xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.สกสว.ปิดโครงการ ลกส. รุ่นที่ 1 พอใจความสำเร็จเพิ่มความรู้สื่อมวลชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผอ.สกสว.ปิดโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” ยันการสนับสนุนสภาการสื่อมวลชนฯ จัดอบรม สอดคล้องกับพันธกิจของ สกสว. ช่วยยกระดับศักยภาพของสังคมทุกภาคส่วนในการใช้ความรู้และนวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนประเทศ เพิ่มขีดความสามารถสื่อมวลชนและบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ในการรายงานและวิเคราะห์ข่าว ความเคลื่อนไหวในมุมต่างๆ ของระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน และเป็นไปตามหลักจริยธรรมของสื่อ เชื่อพลังในการสื่อสารจะเปลี่ยนสังคมไทยให้ดีขึ้น ประธานกรรมการหลักสูตรระบุ ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่มีความหลากหลายมาก ศาสตร์เดียวเอาไม่อยู่ ต้องเรียนรู้กันตลอดชีวิต ประธานสภาการสื่อฯ ขอบคุณ สกสว.ที่สนับสนุน ซึ่งจะส่งผลให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลสมบูรณ์ขึ้น

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ ได้มีการจัดอบรมโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” ได้จัดให้มีการนำเสนอโครงงานของผู้เข้ารับการอบรม และปิดการอบรมหลักสูตรโครงการดังกล่าว โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ประธานคณะกรรมการหลักสูตร กล่าวปัจฉิมนิเทศว่า ครั้งแรกที่หารือกันในที่ประชุมกรรมการสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เรื่องอยากจะให้ระดมพลคนสื่อมาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ซึ่งตอนนั้นใช้คำว่าโลกาภิวัตน์ กรรมการทุกคนเห็นด้วยอย่างยิ่ง จนทำให้เกิดเป็นวันนี้ขึ้นมา หลังจากนั้นมีการแบ่งกลุ่มย่อย ระดมความเห็นเสนอต่อกรรมการหลักสูตร ด้านการบริหารจัดการ เนื้อหาการอบรม การจัดทำรายงานกลุ่ม การศึกษาดูงาน การนำความรู้ประสบการณ์ไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงต่อไป ส่วนช่วงบ่ายมีการนำเสนอโครงงานกลุ่มของผู้เข้ารับการอบรม 

กลุ่มที่ 1 ศักยภาพผู้สูงอายุไทยที่ไม่มีวัน…เกษียณ แก้โจทย์แรงงานไทย หยุดตีกรอบวัยทำงาน สร้างทางเลือกหลังเกษียณ

กลุ่มที่ 2 โอกาสและการขับเคลื่อน SOFT POWER ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงไทย 

กลุ่มที่ 3 วิกฤตการเกิด เรื่องกำเนิด…ใครกำหนด?

กลุ่มที่ 4 PM 2.5 วิกฤตฝุ่นพิษ “ข้ามแดน” ปัญหาไร้ทางออก? 


กลุ่มที่ 5 ผีน้อยส่งออก “Made in Thailand” ผลผลิตจากสังคมไทยไร้โอกาส 

ซึ่งทั้ง 5 กลุ่มได้นำเสนอให้อาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และปรับปรุงแก้ไขมาก่อนหน้านี้ โดยวันนี้กรรมการหลักสูตรและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวปิดการอบรมว่า ในนามสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติมาเป็นประธานปิดการอบรมโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง: โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” ซึ่งจัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติร่วมกับ สกสว.ในวันนี้

ผู้อำนวยการ สกสว.กล่าวว่า สกสว.เป็นองค์กรที่มุ่งยกระดับศักยภาพและขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน.ของประเทศ เพื่อส่งมอบคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน รวมถึงผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว การสนับสนุนสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจัดหลักสูตรอบรมในครั้งนี้จึงถือว่าสอดคล้องกับพันธกิจของ สกสว. ในการที่จะช่วยยกระดับศักยภาพของสังคมทุกภาคส่วนในการใช้ความรู้และนวัตกรรมร่วมขับเคลื่อนประเทศ โดยที่สื่อมวลชนไทย ในฐานะที่ท่านมีหน้าที่สำคัญในการเป็นสื่อกลางให้ข้อมูลความรู้แก่สังคม สามารถเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและระเบียบโลก สภาการสื่อมวลชนฯ สามารถเป็นสื่อกลางให้สื่อมวลชนไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสื่อมวลชนและบุคลากรในหน่วยงาน ในการรายงานและวิเคราะห์ข่าว ความเคลื่อนไหวในมุมต่างๆ ของระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และเป็นไปตามหลักจริยธรรมของสื่อมวลชน อีกทั้งเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสื่อมวลชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผอ.สกสว.กล่าวต่อว่า ส่วนตัวชอบทำงานกับคนรุ่นใหม่ อนาคตของประเทศ ซึ่งทั้ง 5 หัวข้อเลือกมาเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและมีความหมายต่อประเทศ ดีใจที่ทุกคนได้มีโอกาสสืบค้นข้อมูล สื่อมวลชนกับนักวิจัยมีส่วนคล้ายๆ กัน คือ สืบค้นข้อมูล วิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล และการสื่อสาร ว่าสิ่งที่ได้จากข้อมูลคืออะไร แต่สิ่งที่ต่างกันมากๆ คือนักวิชาการอาจเข้าถึงยากกำลังพูดหรือเขียนอะไร แต่สื่อมวลชนมีทั้งศาสตร์และศิลป์น่าจะเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่จะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ตนเชื่อพลังของการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ที่เมื่อก่อนเปลี่ยนโลก สร้างแรงบันดาลใจได้ ยุคสมัยผ่านไปวรรณกรรมอาจอยู่เฉพาะคนบางกลุ่ม แต่สื่อมวลชน คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายกว่า แล้วสื่อมวลชนจะสื่อสารเรื่องอะไร กรณีแบบนี้สื่อมวลชนอาจยากกว่านักวิชาการ งานวิจัยนักวิชาการจบ 1 เรื่อง แต่การทำความเข้าใจกับสาธารณะต้องบูรณาการหลายเรื่องถึงแก้ปัญหาได้ จะเห็นภาพเชิงระบบเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะและทางออกที่ดีกว่า สื่อมวลชนมีบทบาทช่วยได้มากในเรื่องนี้ ถ้าจะสร้างสังคมที่ดีกว่า คือการสร้างปัญญา การหาข้อเสนอหรือทางออก นักวิชาการกับสื่อจึงควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในการนำข้อมูลที่น่าสนใจและข้อมูลเชิงลึกต่างๆ เสนอให้สาธารณะรับทราบ

ผอ.สกสว.กล่าวอีกว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านจะได้นำความรู้และประสบการณ์อันมีคุณค่าไปใช้ในการรายงานข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน พร้อมกันนี้ ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลจากการรายงานผลงานกลุ่มทุกท่าน และหวังว่าจะมีการเผยแพร่ผลงานดังกล่าวต่อสาธารณชนหรือภาคนโยบาย เพื่อร่วมกันสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศในประเด็นที่ท้าทายภายใต้ระเบียบโลกใหม่ และหวังว่าสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติจะจัดการอบรมหลักสูตรที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง เราอาจจะมาช่วยกันวิเคราะห์สถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลและเลือกหัวข้อสำหรับการจัดอบรมในครั้งต่อๆ ไป

ผอ.สกสว.กล่าวว่า สกสว.เป็นหน่วยงานบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติตั้งใจจะเพิ่มองค์ความรู้ด้านโลกาภิวัตน์หรือความเปลี่ยนแปลงของโลกให้แก่สื่อมวลชนไทยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยมีความรอบด้านและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่สะท้อนได้อย่างดีว่าผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่คือ ผลงานที่ผู้เข้ารับการอบรมผลิตตามที่หลักสูตรมอบหมาย “ต้องขอบคุณทาง สกสว.เป็นอย่างมากที่เข้าใจและให้ความสำคัญต่อโครงการนี้ เชื่อว่าการสนับสนุนจาก สกสว.จะเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมงานที่เป็นรูปธรรมในการเสริมสร้างความรู้และศักยภาพของสื่อมวลชนไทย ซึ่งผลที่ตามมาคือ การที่สาธารณชนจะได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนที่สมบูรณ์มากขึ้น” ประธานสภาการสื่อมวลชนฯ กล่าว




















กำลังโหลดความคิดเห็น