xs
xsm
sm
md
lg

เปิด อดีต-ปัจจุบัน รักษาการนายกฯ “ดร.เสรี” ปลุกแชร์ “นายกฯเถื่อนอยู่ดูไบ...” “กูรู” ชี้ มีขบวนการกดดันศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ รักษาการนายกรัฐมนตรี จากอดีตถึงปัจจุบัน ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากเพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา
ข้อมูลน่ารู้! เปิด อดีต-ปัจจุบัน รักษาการนายกฯ “บิ๊กป้อม” มิใช่คนแรกและคนสุดท้าย “บิ๊กตู่” ไม่นานที่สุด “ดร.เสรี” ปลุกแชร์เป็น Viral นายกฯเถื่อนอยู่ดูไบ นายกฯไทยเคารพกฎหมาย “กูรู” ชี้ กลุ่มม็อบกดดันศาลจุดไม่ติด

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (26 ส.ค. 65) เพจฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ แชร์เพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา โพสต์ข้อความพร้อมภาพ ระบุว่า

“รักษาการนายกรัฐมนตรี
๑. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ๑๗ วัน (ระหว่างวันที่ ๒๔ พฤษภาคม - ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕) หลังจาก “พลเอก สุจินดา คราประยูร” นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หลังจากนั้น ฝ่ายพรรคร่วมเสียงข้างมาก ร่วมกันสนับสนุนให้ “พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์” หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่แล้วนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ได้ตัดสินใจเสนอชื่อ “นายอานันท์ ปันยารชุน” ขึ้นทูลเกล้าฯ แทนที่จะเป็นพลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์ และกลายเป็นที่เล่าขาน กันมาถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “แต่งชุดขาวรอเก้อ”

๒. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ๙ วัน (ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๘ กันยายน ๒๕๕๑) หลังจาก “นายสมัคร สุนทรเวช” นายกรัฐมนตรีขณะนั้น พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่มีเสียงมากที่สุดในรัฐสภา และวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๑ ได้รับการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๖ ของประเทศไทย

๓. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกรัฐมนตรี ๑๔ วัน (ระหว่างวันที่ ๓ - ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๑) หลังจาก “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” นายกรัฐมนตรีขณะนั้น พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย หลังจากนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” รวบรวมเสียงในสภา ทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีเสียงข้างมากในสภา สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงสนับสนุนให้ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ ๒๗ ของประเทศไทย

๔. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี ๑๕ วัน (ระหว่างวันที่ ๗ - ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗) หลังจาก “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” รักษาการนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งขณะรักษาการ หลังจากยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดการเลือกตั้งทั่วไป หลังจากนั้นไม่นาน วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจ และวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติให้ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ ๒๙ ของประเทศไทย

๕. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี หลังจาก “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่

ภาพ นายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด 6 อันดับ ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากเพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา
ก่อนหน้านี้(24 ส.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา โพสต์ข้อมูลนายกฯที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด ระบุว่า

“๖ อันดับ นายกรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด
๑. จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ดำรงตำแหน่ง ๘ สมัย เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี ๒๕ วัน
๒. จอมพล ถนอม กิตติขจร
ดำรงตำแหน่ง ๕ สมัย เป็นระยะเวลา ๙ ปี ๒๐๕ วัน
๓. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ดำรงตำแหน่ง ๓ สมัย เป็นระยะเวลา ๘ ปี ๑๕๔ วัน
๔. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ดำรงตำแหน่ง ๒ สมัย เป็นระยะเวลา ๘ ปี
๕. นายชวน หลีกภัย
ดำรงตำแหน่ง ๒ สมัย เป็นระยะเวลา ๖ ปี ๒๐ วัน
๖. นายทักษิณ ชินวัตร
ดำรงตำแหน่ง ๒ สมัย เป็นระยะเวลา ๕ ปี ๒๒๒ วัน”

ภาพ ดร.เสรี วงษ์มณฑา จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

“ช่วยกัน share ให้เป็น Viral หน่อยนะคะ

“นายกฯเถื่อนอยู่ดูไบ นายกฯไทยเคารพกฎหมาย” เพื่อสู้กับการเห่าของหมาในคอกบางตัวนะคะ แล้วทำใจให้สบายรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนะคะ

ผลออกมาอย่างไร พวกเราต้องยอมรับนะคะ ถ้าลุงตู่ได้อยู่ต่อเราก็ช่วยกันดีใจ ถ้าลุงตู่มีอันต้องออกไป พวกเราก็ทำใจ แล้วไม่ต่อว่าศาลรัฐธรรมนูญกันนะคะ”

ภาพ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุว่า

“ไม่ได้ผิดจากความคาดหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับเรื่องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้พิจารณาด้วยมติ 9-0 และให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าจะมีผลการวินิจฉัยออกมาด้วยมติ 5-4 ในขณะที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านยังถล่มไม่หยุด ยังคงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นายกฯ ประยุทธ์ ต้องไปอย่างเดียว กระทั่งเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ก็โจมตีว่าเป็นไม่ได้เพราะไม่สง่างาม

ความจริงคนที่มีสมองในระดับที่สอบเข้าและเรียนจบแพทย์มาได้ ต้องมองออกอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ชัดอย่างที่กล่าวอ้าง รัฐธรรมนูญบอกว่า

“นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง”

นั่นหมายความว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินกว่า 8 ปี ไม่ได้ แม้จะดำรงตำแหน่งมาแล้วเว้นจากการดำรงตำแหน่งไประยะหนึ่ง เช่น ดำรงตำแหน่งครบ 1 วาระ จากนั้นเว้น 1 วาระ เมื่อกลับมาดำรงตำแหน่งใหม่อีก ก็ไม่ให้เริ่มนับ 1 ใหม่ แต่ให้นับต่อเนื่อง โดยรวมกันแล้วจะเกินกว่า 8 ปีไม่ได้

รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ว่า ให้มีผลบังคับย้อนหลังไปหรือไม่ แต่โดยหลักแล้วกฎหมายจะมีผลบังคับย้อนหลังที่เป็นโทษต่อบุคคลไม่ได้ แต่บรรดา ส.ส.ฝ่ายค้าน นักวิชาการที่ไม่เอารัฐบาล ดูเหมือนยืนกระต่ายขาเดียวกันหมดว่า ต้องให้มีผลย้อนหลังไปก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ ดังนั้น นายกฯต้องไปสถานเดียว แต่ความเป็นจริงจะต้องมีการตีความว่า จะสามารถให้มีผลย้อนหลังได้หรือไม่

มีบางคนไปนำเอากรณี คุณสิระ เจนจาคะ มาเทียบเคียง คุณสิระ ถูกร้องว่า เคยต้องโทษคดีฉ้อโกง อันเป็นคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับตำแหน่ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คุณสิระ พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ไม่ใช่ตั้งแต่วันที่ถูกร้อง แต่ให้ย้อนหลังไปถึงวันที่ได้ตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งเท่ากับว่า คุณสิระไม่เคยเป็น ส.ส.มาเลยนั่นเอง

แต่กรณี คุณสิระ ไม่ได้เป็นการใช้กฎหมายบังคับย้อนหลัง เพราะในวันที่คุณสิระสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่ง ส.ส. คุณสิระขาดคุณสมบัติที่จะเป็น ส.ส.แล้วตามรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังบังคับใช้ขณะนั้น ซึ่งก็เป็นฉบับเดียวกับฉบับปัจจุบัน ดังนั้น กรณีของคุณสิระ จึงเป็นคนละกรณีกับ พลเอก ประยุทธ์ ซึ่งนำมาเทียบเคียงกันไม่ได้โดยสิ้นเชิง

เป็นไปไม่ได้ว่า จะไม่มีใครมองออกว่า การตีความมีความเป็นไปได้ 3 ทาง อย่างที่มีการวิเคราะห์กัน แต่ที่ฝ่ายค้านทั้งหลายดึงดันว่าต้องออกสถานเดียว ก็เพื่อจะสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ไม่ต้องการหรือไม่มีเวลาอ่านกฎหมาย หรือสาวกที่พร้อมจะเชื่อทุกอย่างที่บอกโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลและข้อกฎหมาย ทำให้ความเชื่อแบบนี้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพื่อสร้างบรรยากาศเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ม็อบทั้งหลายที่พยายามก่อขึ้นในช่วงนี้กลับจุดไม่ติด ไม่ว่าจะกลุ่มใด จัดที่ไหน ล้วนมีคนมาร่วมโหรงเหรงหรอมแหรมทั้งสิ้น ทั้งยังจัดพิธีกรรมสาปแช่งที่ไร้สาระ พวกทะลุแก๊สก็ยังไม่วายป่วนเมือง ณ จุดเดิมคือสามเหลี่ยมดินแดง แต่ก็มีคนเพียงหยิบมือเดียว ไม่มีพลังใดๆ ทั้งสิ้น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น คงไม่ใช่เป็นเพราะประชาชนที่ไม่ชอบ พลเอก ประยุทธ์ เกิดเปลี่ยนใจ หรือเห็นใจท่านขึ้นมาอย่างกะทันหัน แต่คงเป็นเพราะประชาชนที่มีความคิดเขาเบื่อหน่ายความไร้สาระของม็อบ และเขาไม่รู้ว่าจะไปร่วมชุมนุมเพื่ออะไร สู้รอดูผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดีกว่า

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมากให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ไม่ได้หมายความว่า นายกรัฐมนตรีได้พ้นจากตำแหน่งแล้ว และที่มติออกมา 5-4 แสดงว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นแตกต่างกัน ดังนั้น ถึงเวลาลงมติ คะแนนเสียงก็คงจะไม่เป็นเอกฉันท์ค่อนข้างแน่

ขณะนี้ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า ผลการวินิจฉัยจะออกมาในแนวทางใดใน 3 แนวทาง แต่คาดได้เพียงว่าผลการวินิจฉัยจะไม่ออกมาอย่างที่ “ฝ่ายแค้น” ออกมาประโคมโหมกันทุกวัน เพราะนั่นไม่ใช่เป็นการประโคมโดยปราศจากอคติ แต่เป็นการตั้งใจไม่ใช้เหตุผลและข้อกฎหมาย แต่เอาผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการเป็นตัวตั้ง แล้วทำให้ผู้อื่นเชื่อตาม ดังนั้น จึงจะต้องผิดหวังอย่างแน่นอน”

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ขบวนการกดดันศาลรัฐธรรมนูญ และชี้นำทางสังคม ของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่า ทำเพื่ออะไร เพราะชัดเจนอยู่แล้ว แต่ที่น่าคิดก็คือ มีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะถ้ามีคนอยู่เบื้องหลัง การเมืองไทยถือว่า อยู่ใน “อันตราย” และไม่ช้าก็เร็ว คนที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง จะใช้ประโยชน์จากกลุ่มไม่เคารพกฎหมายทำอะไรก็ได้ตามที่เขาต้องการ นับว่า “น่ากลัว!”


กำลังโหลดความคิดเห็น