"เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์" ประกาศความพร้อมเตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 60 ล้านหุ้น เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ปีนี้ ระดมทุนขยายสาขาใหม่ที่สุวรรณภูมิ-พระราม 9 และสาขาย่อยในต่างจังหวัด เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้มีปัญหามีบุตรยากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในอนาคต
นายกรพัส อัจฉริยมานีกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (GFC) เปิดเผยว่า GFC เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการทางการแพทย์ สำหรับผู้มีปัญหามีบุตรยากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ของประเทศไทย ตั้งแต่ให้คำแนะนำและคำปรึกษา ตลอดจนการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดย GFC เป็นผู้ประกอบการธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยากรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดย GFC มีบริษัทย่อย 2 บริษัท (กลุ่มบริษัท) ที่ถือหุ้น 99.99% ได้แก่ 1) บริษัท จีโนโซมิกส์ จำกัด (GSM) ดำเนินธุรกิจการให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS ) และ 2) บริษัท จีเอฟซี เฟอร์ทิลีตี กรุ๊ป จำกัด (GFCFG) เป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company) จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในกิจการอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 160 ล้านหุ้น มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิ
สำหรับธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) การให้บริการตรวจเบื้องต้นก่อนให้คำแนะนำหรือรักษา 2) การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IUI (Intrauterine insemination) 3) การให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) 4) การให้บริการตรวจพันธุกรรมของตัวอ่อน (Next generation sequencing : NGS) และ 5) การให้บริการแช่แข็งไข่และการฝากไข่ สำหรับลูกค้าของกลุ่มบริษัทฯ ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าผู้ที่วางแผนการมีบุตรในอนาคต กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยที่สนใจอยากมีบุตร กลุ่มลูกค้าคู่สมรสคนไทยกับชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร และกลุ่มลูกค้าคู่สมรสชาวต่างชาติที่สนใจอยากมีบุตร
“จุดเด่นของ GFC คือการเป็นศูนย์รวมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีชั้นนำด้านการเจริญพันธุ์เพื่อผู้หญิงยุคใหม่ และคู่สมรสที่ปรารถนาอยากมีบุตรที่สมบูรณ์ แข็งแรง มาเติมเต็มความสุขของครอบครัว จากแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวชและเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ที่มีประสบการณ์ด้านการให้บริการทางการแพทย์ผู้มีปัญหามีบุตรยากมากกว่า 23 ปี ขณะเดียวกัน GFC มีการนำเทคโนโลยี Early Embryo Viability Assessment (EEVA) ซึ่งเป็นการนำระบบ AI จากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วยประเมินตัวอ่อน ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทยในปี 2563 โดยได้พัฒนาให้สามารถแสดงผลข้อมูลเกี่ยวกับตัวอ่อน และวิเคราะห์คุณภาพของตัวอ่อนอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ”
สำหรับวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ใช้ลงทุนขยายคลินิก GFC สาขาสุวรรณภูมิ-พระราม 9 ตลอดจนการลงทุนในสาขาย่อยอื่นๆ ตามพื้นที่ต่างจังหวัด ที่มีศักยภาพและมีฐานลูกค้าผู้มีบุตรยาก เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการเพิ่มศูนย์ฝึกอบรม นักเทคนิคการแพทย์ ให้สอดคล้องกับการขยายตัวของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวสำหรับรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เข้ารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากทั้งชาวไทยและที่เป็นชาวต่างชาติในอนาคต
ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน ที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และยึดมั่นในหลักจริยธรรม และด้วยศักยภาพจุดแข็งทางธุรกิจ ยิ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จของ GFC ที่จะมุ่งสู่การเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีบุตรยาก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่ดีที่สุด ภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2560 ถึง พ.ศ.2569) ของภาครัฐบาล โดยมีเป้าหมายในการพัฒนา 4 ผลผลิตหลัก ได้แก่ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการสุขภาพ (Medical Service Hub) ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub) และศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (Product Hub) จะยิ่งส่งผลกระทบเชิงบวกและเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัท GFC จากการให้บริการรักษาภาวะมีบุตรยากรวมถึงชาวต่างชาติในอนาคต
"ปัจจุบันภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาที่พบบ่อยขึ้น และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคู่สามี-ภรรยายุคใหม่ทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษา ทำให้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์เข้ามามีบทบาทกับคู่สามี-ภรรยาในปัจจุบันมากขึ้น โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากเกิดจากหลากหลายปัจจัย เช่น ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือแต่งงานและมีบุตรลูกช้าลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนแต่เป็นสาเหตุที่เกิดภาวะการมีบุตรยากทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญที่การตอบโจทย์ของกลุ่มผู้ที่มีบุตรยาก" นายกรพัส CEO กล่าว