จากกรณีรถเมล์ปรับอากาศสีฟ้า (NGV) ยี่ห้อ BONLUCK รุ่น JXK6120L จำนวน 486 คันขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประสบปัญหาจอดเสียหรือถูกตัดจอดตามเขตเดินรถต่างๆ ทำให้รถเมล์ขาดระยะสร้างความเดือดร้องให้คนกรุงเทพฯ อย่างสาหัส เนื่องจากบริษัทผู้ชนะประมูลผิดสัญญาไม่ชำระค่าซ่อมและไม่มีอะไหล่ หรือถ้ามีก็หายากทำให้ไม่สามารถซ่อมรถที่ถูกตัดจอดได้ ส่งผลให้ ขสมก.ต้องแก้ปัญหาโดยนำรถโดยสารธรรมดา (ครีมแดง) และรถปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู) จากสายอื่นมาให้บริการประชาชนทดแทนไปก่อนนั้น
ล่าสุดเพจ Bangkokbusclub.com ชุมชนคนรักรถเมล์ ได้เปิดผล BusClubPoll เรื่อง “คุณคิดว่ารถเมล์รุ่นใดจะถูกปลดระวางเป็นลำดับถัดไป ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เกือบ 80% เตรียมบอกลารถฟ้าบอนลัค โดยระบุว่าเนื่องจากรถบอนลัคเกือบจะจากไป 2 รอบแล้ว แต่ละรอบกลับมารถยิ่งน้อยลงกว่าเดิม ทำให้ยิ่งถูกลดความน่าเชื่อถือลงเรื่อยๆ จนเสียงส่วนใหญ่มองว่าน่าจะจากไปก่อนรถแดง และเป็นเวลาเดือนกว่าแล้วที่รถบอลลัคส่วนใหญ่หายไปจากท้องถนน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเพิ่มเติมว่าตกลงรถอยู่ในสถานะไหน จะมีการซ่อมหรือไม่ ใครจะรับผิดชอบ
แหล่งข่าวภายใน ขสมก.แจ้งว่า ภายในสัปดาห์นี้ ขสมก.จะเชิญกลุ่มร่วมทำงาน SCH-CHO โดย บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) มาพบเพื่อบอกเลิกสัญญาทั้งหมด เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามสัญญา ไม่สามารถส่งมอบรถในสภาพที่พร้อมให้บริการตามสัญญาเหมาซ่อมได้ ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ทั้งยังทำให้ ขสมก.เกิดความเสียหายทั้งภาพลักษณ์และทำให้ขาดรายได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แสดงความห่วงใยต่อปัญหาดังกล่าว อยากให้ ขสมก.เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ และไม่ต้องการให้รถ NGV ทั้ง 486 คันต้องจอดทิ้งเสียของเสียดายเงินงบประมาณแผ่นดินจากหยาดเหงื่อประชาชนไปโดยไร้ประโยชน์
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ ขสมก.ต้องทบทวนว่าหากจะมีการจัดซื้อรถเมล์พลังงานไฟฟ้า 100% เพื่อทดแทนรถเมล์เก่าที่จะปลดระวาง การจัดทำร่างขอบเขตและรายละเอียดของงาน หรือ TOR ควรกำหนดให้รอบคอบรัดกุม เพื่อให้ได้บริษัทที่เป็นมืออาชีพผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพมีชื่อเสียง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีศักยภาพมีความสามารถรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันที ที่สำคัญต้องไม่ใช่รถดัดแปลงประกอบขึ้นมาเองโดยที่เจ้าของแบรนด์ไม่รับผิดชอบ รวมทั้ง TOR ต้องมีการตั้งค่าปรับสูงๆ ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทที่ไร้คุณสมบัตินำเข้ารถโนเนมราคาถูกๆ มาหลอกขายราชการไทยซ้ำรอยรถสีฟ้าของ ขสมก. และถ้าในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา ขสมก.ต้องขึ้นแบล็กลิสต์อย่างเด็ดขาดสถานเดียว
“ยกตัวอย่าง TOR ของโครงการพัฒนาระบบการเดินรถด่วนพิเศษ (BRT) รุ่นใหม่ ของกรุงเทพมหานคร ที่เปลี่ยนมาใช้รถบัสพลังงานไฟฟ้า ใน TOR มีการระบุว่าต้องเป็นรถไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย และผลิตขึ้นใหม่ไม่เป็นรถที่นำมาดัดแปลงตัดปะตัวถังภายใน โครงสร้างแชสซีส์ไปจนถึงตัวถังต้องชุบเคลือบผิวด้วยระบบไฟฟ้า (EDP) มองว่าเป็นการกำหนด TOR ที่ดี แต่เพื่อเป็นการการันตีว่าการประมูลงานจัดซื้อหรือเช่ารถพลังงานไฟฟ้าครั้งต่อไปจะไม่มีปัญหาภายหลัง หน่วยราชการควรกำหนด TOR เพิ่มเติมเรื่องของมาตรฐานและผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับจดทะเบียนจากกรมการขนส่งทางบกมีวิ่งอยู่บนท้องถนนแล้วอย่างต่ำ 1,000 คัน ไม่ใช่นำเข้ารถโนเนมเหมือนกรณีรถ NGV ขสมก. และส่วนประกอบสำคัญที่สุดของรถพลังงานไฟฟ้าคือแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต้องผลิตภายในประเทศเท่านั้น รัฐบาลหรือหน่วยงานราชการไทยจะต้องรู้เท่าทันพ่อค้าหัวใส อย่าปล่อยให้งบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีของประชาชนสูญเสียไปโดยไร้ประโยชน์ เหมือนกรณีรถเมล์ไทยสีฟ้าถือเป็นกรณีตัวอย่างที่หน่วยงานของรัฐที่กำลังจะจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้องดูไว้ เพื่อจะได้ไม่ประสบปัญหาจัดซื้อจัดจ้างมาแล้วใช้การไม่ได้ต้องจอดทิ้งไว้เนื่องจากไม่มีอะไหล่และไม่มีช่างซ่อมบำรุง ทั้งยังเป็นปัญหาฟ้องกันอุตลุดเช่นเดียวกับที่ ขสมก.กำลังเผชิญ" แหล่งข่าวระบุ