1."อสส.-ปอท." ประสานเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขออายัดตัว "ทักษิณ" เพื่อแจ้งข้อหา ม.112 แต่เรือนจำยังเงียบ ด้าน "ทวี" ไม่พูดเรื่องอายัดตัว แต่บอก 12 ก.พ.นี้ รู้จะได้พักโทษหรือไม่!
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. รายงานข่าวแจ้งว่า เฟซบุ๊ก "วิรังรอง ทัพพะรังสี" ของนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ได้โพสต์หนังสือ 2 ฉบับ แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
โดยฉบับแรก เป็นเอกสารลับจากสำนักงานอัยการสูงสุด ลงวันที่ 18 มกราคม 2567 ระบุว่า สํานักงานอัยการสูงสุดได้ดําเนินการตรวจสอบข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีนายทักษิณ ชินวัตร แล้ว ขอแจ้งข้อเท็จจริง ดังนี้
1.กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ส่งสํานวนการสอบสวนในรายของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ไปยังพนักงานอัยการที่มีอํานาจพิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 2.อัยการสูงสุดได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดทั้งสองข้อหาไว้แล้ว เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559
ขณะนี้ผู้ต้องหาถูกจําคุกตามคําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง อยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ประสานไปยังเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร ขอให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเข้าไปดําเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับแจ้งจากเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานครให้เข้าไปในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร หรือสถานที่ที่ผู้ต้องหาถูกจําคุกอยู่เพื่อดําเนินการดังกล่าวได้ กรณีมีเหตุขัดข้องทําให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการยังไม่อาจแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาดังกล่าวได้ *พนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งการอายัดตัวผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าวแล้ว* และประสานงานขอให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคําผู้ต้องหาในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานครโดยเร่งด่วน เมื่อได้รับแจ้งกําหนดวันเวลาและสถานที่จากเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะเข้าร่วมทําการสอบสวนต่อไป
อีกฉบับหนึ่ง เป็นหนังสือจาก พ.ต.อ.ทองศูนย์ อุ่นวงศ์ รองผู้บังคับการฯ ปฏิบัติราชการแทนผู้บังคับการ ปอท. แจ้งว่า บก.ปอท.ได้มีการดําเนินคดีกับผู้ต้องหานายทักษิณ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์จริง ซึ่งเป็นคดีที่กล่าวหาว่ามีการกระทําความผิดตามกฎหมายไทย ได้กระทําลงนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคนหนึ่งคนใดใน บก.ปอท.ทําการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการสํานักงานการสอบสวน และให้ผู้บังคับการ ปอท.หรือผู้รักษาการแทน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้สอบสวนคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นและส่งสํานวนการสอบสวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว
ต่อมา หลังจากที่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหา *พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการสอบสวนเพื่อจัดเตรียมเอกสารสําหรับการแจ้งข้อกล่าวหาและการสอบสวนปากคํา* โดยมีหนังสือแจ้งการอายัดตัวผู้ต้องหาไปยังเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร พร้อมกับประสานงานขอให้พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคําผู้ต้องหา ซึ่งเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานครแจ้งว่า ผู้ต้องหามีอาการเจ็บป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตํารวจ กรณีดังกล่าว หากได้รับการแจ้งประสานจากเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานครถึงความพร้อมเมื่อใด พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนจะเข้าทําการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคําผู้ต้องหาโดยทันที
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ถึงกรณีนายทักษิณ ผู้ต้องขังเด็ดขาด ที่นอนรักษาอาการป่วยที่ รพ.ตำรวจ อาจได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ หลังมีคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป และราชทัณฑ์ควบคุมตัวครบกำหนดต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน ในวันที่ 18 ก.พ.67 มีการลงนามแล้วหรือยังว่า ราชทัณฑ์ยังไม่ส่งเรื่องมากระทรวงยุติธรรม แต่ตามปกติจะมีการประชุมเดือนละครั้ง และจะส่งรายชื่อผู้ต้องขังเสนอขึ้นมายัง รมว.ยุติธรรม ทั้งกรณีพักโทษปกติและพักโทษกรณีพิเศษ ประมาณ 1,000 คนต่อเดือน แต่ขณะนี้เรื่องยังไม่ถึง คาดว่าภายในวันจันทร์ที่ 12 ก.พ.นี้ โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบเพราะเป็นเรื่องสำคัญ
ถามต่อว่า กรณีนายวัชระ เพชรทอง อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่า นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้นอนรักษาตัว รพ.ตำรวจ แต่พักอยู่สถานที่ 3 แห่งภายนอก พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า กรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานวิชาชีพและชี้แจงมาตลอด แต่การพูดครั้งนี้อาจเป็นการลดทอน ทำให้หน่วยงานไม่น่าเชื่อถือ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนเรื่องอัยการมีการอายัดตัวนายทักษิณ คดี ม.112 มีการประสานเรื่องมากระทรวงยุติธรรมหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การพักโทษและการอายัดตัวเป็นคนละประเด็นกัน เนื่องจากการอายัดเป็นเรื่องของอัยการ ต้องถามทางอัยการ
ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวนายทักษิณ อาจได้รับการพักโทษปล่อยตัวในวันที่ 18 ก.พ.นี้ว่า ยังไม่ได้รับการประสานจากทางกรมราชทัณฑ์ และ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ว่ามีรายชื่อคุณพ่อหรือไม่ "หวังว่าจะมีชื่อนะคะ แต่ยังไม่ทราบ ยังไม่เห็นเหมือนกันค่ะ"
เมื่อถามว่า ขั้นตอนในการขอพักโทษ ทางครอบครัวเป็นผู้ขอด้วยหรือไม่ หรือเป็นขั้นตอนที่กระทรวงยุติธรรมดำเนินการเอง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ต้องดูว่าเข้าเกณฑ์ไหม อันนี้ไม่ทราบคุณพ่อเป็นคนทำเอง ครอบครัวไม่ได้ทำ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าชื่อจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ ทางครอบครัวก็แค่เตรียมความพร้อมที่บ้านเฉยๆ เพราะอยากให้ออกมาตลอดอยู่แล้ว นี่ก็เตรียมตั้งแต่คุณพ่อกลับมาถึงเมืองไทยแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเตรียม โดยเป็นการเตรียมที่บ้านจันทร์ส่องหล้าไว้ ซึ่งบ้านที่อยู่ด้วยกันขณะนี้อยู่กันหลายครอบครัว ก็ไม่ทราบว่าจะยังไง แต่ก็คิดว่าจะได้อยู่ด้วยกัน
น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวถึงการต่อสู้คดี มาตรา 112 ที่อัยการสูงขออายัดตัวนายทักษิณว่า คดีนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของอัยการอยู่ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ หากได้รับการปล่อยตัวแล้ว ยังเหลือคดีอีก 1 คดี ที่ยังต้องรอการพิจารณาอยู่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า "กังวล จนไม่กังวลแล้วค่ะ"
2.สังคมสวดยับ "ตะวัน-เพื่อน" พฤติกรรมเลวร้าย บีบแตรป่วนขบวนเสด็จฯ จี้ถอนประกัน-สอบจริยธรรม "พิธา" ด้าน ตร.พร้อมออกหมายจับหาก “ตะวัน-เพื่อน” ไม่มารับทราบข้อกล่าวหา!
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.เวลาประมาณ 18.20 น. ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจถวายความปลอดภัยภารกิจ 095 และตลอดภารกิจมีการปล่อยรถประชาชนร่วมในเส้นทางนั้น มีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อเอ็มจี รุ่นนิวเอ็มจี 3 สีขาว ทะเบียน 8 กจ 1711 กรุงเทพมหานคร มีชายไม่ทราบชื่อเป็นผู้ขับขี่ และหญิงนั่งด้านข้างคนขับขี่ ทราบชื่อภายหลังคือ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี แกนนำกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหามาตรา 112
ซึ่งมีพฤติการณ์คือ บีบแตรรถยนต์ลากยาวระหว่างขบวน 095 เสด็จผ่านทางร่วมต่างระดับมักกะสัน และขับรถยนต์ด้วยความเร็วเพื่อไปให้ทันขบวน 095 แต่เมื่อมาถึงบริเวณทางลงด่วนพหลโยธิน 1 (ทางลงด่วนอนุสาวรีย์ชัยฯ) เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่รถปิดท้ายได้สกัดกั้นไม่ให้รถยนต์คันดังกล่าวลงไปร่วมกับขบวน 095 ได้ จึงปรากฏคลิปที่ น.ส.ทานตะวัน แสดงความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ที่มาสกัดกั้น นอกจากนี้ น.ส.ทานตะวัน ยังพยายามดิสเครดิตขบวนเสด็จด้วยข้อความที่ไม่จริง
สำหรับ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 20 ปี เป็นบุตรของนายสมหมาย ตัวตุลานนท์ และนางกาหลง ตัวตุลานนท์ ก่อนหน้านี้เจ้าตัวให้สัมภาษณ์สื่อที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหลายสำนักว่า สมัยที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ไปสอบเทียบวุฒิมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ GED และใช้ผลสอบไปเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์ปิดการเรียนการสอน จึงกลับมายังประเทศไทย และเรียนออนไลน์แทน กระทั่งเห็นข่าวพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จึงศึกษาเรื่องการเมืองแล้วไปร่วมชุมนุมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา
กระทั่งไปสมัครเป็นการ์ดให้กับกลุ่มวีโว่ (WeVo) ของนายปิยะรัฐ จงเทพ และมีคนชวนไปร่วมกับกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ของนายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เริ่มจากเคลื่อนไหวประเด็นการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หายตัวไปที่ประเทศกัมพูชา ต่อมา เมื่อทำกิจกรรมการเมืองมากๆ ไม่มีเวลาเรียนออนไลน์ จึงตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเจ้าตัวอ้างว่ากำลังรอสอบเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ยังไม่พบหลักฐานว่า เจ้าตัวสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแต่อย่างใด และการเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถ้ามีวุฒิการศึกษา ม.6 หรือเทียบเท่าขึ้นไปสามารถสมัครได้เลย ไม่ต้องสอบเข้าใดๆ
ตะวันเคยถูกจับกุมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกกรณีทำโพลติดสติกเกอร์เรื่องขบวนเสด็จที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 แต่ได้รับการประกันตัว ต่อมาถูกดำเนินคดีกรณีเฟซบุ๊กไลฟ์รอรับขบวนเสด็จ บริเวณถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 และได้รับการประกันตัวเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ตะวันโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 และมีพฤติกรรมขับรถเข้าใกล้พื้นที่รับเสด็จ ก่อนที่วันที่ 20 เม.ย.2566 ศาลได้สั่งเพิกถอนการประกันตัว และนำตัวส่งเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง ระหว่างนั้นตะวันอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 37 วัน ก่อนที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เป็นนายประกันให้กับตะวัน และได้รับการประกันตัว โดยศาลสั่งให้นายพิธาเป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติของจำเลย มีอำนาจในการว่ากล่าวตักเตือนและควบคุมมิให้จำเลยกระทำผิดเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด หากมีการกระทำผิดเงื่อนไขถือว่าผู้ร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผิดสัญญาประกัน
ครั้งหนึ่ง นายพิธาถึงกับกล่าวยกย่องตะวันในสภาฯ ว่า "ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวันและคุณแบม (น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์) ผมมองตาตะวันแล้วเห็นพิพิมลูกสาวของผมอยู่ในนั้น" อีกทั้งตะวันและแบม ได้รับรางวัล The People Awards 2023 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบแก่คน 10 คนที่มีส่วนในการทำให้โลกในวันพรุ่งนี้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจัดโดยเว็บไซต์ The People ซึ่งขณะนั้นมีเสียงวิจารณ์ถึงความเหมาะสม เพราะพฤติกรรมที่ผ่านมาสวนทางกับพฤติกรรมทำลายข้าวของและทรัพย์สินราชการ และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว หยาบคายภายใน สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2566 โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงห้ามปรามอย่างใจเย็น
สำหรับพฤติกรรมของนายพิธา ที่เป็นนายประกันให้กับตะวัน และเป็นผู้กำกับดูแลความประพฤติของตะวันนั้น สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 ที่พบว่านายพิธาและพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกมาตรา 112 โดยการเข้าร่วมการชุมนุมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นนายประกันให้ผู้ต้องหามาตรา 112 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนายพิธา และเคยแสดงความคิดเห็นทั้งให้แก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ น.ส.ทานตะวันป่วนขบวนเสด็จฯ ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของ น.ส.ทานตะวัน รวมทั้งการไม่ควบคุมดูแลของนายพิธา ในฐานะนายประกันอย่างกว้างขวาง โดยนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการกระทำของ น.ส.ทานตะวัน ว่า "ผมถือเป็นพฤติกรรมหาเรื่อง ซึ่งเป็นคนที่เนรคุณต่อแผ่นดิน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องหล่อเรื่องเก่งนะครับ มันเป็นเรื่องที่ไประคายเคืองสถาบันหลักของประเทศ มันไม่ใช่เขามีทางให้ไปแต่ไม่ไปเอง ก่อกวน เป็นพฤติกรรมที่ก่อกวนและตั้งใจ ไม่ใช่ขบวนเสด็จฯ จะไปขวางเขาซะเมื่อไหร่ ตามรูปที่ดูจากคลิปก็หลบอยู่ทางฝั่งขวา ทางซ้ายไปได้ แต่นี่คือพฤติกรรมหาเรื่อง เป็นสิ่งที่ไม่งาม ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง" พฤติกรรมแบบนี้ใช้ไม่ได้ และตนคงไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นอีก ไม่ยอมแล้ว มีปัญหาแน่ ไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับผืนแผ่นดินไทยแน่นอน
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ออกมาประณามการกระทำของ น.ส.ทานตะวันที่ป่วนขบวนเสด็จฯ โดยระบุว่า เป็นการกระทำและคำพูดที่กระทบความรู้สึกของประชาชน และการกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการกระทำที่เลวร้ายที่สุด
"กระบวนการต่อจากนี้ เจ้าหน้าที่จะต้องแจ้งพฤติกรรมเหล่านี้ให้ศาลได้ทราบ เพราะมีความชัดเจนในเรื่องการผิดเงื่อนไขในการประกันตัว และขอเรียกร้องให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะเป็นผู้ใกล้ชิดผูกพันกับบุคคลดังกล่าว มีหน้าที่ต้องดูแล ต้องรับผิดชอบด้วย และเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องจัดการขั้นเด็ดขาดเช่นกัน ไม่เช่นนั้น กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะไม่สำนึก กระทำความผิดซ้ำ สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมืองอย่างไม่จบสิ้น"
ขณะที่นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปกองบัญชาการตำรวจนครบาล ขอให้ผู้บัญชาการตํารวจนครบาลแต่งตั้งคณะทํางานตรวจสอบและพิจารณาการกระทําของ น.ส.ทานตะวันว่า เข้าข่ายคุกคามอาฆาตมาดร้ายตามมาตรา 112 และ 113 หรือไม่ รวมถึงขอให้มีการพิจารณาและวินิจฉัยให้เจ้าหน้าที่ตํารวจที่เกี่ยวข้องประสานไปยังศาลยุติธรรมว่า การกระทําดังกล่าวผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวด้วยหรือไม่ เพื่อนําไปสู่การเพิกถอนการประกันตัว
ด้านแนวร่วมเพจ ‘วันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร‘ ประกอบด้วย นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เพื่อขอให้สอบจริยธรรมที่มีความร้ายแรงของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายประกันและผู้กำกับดูแล น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน แกนนำกลุ่มทะลุวัง ในการกระทำอันเป็นการแสดงพฤติกรรมมิบังควรต่อขบวนเสด็จฯ การให้สัมภาษณ์ให้ร้ายประเทศไทย และการพูดโกหก
โดยนายแทนคุณ กล่าวว่า เนื่องจากนายพิธาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนายประกันและผู้กำกับดูแลนางสาวทานตะวัน ผู้ต้องหาตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมีพฤติกรรมเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง จนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย... ดังนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย และจริยธรรม รวมทั้งพฤติการณ์ที่ชอบพูดโกหกซ้ำซาก และการสัมภาษณ์ในลักษณะให้ร้ายประเทศของนายพิธาหลายเรื่อง ที่กระทบต่อศีลธรรม และภาพลักษณ์อันดีของสภาผู้แทนราษฎร เช่น การให้สัมภาษณ์หลังศาลรัฐธรรมบูญมีคำวินิจฉัยต่อสื่อต่างประเทศ การกลับมางานศพพ่อไม่ทัน การติดสติกเกอร์ช่องยกเลิก ม.112 การวาดภาพลอกเลียนแบบงานของโมเนต์ เป็นต้น รวมทั้งการนำเด็กเยาวชนขึ้นเวทีปราศรัย ในลักษณะมีข้อความเกลียดชังอีกด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสมกับเยาวชนและประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด (10 ก.พ.) พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความใน X (ทวิตเตอร์) โดยอ้างว่า นายพิธาไม่ได้เป็นนายประกันให้กับ น.ส.ทานตะวันแล้ว “ขอชี้แจงว่า แม้ปัจจุบัน ในแง่กฎหมาย พิธาไม่ได้เป็นนายประกันของคุณทานตะวัน เนื่องจากคุณทานตะวันยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวเองเมื่อต้นปี 2566 แต่พรรคก้าวไกลและพิธา ในฐานะนักการเมืองและในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีความห่วงใยบ้านเมืองและอนาคตของคนรุ่นใหม่ รู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“พรรคก้าวไกลทราบว่า การแสดงออกของคุณทานตะวัน อาจสร้างความไม่สบายใจต่อประชาชนจำนวนไม่น้อย รวมถึงทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับขอบเขตของการแสดงออกและเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิธีการต่าง ๆ ในการเพิ่มแนวร่วมในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
“อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องมองเรื่องนี้โดยไม่แยกขาดจากภาพใหญ่ด้วยเช่นกัน นั่นคือความขัดแย้งทางการเมืองและความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนที่ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการพิจารณาร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมถึงต้นตอของปัญหา และการสร้างพื้นที่สำหรับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกอย่างมีวุฒิภาวะและคลี่คลายความขัดแย้งในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เท่าทันโลก”
ล่าสุด (10 ก.พ.) มีรายงานว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ดำเนินการตรวจสอบกรณีตะวันกับพวกบีบแตรใส่ขบวนเสด็จ พร้อมมอบหมายให้ดำเนินคดีหากพบว่ามีการกระทำความผิด โดยเบื้องต้นหลังเกิดเหตุดังกล่าว ทาง สน.ดินแดง รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดฐานที่เกี่ยวข้อง แต่ทางทานตะวันและพวก ไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกครั้งที่ 1 ทางพนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ให้มารับทราบข้อกล่าวหาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากไม่เดินทางมารับทราบตามหมายเรียก ก็จะต้องพิจารณาออกหมายจับตามขั้นตอนต่อไป
3. ศาลเเขวงปทุมวันพิพากษาจำคุก "พิธา-ธนาธร-ปิยบุตร"กับพวก คนละ 4 เดือน คดีจัดแฟลชม็อบ ใกล้เขตพระราชฐาน ให้โอกาสกลับตัว โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี!
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ศาลแขวงปทุมวัน ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายพริษฐ์ ชีวารักษ์, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร เป็นจำเลย 1-8 ในความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวังฯ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงจะคาดหมายได้ฯ ,พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
จากกรณีที่กลุ่มจำเลยร่วมในการชุมนุมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์กสี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2562 ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ คดีกู้ยืมเงินจากนายธนาธร 191 ล้านบาท และจำเลยยังได้สลับกันขึ้นปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งแปดที่เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม แม้ต่างคนต่างเชิญชวนหรือนัดผู้อื่นโดยผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของตน แต่พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงถึงเจตนาของจำเลยทั้งแปดว่า เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะและร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุม จำเลยทั้งแปดจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และจำเลยทั้งแปดต้องตรวจสอบว่า สถานที่ใดสามารถจัดการชุมนุมสาธารณะได้โดยไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย และเป็นสถานที่ที่เหมาะสม แม้จะฟังได้ว่า ไม่ได้มีการปิดกั้นหรือขัดขวางการสัญจรของประชาชนผู้ที่ใช้ทางสาธารณะและทางเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ย่อมคาดหมายได้ว่า จะต้องมีประชาชนมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ย่อมเล็งเห็นได้ว่า โดยสภาพของพื้นที่ดังกล่าวย่อมกระทบต่อสัญจรของประชาชนและกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้บริการสถานีรถไฟฟ้า
จำเลยทั้งแปดไม่สามารถดูแลรับผิดชอบการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเข้าออกต่อประชาชนที่จะใช้ทางเดินสาธารณะ ซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้า จุดเกิดเหตุบริเวณที่มีการปราศรัยและบริเวณที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมอยู่ในรัศมี 150 เมตร จากพระราชวังสระปทุม จำเลยทั้งแปดในฐานะที่เป็นแกนนำเป็นผู้จัดการชุมนุมปรากฏตัวเข้าร่วมชุมนุมและอยู่บริเวณดังกล่าวตลอดเวลา
แม้จำเลยที่ 1-3 และที่ 8 จะไม่ได้ขึ้นปราศรัยร่วมกับจำเลยที่ 4-7 พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่เชิญชวนหรือนัดให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งแปดจึงเป็นตัวการร่วมในการจัดการชุมนุมสาธารณะและจัดการปราศรัยโดยใช้โทรโข่งและเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
จำเลยทั้งแปดจงใจไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมาย โดยมีเจตนาจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะขึ้นในบริเวณดังกล่าว เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และผลแห่งการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ก่อให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชน ไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมจนก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร
จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งแปดกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่า จำเลยทั้งแปดมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 8(2), 17(7), 27, 31 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งแปด เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท
เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติสติปัญญา และสถานะทางสังคม จำเลยทั้งแปดเป็นผู้มีชื่อเสียง มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งแปดเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งความผิดที่กระทำสืบเนื่องมาจากต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกและความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องอาชญากรรมร้ายแรง กรณีมีเหตุอันควรปรานีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยทั้งแปดได้กลับตัวและเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้ขอบเขตตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี
และจำเลยทั้งแปดมีความผิดทางพินัยตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง, 28 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ปรับเป็นพินัยคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันโฆษณาหรือแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชนโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับเป็นพินัยคนละ 200 บาท รวมค่าปรับเป็นพินัยคนละ 10,200 บาท
ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1, 2, 6 ต่อจากโทษของจำเลยดังกล่าวในแต่ละคดีตามฟ้องนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่า คดีที่ขอให้นับโทษต่อศาลในแต่ละคดีได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่ ให้ยกคำขอให้นับโทษต่อของโจทก์
นายพิธา กล่าวว่า จากการหารือกับจำเลยคนอื่นเห็นว่าจะต้องยื่นอุทธรณ์คดี เพราะมีประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องของระยะของการชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานว่า อาจจะมีความคลาดเคลื่อนของ 150 เมตรว่าวัดจากจุดไหน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานกับคดีอื่นๆ พร้อมระบุว่า การที่ศาลตัดสินในลักษณะนี้ ไม่ทำให้พรรคก้าวไกลเสียเครดิตทางการเมือง เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจในข้อเท็จจริง ตนเองอยากโฟกัสเรื่องงาน เพราะสัปดาห์หน้าจะไปสภาอภิปรายเรื่องของปัญหาการประมง
ด้านนายปิยบุตร คดีนี้มีหลายประเด็นในการยื่นอุทธรณ์ต่อ พร้อมเทียบเคียงกับคดีปิดสนามบิน มีผลกระทบจำนวนมาก และเป็นความผิดชัดเจน แต่ศาลพิจารณาสั่งปรับคนละ 20,000 บาท ส่วนคดีการชุมนุมคดีนี้ เป็นการชุมนุมใช้ระยะเวลาไม่นาน หลังเลิกชุมนุมก็มีการช่วยกันเก็บขยะ สุดท้ายถูกจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,200 บาท เป็นเหตุผลที่จะต้องอุทธรณ์คดีเพื่อให้ศาลสูงพิจารณา ส่วนเรื่องความไม่เหมาะสมของกฎหมายก็อยากจะฝากให้พรรคก้าวไกลไปพิจารณาแก้ไขในสภาต่อไป
4. ป.ป.ช.ส่ง 8 ข้อเสนอให้ รบ. ชี้ "แจกเงิน 1 หมื่นดิจิทัลวอลเล็ต" เสี่ยงทุจริต-ผิดกฎหมาย หากทำจริง ไม่ควรกู้ และแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน!
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสํานักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสําคัญกับการดําเนินนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอํานาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 32 ในการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการในการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาว
คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดําเนินการรับฟังความเห็น เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดําเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว โดยได้มีการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง จากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จากส่วนราชการและหน่วยงาน ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
จากการศึกษาพบว่า มีประเด็นสําคัญที่ควรพิจารณา 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ 1.ความเสี่ยงต่อการทุจริต 2.ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ 3.ความเสี่ยงด้านกฎหมาย 4.ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกําหนดนโยบายของพรรคการเมือง
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา 8 ข้อ ดังนี้ 1.รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดําเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจน อย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถ กระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
2.การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สํานักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดําเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่
3.การดําเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรคํานึงถึงความคุ้มค่าและความจําเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงินการคลังในอนาคต... ซึ่งรัฐบาลจึงต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดีผลเสียที่จะต้องกู้เงินจํานวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว
4.การดําเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ
5. คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดําเนินโครงการอย่างรอบด้าน 6.ในการนําเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาถึงความจําเป็นและความเหมาะสม
7. จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทย ยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ...ในกรณีที่รัฐบาลต้องดําเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน
8.หากรัฐบาลมีความจําเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชน ที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดํารงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวดๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบ สามารถทําได้รวดเร็ว การดําเนินการกรณีนี้ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 ที่สําคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว
ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวถึงความเห็นและข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตว่า เรื่องของการทุจริต ในการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ในเรื่องนี้คงมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ยืนยันว่าต้องตอบคำถามเรื่องนี้ให้ได้
เมื่อถามว่า เกี่ยวกับเรื่องงบประมาณทาง ป.ป.ช. แนะให้กลับมาใช้งบประมาณประจำปีปกติ ดีกว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงิน นายเศรษฐา กล่าวว่า อันนี้เดี๋ยวต้องไปคุยกัน ก็เพิ่งทราบเหมือนกัน เมื่อถามว่า ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. ถึงขั้นให้ปรับเกณฑ์แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือผู้มีรายได้น้อย นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องไปดูเรื่องของหน้าที่ และสิ่งที่ ป.ป.ช.บอกมาว่าอย่างไรและเหตุผลคืออะไร ซึ่งก็ต้องดูหน้าที่ของ ป.ป.ช.คือ การตรวจสอบทุจริตประพฤติมิชอบใช่หรือไม่ ส่วนนโยบายว่าจะให้ใครบ้างเป็นเรื่องของรัฐบาล
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงข้อเสนอของ ป.ป.ช.กรณีเงินดิจิทัลวอลเล็ต ทางรัฐบาลต้องมีการปรับปรุงอะไรหรือไม่ว่า เห็นเอกสารตามสื่อแต่ยังไม่มีอย่างเป็นทางการ หากเป็นเช่นนั้นจริงคงจะนำเข้าในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายในครั้งหน้า โดยนายกรัฐมนตรีได้ระบุวันมาแล้ว หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือวันที่ 15 ก.พ. ทั้งนี้ กรอบงานยังเหมือนเดิมและเดินหน้าโครงการต่อไป โดยมีตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อตรวจสอบการทุจริต รับฟังความเห็นในสังคม รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบการเงินอื่นๆ เพื่อให้ตัวระบบมีความครอบคลุมมากขึ้น
ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงข้อเสนอของ ป.ป.ช.ต่อรัฐบาลกรณีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญ การจ่ายเงินแผ่นดิน รวมถึงต้องเข้าใจกฎหมายวินัยการเงินการคลัง วิธีงบประมาณ ซึ่งตนได้เขียนเรื่องนี้เตือนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ไปแล้ว 4 แผ่น เป็นข้อกฎหมายล้วนๆ และตนไม่แปลกใจที่กฤษฎีกา และ ป.ป.ช.ให้ความเห็นครั้งนี้ เงินแผ่นดิน จะเอาไปทำอะไรต่างๆ เราทุกคนจะต้องเป็นคนใช้หนี้ ซึ่งโครงการดิจิทัลวอตเล็ต อาจจะทำให้ขาดทุนเหมือนโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งโครงการรับจำนำข้าวแม้ขาดทุนก็ยังมีข้าวเปลือก แต่โครงการดิจิทัลเล็ตหากขาดทุนจะไม่เหลืออะไรเลย
เมื่อถามว่า นายเรืองไกรจะมีโอกาสไปร้องด้วยตนเองหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า แผลยังไม่เกิด ก็ยังไม่ต้องทายา แต่ถ้าทำเข้าข่ายความผิด ก็ใช้กฎหมาย ป.ป.ช. ได้เลยไม่ต้องห่วง ตนทำให้ เมื่อถามว่า ถ้ามีการร้องและผิดจริง จะถึงกับหลุดจากตำแหน่งเลยหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า อยู่ที่ดุลพินิจของศาล
5. กกต.แจกใบแดง “พรวิศิษฐ์” ผู้สมัคร สส.นครสวรรค์ พปชร. ซื้อเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้ช่วยหาเสียงแจกเงิน-แจกเสื้อ ชงศาลฎีกาถอนสิทธิเลือกตั้ง-ดำเนินคดีอาญา!
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. เว็บไซด์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัย กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายพรวิศิษฐ์ แจ่มใส ผู้สมัคร สส.นครสวรรค์ เขต 5 พรรคพลังประชารัฐ และ น.ส.ณฐณณฑ์ เบญจภิญโญ ผู้ช่วยหาเสียงของนายพรวิศิษฐ์ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มาตรา 73(1) ประกอบมาตรา 138 โดยให้ดำเนินคดีอาญาบุคคลทั้งสอง ตามมาตรา 73(1) ประกอบมาตรา 158 ของกฎหมายเดียวกัน รวมทั้งให้กันผู้แจ้งเหตุ สามีของผู้แจ้งเหตุ พยานที่ไต่สวนประกอบคนที่ 2 ถึงคนที่ 4 คนที่ 6 และคนที่ 8 ไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี
จากกรณีไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่า น.ส.ณฐณณฑ์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงของนายพรวิศิษฐ์ ได้มอบเงินจำนวน 10,000 บาท ให้แก่ผู้แจ้งเหตุในวันที่ 4 พ.ค 2566 เวลา 11.30 น. ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ สาขาตาคลี ตามที่ผู้แจ้งเหตุเดินทางไปทวงเงินค่าจ้างในการไปเข้าร่วมฟังการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งของนายพรวิศิษฐ์ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2566
โดย น.ส.ณฐณณฑ์ บอกให้ผู้แจ้งเหตุนำเงินนี้ไปมอบให้กับให้บุคคลในครอบครัวของผู้แจ้งเหตุ ได้แก่ ผู้แจ้งเหตุ ตาและยายของสามีผู้แจ้งเหตุ และสามีของผู้แจ้งเหตุ คนละ 500 บาท พร้อมทั้งขอให้ลงคะแนนให้แก่นายพรวิศิษฐ์ และที่เหลืออีก 4,000 บาท เป็นค่าจ้างเพื่อไม่ให้ผู้แจ้งเหตุไปร้องเรียนต่อสำนักงาน กกต.ตามที่ผู้แจ้งเหตุพูดตอนมาทวงเงินว่า “จะไปดำเนินการร้องเรียน ต่อ กกต.” ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้แจ้งเหตุได้รับเสื้อสีขาวที่พิมพ์ชื่อของพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 2 ตัว
ต่อมาในวันเดียวกันเวลาประมาณ 20.00 น.ผู้แจ้งเหตุและสามีได้เดินทางไปรวบรวมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งในชุมชนตาคลี และนอกชุมชนตาคลีได้จำนวน 31 บัตร โดยนำไปส่งมอบให้ น.ส.ณฐณณฑ์ ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ สาขาตาคลี ซึ่งมีการคัดถ่ายเป็นสำเนาเอกสารก่อนนำบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวมาคืนให้แก่ผู้แจ้งเหตุ โดย น.ส.ณฐณณฑ์ ให้ผู้แจ้งเหตุเขียนชื่อ ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ของเจ้าของบัตรประจำตัวประชาชน ลงในกระดาษเรียงตามลำดับรายชื่อเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับเตรียมแจกเงินคนละ 500 บาท
ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวของผู้แจ้งเหตุสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่ปรากฏในบทสนทนาผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ระหว่าง น.ส.ณฐณณฑ์ กับผู้แจ้งเหตุ ที่มีการชักชวนกันไปเดินหาเสียงเลือกตั้งให้นายพรวิศิษฐ์ แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่ น.ส.ณฐณณฑ์ ยินยอมให้ผู้แจ้งเหตุเข้ามาช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้แก่นายพรวิศิษฐ์
พยานหลักฐานจึงน่าเชื่อว่า น.ส.ณฐณณฑ์ กระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่นายพรวิศิษฐ์ตามที่มีการกล่าวหา นอกจากนี้ที่ น.ส.ณฐณณฑ์มอบเสื้อที่ตนได้รับจัดสรรให้แก่ผู้แจ้งเหตุจำนวน 4 ตัว ได้แก่ เสื้อยืดสีน้ำเงินที่มีตราสัญลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐ และด้านหลังเสื้อมีข้อความว่า พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 1 ตัว และเสื้อสีขาวที่มีตราสัญลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐ และด้านหลังเสื้อมีข้อความว่า “รับใช้ใกล้ชิดต้องพรวิศิษฐ์ แจ่มใส” จำนวน 3 ตัว โดยไม่พบว่า ผู้แจ้งเหตุ พยานคนที่ 1 และคนที่ 2 ของผู้แจ้งเหตุ เป็นสมาชิกของพรรคพลังประชารัฐ การให้เสื้อดังกล่าวแก่ผู้แจ้งเหตุ จึงมีลักษณะเป็นการให้ทรัพย์สินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนให้แก่นายพรวิศิษฐ์
และเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่นายพรวิศิษฐ์ ได้แจ้งชื่อ น.ส.ณฐณณฑ์ เป็นผู้ช่วยหาเสียงทำหน้าที่ประสานงานและหาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่เทศบาลเมืองตาคลี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ สาขาตาคลี ภาพถ่าย น.ส.ณฐณณฑ์ ไปร่วมหาเสียงเลือกตั้งกับนายพรวิศิษฐ์ แสดงให้เห็นว่า น.ส.ณฐณณฑ์ มีบทบาทสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งของนายพรวิศิษฐ์ จึงน่าเชื่อว่า นายพรวิศิษฐ์รู้เห็นเป็นใจให้ น.ส.ณฐณณฑ์กระทำการดังกล่าว
จึงปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นายพรวิศิษฐ์ ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ น.ส.ณฐณณฑ์ ให้เงิน เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน รวมทั้งให้เสื้อดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นการทุจริตการเลือกตั้ง อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73(1) ประกอบมาตรา 138 และเป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เขตเลือกตั้งที่ 5 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนายพรวิศิษฐ์ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม