xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ยังไม่บรรจุวาระพิจารณาคดี "บิ๊กโจ๊ก" กับพวก ถูกกล่าวหาปมเส้นเงินเอี่ยวเว็บพนันเข้าที่ประชุม หลังพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พิจารณาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความคืบหน้ากรณี พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะรองหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคลี่คลายคดีเว็บไซต์พนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มาดูแลในคดีนี้ที่แยกเป็นสองสำนวน แถลงข่าวล่าสุดว่า สำนวนที่พาดพิง พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และพวกรวมห้านายนั้น ได้ส่งไปให้สำนักงาน ป.ป.ช.พิจารณา ซึ่ง พลตำรวจตรี จรูญเกียรติระบุว่าได้ประสาน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช.ว่า สำนวนคดีเว็บพนันมินนี่แบ่งเป็นสองสำนวน โดยสำนวนแรกนั้นมีผู้ถูกกล่าวหา 61 คน และเป็นตำรวจ 8 นาย ซึ่งเป็นลูกน้องรอง ผบ.ตร.ถูกกล่าวหารวมอยู่ด้วยนั้น สำนวนนี้ ป.ป.ช.ส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการต่อไปแล้ว

แหล่งข่าวใน ป.ป.ช.กล่าวว่า ส่วนสำนวนที่พนักงานสอบสวนส่งถึง ป.ป.ช.และกล่าวหาว่า พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ และพวกรวมห้านายว่าอาจพัวพันเงินจากเว็บพนันในสำนวนแรกนั้น พนักงานสอบสวน รวมทั้งอัยการขอให้ ป.ป.ช.พิจารณาว่า ป.ป.ช.จะรับไว้ไต่สวนเองหรือส่งคืนกลับให้พนักงานสอบสวนภายใน 30 วันนั้น โดยส่งหนังสือไป ป.ป.ช.ตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 2566

พลตำรวจตรี จรูญเกียรติยังเเถลงด้วยว่า พนักงานสอบสวนต้องการนำกลับมาพิจารณาเพราะเป็นคดีต่อเนื่องกับคดีแรก โดยจะตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เเละ 157 กับรอง ผบ.ตร.และพวก รวมทัังข้อหาฟอกเงินด้วย หาก ป.ป.ช.ส่งสำนวนที่อ้างถึงรอง ผบ.ตร.และพวกกลับคืนมา และพนักงานสอบสวนน่าจะใช้เวลาไม่นานในการสั่งฟ้องเพราะดำเนินการสอบสวนมาระยะหนึ่งเเล้ว แม้นายนิวัติไชยจะเคยบอกว่า ป.ป.ช.รับสำนวนดังกล่าวแล้วและจะตรวจสอบข้อเท็จริงโดยจะเชิญบุคคลและเอกสารมาสอบถามว่ารับผลประโยชน์จากเว็บพนันและได้รับค่าใช้จ่ายจริงหรือไม่นั้น

แหล่งข่าวใน ป.ป.ช.ยังกล่าวว่า กรณีที่ นายนิวัติไชยระบุนั้น เลขาธิการ ป.ป.ช.อาจอ้างถึงอำนาจตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.ป.ปปช. แต่ทราบว่าพนักงานสอบสวนได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้วมีข้อตกลงชั้นต้นว่า หาก ป.ป.ช.จะรับสำนวนที่กล่าวถึง พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์และพวก ไว้พิจารณานั้นต้องดำเนินการตามมาตรา 63 และ 66 แห่ง พ.ร.ป.ปปช. และ ป.ป.ช.ไม่ควรอ้างมาตรา 61 เเห่ง พ.ร.ป.ปปช.เพื่อขอสำนวนที่สองไว้พิจารณาเอง เหตุนี้จะกระทำไม่ได้ ป.ป.ช.ควรใช้มาตรา 63 เเห่ง พ.ร.ป.ปปช. ส่งสำนวนคืนพนักงานสอบสวนตามที่ พลตำรวจตรี จรูญเกียรติกล่าวในการแถลงข่าวครั้งล่าสุดเพื่อความต่อเนื่องของคดี

ทั้งนี้ หากไล่ห้วงเวลานั้นพบว่าพนักงานสอบสวนส่งสำนวนที่กล่าวถึง พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ และพวกมาให้ ป.ป.ช.ลงวันที่ 27 ธ.ค. 2566 แต่วาระการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในเดือน ม.ค.-กลางเดือน ก.พ. 2567 นั้นน่าสังเกตว่าไม่มีการบรรจุวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่อย่างใด และตอนนี้กำลังตรวจสอบว่าหนังสือดังกล่าวที่พนักงานสอบสวน ส่งมาเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 นั้น ฝ่ายใดเป็นผู้รับหนังสือและออกเลขรับหนังสือ

“หากไล่เรียงขั้นตอนการทำงานของ ป.ป.ช.ทั้งหมดตามการพิจารณาการร้องเรียน-สำนวนคดีนั้น ป.ป.ช.จะมีชั้นการทำงาน 6 ระดับ คือ 1. เจ้าของสำนวนพิจารณาคำร้อง-ข้อกล่าวหาว่ามีมูลหรือไม่ 2. ส่งให้ ผอ.ไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 พิจารณา 3. ส่งให้ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.พิจารณา 4. ส่งให้คณะอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 พิจารณา 5. ส่งให้ประธาน ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะบรรจุเข้าวาระการประชุมหรือไม่ 6. เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา

ขั้นตอนเหล่านี้จะใช้เวลานาน เพราะตามหลักกฎหมาย ป.ป.ช.ต้องดำเนินคดีให้แล้วเสร็จภายในสองปี และต่ออายุได้อีกหนึ่งปี รวมสามปี

แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า สิ่งที่เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวไว้ล่าสุดนั้น พบว่ายังไม่มีการบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. ในสำนวนกล่าวถึง พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์และพวก เสนอให้กรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาให้ความเห็นว่าสำนักงาน ป.ป.ช. จะรับสำนวนนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ และการจะระบุว่า ป.ป.ช.จะรับ/ไม่รับวาระดังกล่าวไว้พิจารณานั้น ต้องเป็นมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้น เลขาธิการ/รองเลขาธิการ/ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.หรือ ผอ.สำนักไต่สวนต่างๆ หรือคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.จะระบุว่า ป.ป.ช.มีอำนาจรับ/ไม่รับคำร้องนั้นไว้พิจารณาด้วยตัวเองไม่ได้

"พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ การจะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ ต้องผ่านมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้น"

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทราบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว (27 ธ.ค. 66-11 ม.ค. 67) ที่พนักงานสอบสวนส่งหนังสือมายัง ป.ป.ช. (27 ธ.ค. 66) นั้น ทราบว่า นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ที่หมดวาระในวันที่ 11 ม.ค. 67 เป็นผู้ลงนามรับหนังสือและส่งเข้าสำนักงานไต่สวนภาครัฐ 1 (สตร.1) ป.ป.ช.ที่ดูเเลตำรวจเเละไม่ได้เเจ้งกรรมการ ป.ป.ช.ให้ทราบ เพราะวันที่ 12 ม.ค. 67 นายเอกวิทย์ วัชขวัลคุ ป.ป.ช.คนใหม่มารับหน้าที่ต่อจากนางสาวสุภา จึงไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์มีกำหนดการแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นต่อสื่อมวลชนในวันพรุ่งนี้ (22 ก.พ. 67) เวลา 10.00 น. ที่สโมสรตำรวจ
กำลังโหลดความคิดเห็น