันตัวไปแล้ว นายเดวิดจะสามารถอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไปได้จนกว่าคดีความจะสิ้นสุด ด้วยวีซ่าต่อสู้คดีความ และภายใน 48 ชั่วโมง นายเดวิดสามารถใช้สิทธิขออุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนวีซ่าดังกล่าวได้

วันต่อมา 8 มี.ค. พ.ต.อ.ปริญญา กลิ่นเกษร รอง ผบก.ตม.1 ในฐานะรองโฆษก สตม.เผยว่า นางคนึงนิจ ชทาล์ดเอคเกอร์ ภรรยาของนายเดวิด ได้ยื่นขอประกันนายเดวิด พร้อมวางเงินประกันจำนวน 100,000 บาท โดยให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นศาล

ต่อมา ผบก.ตม.6 อนุญาตให้นายเดวิดประกันตัวได้ 30 วันตามระเบียบ โดยมีเงื่อนไข 1.ต้องพักอาศัยอยู่ในบ้านพักที่มีการยื่นคำร้องไว้กับทาง ตม.จว.ภูเก็ต เท่านั้น 2.ต้องมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 15 วัน 3.ห้ามรับจ้าง ทำงาน หรือกระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเด็ดขาด และ 4.ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

นอกจากนี้ นายเดวิดยังได้มอบอำนาจให้ผู้แทนยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรต่อคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองอีกด้วย

2.ศาลฎีกานักการเมืองยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" พร้อมพวก คดีใช้อำนาจโดยทุจริตจัดจ้างโครงการโรดโชว์ งบ 240 ล้าน เอื้อสื่อเอกชน 2 ราย จับตา ป.ป.ช.อุทธรณ์หรือไม่!


เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ, บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), นายระวิ โหลทอง เป็นจำเลยที่ 1-6 ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้าง โครงการโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ 2 บริษัท จัดทําโครงการดังกล่าว

คดีนี้ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2565 โจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อเดือน ส.ค.2556 ถึงวันที่ 12 มี.ค.2557 จำเลยที่ 3 ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการเสนอโครงการ Roadshow ที่มิใช่กรณีเร่งด่วน โดยจำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ลงนามผ่านเรื่อง แล้วจำเลยที่ 1 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจบิดผันสั่งอนุมัติงบกลาง โดยเจตนาร่วมกันกำหนดให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดโครงการ โดยจำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 เพื่อขออนุมัติจัดจ้างการดำเนินการโครงการดังกล่าวโดยวิธีพิเศษ อันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังร่วมกันดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวด ทั้งที่ไม่เข้าเงื่อนไขอันจะได้รับการยกเว้น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนเงิน 239,700,000 บาท โดยจำเลยที่ 4-6 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12, 13 ฯลฯ

ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-3 ดำเนินการนำงบกลางจำนวน 40,000,000 บาท มาจัดทำโครงการ Roadshow ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1-3 ได้ดำเนินการใดที่ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทางราชการ หรือโดยทุจริตหรือไม่

จากพยานหลักฐานได้ความว่า กำหนดเวลาเริ่มดำเนินโครงการ Roadshow เกิดขึ้นจากการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมิใช่เป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 เอง และมิได้กำหนดเวลากระชั้นชิดเพียงเพื่อให้เป็นเหตุอ้างใช้งบกลาง เมื่อกรณีไม่อาจใช้ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 และงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2557 มาดำเนินโครงการ Roadshow ได้ตามที่ได้กำหนดเวลาไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำในกรณีมีความจำเป็นและเร่งด่วนต้องใช้จ่ายงบประมาณ ...ประกอบกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีความเห็นว่า เห็นสมควรที่นายกรัฐมนตรีจะอนุมัติงบกลางนี้ได้ กรณีย่อมมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถอนุมัติได้ จึงฟังได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ดุลพินิจกระทำไปบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น

แม้ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ตราขึ้นมาโดยไม่ใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ก็เป็นเพียงการวินิจฉัยถึงความชอบของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น ทั้งยังเป็นการวินิจฉัยภายหลังเกิดเหตุ โดยมิได้วินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญา ซึ่งต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในคดีนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเป็นประการใด ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเล็งเห็นผลว่าโครงการ Roadshow ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน แม้โครงการ Roadshow จะดำเนินการในพื้นที่เดียวกันกับโครงการกระทรวงคมนาคม แต่ก็เป็นเพียงพื้นที่ 2 จังหวัดแรก ทั้งโครงการ Roadshow มีภารกิจครอบคลุมมากกว่า ถือไม่ได้ว่าเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน

สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมหรือแนะนำโดยมิชอบเพื่อให้จำเลยที่ 1 อนุมัติงบกลางอย่างไร จำเลยที่ 2 จึงเป็นแต่เพียงผู้ทำหน้าที่พิจารณาแล้วผ่านเรื่องเสนอไปยังจำเลยที่ 1 ตามลำดับชั้นเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 3 เพิ่งทราบว่าต้องขอใช้งบกลางจากการเสนอตามลำดับชั้นของข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน จึงเป็นเพียงการดำเนินการตามหน้าที่เท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2-3 เสนอให้จำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง และจำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลางจำนวน 40,000,000 บาท มาดำเนินการโครงการ Roadshow จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี

ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันตกลงให้จำเลยที่ 4-5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเริ่มการจัดจ้างหรือไม่ ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดทำโครงการ Roadshow จึงเป็นเรื่องปกติที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้แก้ไขรูปแบบของงาน จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ริเริ่มให้จำเลยที่ 4-5 เข้ามานำเสนองาน ไม่ปรากฏว่ารูปแบบงานได้กำหนดรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะอย่างใดที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4-5 โดยเฉพาะเจาะจงหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น

ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 1-3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษตามฟ้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหน้าที่และอำนาจของจำเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ แต่เป็นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินเกินอำนาจอนุมัติของจำเลยที่ 3 จึงต้องเสนอจำเลยที่ 2 พิจารณา

เมื่อข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1-3 กระทำความผิด จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 4-6 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ให้ยกฟ้อง


หลังศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมพวกในคดีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ถามนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.ว่าจะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ หรือไม่ ซึ่งนายนิวัติไชย กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้วมีระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน และสามารถขอขยายระยะเวลาได้ ขณะนี้ต้องรอดูคำพิพากษาตัวเต็มจากทางศาลฎีกาก่อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจะนำมาพิจารณาวินิจฉัยว่าจะอุทธรณ์หรือไม่

เลขาธิการ ป.ป.ช.เผยด้วยว่า สำหรับคดีที่มีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใน ป.ป.ช. เบื้องต้นขณะนี้เหลือเพียงคดีเดียว คือ กรณีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ สมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้กับเอกชน โดยเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวน

3. ศาลอนุญาตฝากขัง "ตะวัน-แฟรงค์" ครั้งที่ 3 คดีบีบแตรป่วนขบวนเสด็จ ด้าน "สุชาติ" นักเขียนดัง อ้าง "ตะวัน-แฟรงค์" ไม่รู้มีขบวนเสด็จ!



เมื่อวันที่ 8 มี.ค.พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือแฟรงค์ กลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหาคดีบีบแตรป่วนขบวนเสด็จ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติม และอื่น ๆ

ขณะที่นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจำเลย ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง

ทั้งนี้ ศาลอาญาไต่สวนทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว เห็นว่า พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ยังมีเหตุจำเป็นต้องสอบพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 2 ปาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา และยังต้องรอภาพถ่ายวิดีโอซึ่งเป็นพยานหลักฐาน เพื่อที่จะพิจารณาสั่งต่อไป ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองมีสิทธิยื่นประกันตัวต่อศาลได้อีก โดยศาลกำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดสอบปากคำให้แล้วเสร็จในการฝากขังครั้งนี้ ส่วนคำร้องคัดค้านให้ยก

ด้านนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี อายุ 78 ปี อดีตนักเขียนชื่อดังและศิลปินแห่งชาติ ที่มายื่นคำแถลงต่อศาล กล่าวว่า มาเพื่อจะให้ศาลเห็นว่า สิ่งที่คนหนุ่มสาวแสดงออกอยู่ในแนวทางสันติประชาธรรม การต่อสู้ของทั้งสองคนและอีกหลายคน สะท้อนให้เห็นถึงวิถีและวิธีของประชาธิปไตย การต่อสู้ของตะวันและแฟรงค์นั้นในความรู้สึกของคนรุ่นเก่า มีความห่วงใยลูกหลาน และสิ่งที่กระทำนั้นถูกต้อง แต่ทราบว่าศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อ โดยจะเร่งรัดการสอบสวน ตอนนี้ตะวันและแฟรงค์อดอาหารมาแล้ว 23 วัน คิดว่าอีก 12 วันในฝากขังผลัดที่สาม ก็ขอภาวนาให้ไม่เกิดเหตุเศร้า หรือโศกนาฏกรรม ซึ่งเป็นสิ่งไม่สมควร ที่มาวันนี้ก็เพื่อขอความเมตตาจากศาล และรู้สึกเสียใจมากที่ศาลให้ฝากขังครั้งที่สาม ตนเองและอาจารย์ชาญวิทย์ไม่มีอะไรที่จะทำได้มากกว่านี้ คิดว่าเรื่องนี้ประชาชนที่มีใจเป็นธรรมที่อยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกันทุกคนน่าจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นเลย หมายความว่าไม่ควรฝากขังต่อ เพราะทั้งสองคนไม่หลบหนีไปไหน

เมื่อถามว่าอาจารย์สนับสนุนการกระทำของตะวันและแฟรงค์หรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า ตะวันและแฟรงค์เท่าที่ตนรับทราบจากข่าว เขามีปากเสียงกับตำรวจจาราจร ที่มีการบีบแตรเพราะจะรีบไป มีธุระ การพูดจาลักษณะที่มีอารมณ์กันบ้าง ไม่ใช่เรื่องจะไปขัดขวางขบวนเสด็จ หรือบีบแตรไล่ขบวนเสด็จ ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ “คิดว่าเขาคงไม่ทราบว่าข้างหน้าเกิดอะไรขึ้น หรือมีขบวนเสด็จ สิ่งที่เรารับทราบโดยทั่วไปก็คือว่ามีปัญหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเอารถมาขวางกั้น เชื่อว่าคงไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเห็นของนายสุชาติที่อ้างว่า วันนั้นตะวันและแฟรงค์น่าจะไม่รู้ว่ามีขบวนเสด็จ ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เนื่องจากหากได้ดูคลิปที่ตะวันมีปากเสียงกับตำรวจแล้ว จะเห็นได้ว่า ตำรวจได้บอกตะวันแล้วว่า มีขบวนเสด็จ แต่ตะวันและเพื่อนก็ยังใช้ถ้อยคำตอบโต้ด้วยความรุนแรง ไม่เท่านั้น ตะวันยังได้มีการโพสต์ผ่านโซเชียลในเวลาต่อมา โดยยืนยันเองว่า รู้ว่ามีขบวนเสด็จ โดยโพสต์ว่า "...วันนั้นเรากำลังขับรถไปทำธุระส่วนตัว เจอขบวนเสด็จพอดี และโดนปิดถนนเหมือนเดิม เราไม่ได้รอและขับออกไปเลย เพราะทุกคนก็รีบเหมือนกัน เราขับไปตามทางที่เราจะไปทำธุระ ไม่ได้จะเร่งเพื่อไปหาขบวน และมันมีแต่คำถามในหัวว่า "ทำไมถึงมีรถคันไหนไปได้สะดวกกว่ารถของประชาชน?"..."

4. ป.ป.ช.รับทำคดี "บิ๊กโจ๊ก" กับพวกเอี่ยวเว็บพนันมินนี่ ไม่ส่งให้ ตร.ทำ ยันไม่ได้ดึงเรื่องหรือช่วยใคร ด้าน "อัจฉริยะ" ร้อง ปปป.เอาผิดประธาน ป.ป.ช.กับพวก มีดีลลับกับบิ๊ก รบ.!



เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.วันนี้มีมติรับพิจารณาคดีกรณีกล่าวหา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวกรวม 5 คน พัวพันเครือข่ายเว็บพนันมินนี่ และร่วมกันฟอกเงิน เนื่องคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า เป็นการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งสูงกว่าผู้ร้องเรียน ซึ่งอยู่ในระดับผู้อำนวยการ และกล่าวหาว่าเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง มีผลกระทบในวงกว้าง มูลค่าความเสียหายที่มีการกล่าวหาก็สูง ซึ่งอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ไม่สามารถมอบหมายให้ (ตำรวจดำเนินคดี) ได้ ประกอบกับมีการร้องของ ส.ต.อ.ณัฐวุฒิ หวัดแวว 1 ใน 8 ผู้ต้องหา เกี่ยวกับเรื่องการทำสำนวน และมีเรื่องข้อกล่าวหาเดิมที่เคยส่งไปยังกองบัญชาการสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันในเรื่องของบัญชีม้า ทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องทำไปพร้อมกัน จึงมีมติให้ดึงสำนวนดังกล่าวกลับมาพิจารณาพร้อมกัน

ส่วนกรอบระยะเวลาการทำงานนั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า การดำเนินการต้องดูข้อมูลที่พนักงานสอบสวนจะส่งมา เพราะส่งมายังไม่ครบ หากส่งมาครบก็สามารถสั่งไต่สวนได้เลย ไม่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แต่เห็นทางอัยการเองก็มีการสั่งให้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ดังนั้นต้องดูสำนวนตำรวจก่อน หากครบแล้วก็ไต่สวนได้ ซึ่งการตั้งไต่สวนอาจเป็นคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะ แต่ขอดูสำนวนก่อน และขณะนี้อยู่ระหว่างทำหนังสือให้มีการส่งคืนเรื่องกลับมา หากส่งกลับมาแล้ว ป.ป.ช.ก็จะเรียกประชุมเลย

“ถ้าสำนวนที่ส่งมาครบถ้วน ก็สั่งไต่สวนได้เลย และแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งจะให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ถ้าชี้แจงแล้วฟังไม่ได้ ก็จะสรุป เพื่อมีคำวินิจฉัย”

นายนิวัติไชย ยืนยันด้วยว่า การที่ ป.ป.ช.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาเอง ไม่ส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดี ไม่ได้เป็นการดึงเรื่อง หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวอะไร แต่ที่ดึงคืนมาเพราะเป็นเรื่องร้ายแรง มอบหมายไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 อยู่แล้ว ทั้งนี้ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐหากเป็นระดับล่างอาจจะมอบได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงมอบไม่ได้

สำหรับ กรรมการ ป.ป.ช.ปัจจุบันเหลืออยู่ 5 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ น.ส.สุวณา สุวรรณจูฑะ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข และนายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ เป็นกรรมการ มีรายงานว่า มติ ป.ป.ช.ที่รับเรื่องดังกล่าวไว้ดำเนินการเอง เป็นมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 โดยเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือนายสุชาติ

วันต่อมา (5 มี.ค.) พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. มีมติรับพิจารณาคดีเว็บพนันออนไลน์มินนี่เอง ไม่ส่งให้ตำรวจทำคดี ทั้งยังจะดึงสำนวนเกี่ยวกับบัญชีม้ามาดูเองด้วย โดยอ้างว่า 2 คดีนี้มีความเกี่ยวพันกันว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช ที่สามารถพิจารณารับคดีดังกล่าวเองและสามารถพิจารณาสำนวนที่มีนายตำรวจ 8 นาย ที่ขณะนี้อยู่ในชั้นพนักงานอัยการ กลับไปทำคดีรวมสำนวนกับตำรวจ 5 นายที่มีนายตำรวจใหญ่รวมอยู่ด้วย เนื่องจากเป็นคดีที่มีความเชื่อมโยงกัน อย่างไรก็ตาม ทาง ป.ป.ช.จะต้องมาสอบถามสำนวนคดีกับพนักงานสอบสวน ปปป. ว่ามีหลักฐานหรือรายละเอียดอย่างไร จึงถือว่าคดีดังกล่าวทั้ง 2 สำนวน ในชั้นพนักงานสอบสวนได้สิ้นสุดอำนาจหน้าที่แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการพิจารณาสำนวนส่งฟ้องคดี

พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวต่อว่า ทางคณะพนักงานสอบสวนก็ยังเดินหน้ารวบรวมพยานหลักฐานในส่วนของคดีเพิ่มเติมหาก ป.ป.ช.ต้องการ รวมทั้งสืบสวนสอบสวนขยายผลไปถึงเส้นทางการเงินของเว็บพนันออนไลน์ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวโดยมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม และว่า แม้ทาง ป.ป.ช.จะรับสำนวนไปพิจารณาเอง พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้เสียกำลังใจ ขอยืนยันว่า พยานหลักฐานที่มีนั้นครบถ้วน ที่จะสามารถเอาผิดกับผู้ถูกกล่าวหาได้ทั้งหมด

สองวันต่อมา (7 มี.ค.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรรม ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.นพพิณฑ์ แก้วอินไชย สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปปป. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษประธาน ป.ป.ช. พร้อมพวกรวม 4 คน ในความผิดมาตรา 157 กรณีไม่ส่งสำนวน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์มินนี่ ให้คณะพนักงานสอบสวนของ ตร. รวมถึงมีมติขอดึงสำนวนคดี พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย รองผู้บังคับการกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 4 (รอง ผบก.สส.ภ.4) กับพวกรวม 8 คน ที่พนักงานสอบสวนของ ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการไปแล้ว กลับมาพิจารณาเอง เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 2 สำนวนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับผู้ที่กระทำความผิดร่วมกันและมีความเชื่อมโยงกัน

นายอัจฉริยะ กล่าวต่อว่า มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 4 ต่อ 1 ที่รับสำนวนพิจารณานั้นอาจมีดีลลับเกิดขึ้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ระหว่าง ป.ป.ช.2 ท่าน กับผู้ใหญ่ในรัฐบาล ก่อนจะมีมติรับสำนวนคดีมาพิจารณาเอง โดยตนเองยืนยันว่า มีทั้งหลักฐาน สามารถระบุชื่อร้านอาหารและจำนวนคนที่ไปทานอาหารกันที่ร้านในวันนั้นได้ ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดมาตรา 157 และการที่ขอรับสำนวนสอบสวนเรื่องกล่าวหา พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย กับพวกมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 65 ที่ไม่สามารถไปเอาสำนวนคืนจากพนักงานอัยการได้

"พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมของประเทศ แต่ทั้งนี้หากเรื่องที่ผมพูดไม่เป็นความจริง ก็ขอให้ ป.ป.ช. ออกมาชี้แจงต่อสังคมว่าไม่เป็นความจริง และถ้าผมโกหก ก็ยินดีให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีได้เลย"

เบื้องต้น พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำนายอัจฉริยะ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาควบคู่พยานหลักฐาน ก่อนส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป

5. "เต้ มงคลกิตติ์" นำคำวินิจฉัยศาล รธน.ให้กองปราบฯ ดำเนินคดี "พิธา-ก้าวไกล" กว่า 10 ราย ล้มล้างการปกครอง ชี้ โทษหนักถึงประหารชีวิต!



เมื่อวันที่ 4 มี.ค.นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ-หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครองเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ฉบับเต็มรวม 32 หน้า มามอบให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ประกอบการพิจารณาดำเนินคดีอาญานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และผู้บริหารพรรคก้าวไกล รวมกว่า 10 ราย

นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าก้าวไกลเข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง ตนจึงได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยัง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีนายพิธาและพวกตามกฎหมาย ซึ่งหลังยื่นคำร้องดังกล่าว ทาง ผบ. ตร. ได้มีคำสั่งมายังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งวันนี้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม เจ้าของสำนวนคดีนี้ ได้นัดให้ตนนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม มามอบให้กับพนักงานสอบสวนในฐานะผู้ร้อง

นายมงคลกิตติ์ กล่าวด้วยว่า คดีนี้ต้องทำให้เป็นเยี่ยงอย่างเพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต เพราะการใช้นโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล ก่อให้เกิดความขัดแย้ง และพยายามให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบการปกครองประเทศ ที่สำคัญมีการบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีความชัดเจนว่า การกระทำของนายพิธาและก้าวไกลเป็นความผิดร้ายแรง แต่เป็นความผิดเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค ดังนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งตนเชื่อว่า หากพนักงานสอบสวนดำเนินคดี จะมีผู้ถูกออกหมายจับ อาจต้องโทษถึงประหารชีวิตถึง 10 ราย และจำคุกตลอดชีวิตอีกหลายคน

ทั้งนี้ เบื้องต้น พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำนายมงคลกิตติ์ ในฐานะผู้ร้อง ก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น