เมื่อซอยเข้าบ้านกลายเป็นสี่แยกอันตราย หรือจะพัฒนาเป็นโมเดลสร้างมาตรฐานใหม่ ทำ “TIA - รายงานศึกษาผลกระทบจากการจราจร”
รายงานพิเศษ
นี่เป็นสภาพการจราจรในช่วงเวลาประมาณ 17.30น. วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่บริเวณ “สี่แยกตลาดต้นสัก” ถนนนนทบุรี 1 หรือที่เราเรียกกันว่าถนนสนามบินน้ำ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี ...
ในภาพ จะเห็นตลาดขนาดใหญ่อยู่ทางฝั่งขวา ถัดเข้าไปในซอยเดียวกัน มีคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 2 แห่ง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ทำให้มีรถจำนวนมากเลี้ยวขวาเข้าสู่ตลาดและที่พักอาศัย ... และฝั่งตรงข้าม มีรถอีกหลายคันพยายามกลับรถที่จุดเดียวกัน เพื่อเข้าสู่ที่พักซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมขนาดกว่า 700 ห้อง อีกหนึ่งแห่ง และยังมีรถที่เตรียมจะออกมาจากซอยทั้ง 2 ฝั่งพร้อมกัน ... นั่นทำให้เกิด “จุดบอด” ในการมองเห็นของผู้ขับขี่รถยนต์ เพราะรถที่กำลังเลี้ยวขวาหรือกลับรถ ล้วนอยู่ในสภาวะ “ถูกบดบัง” จากรถอีกฝั่ง ... ทำให้มองไม่เห็นรถที่วิ่งมาในช่องซายสุดของทั้ง 2 ฝั่ง ....
นี่เป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุแทบทุกวัน
ความอันตรายของจุดนี้ คือเป็น “สี่แยกที่มองไม่เห็น”เพราะการเกิดขึ้นของที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง ทำให้มีปริมาณรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ต้องผ่านสี่แยกเล็กนี้ๆเพิ่มขึ้นในหลักพันคันในแต่ละวัน และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแทบทุกวัน เพราะมีทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ ตลาดขนาดใหญ่ และแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมต่างอยู่ในซอยฝั่งตรงข้ามกันที่รถต้องเลี้ยวขวาเข้าไปจากคนละทาง เช่นเดียวกับรถที่ออกมาจากที่พัก ก็ต้องเลี้ยวขวาเพื่อออกสู่ถนนรัตนาธิเบศร์เช่นกัน ทำให้เกิดปรากฎการณ์มีรถเลี้ยวขวาพร้อมกันที่สี่แยกนี้จากทุกทิศทาง และ “บังสายตา” จนไม่สามารถมองเห็นรถที่กำลังวิ่งตรงในช่องจราจรซ้ายสุดของทั้ง 2 ฝั่ง
อ่านรายละเอียด : เปิดจุดอันตรายใหม่ “สนามบินน้ำ” เมื่อซอยเข้าบ้านกลายสภาพเป็น “สี่แยกที่มองไม่เห็น”
นอกจากปัญหา “จุดบอดของคนขับรถ” ที่ทำให้สี่แยกตลาดต้นสัก กลายเป็นจุดอันตราย ยังมีความเห็นจากนักวิชาการด้านภูมิศาสตร์ ชี้ให้เห็นต้นตอของปัญหาคล้ายกันนี้ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ซึ่งกำลังได้รับอิทธิพลจากการขยายตัวของเมือง นั่นคือ หลักเกณฑ์การทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งแม้จะมีข้อกำหนดให้ต้องทำผลกระทบด้านการจราจรด้วย แต่ก็เป็นการให้ทำแบบ “ของใครของมัน” คือ แยกผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะกับที่อยู่อาศัยใหม่แต่ละแห่ง ทั้งที่จะมีที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นพร้อมกันหลายแห่ง และจะมีผลกระทบเป็นทวีคูณ แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเห็นชอบให้ก่อสร้าง
อ่านรายละเอียด : “สี่แยกที่มองไม่เห็น” ย่านสนามบินน้ำ ทัศนวิสัยที่ถูกบดบังด้วย EIA
และหากลงลึกไปในทางวิศวกรรม ก็พบว่า ในหลายประเทศ มีหลักเกณฑ์การประเมินอีกหนึ่งรูปแบบที่จะต้องทำด้วย หากจะก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ขึ้น นั่นคือ Traffic Impact Analysis รายงานผลกระทบต่อสภาพการจราจร หรือ TIA
“ในบ้านเรา TIA ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่แฝงอยู่ในรายงาน EIA ครับ ไม่ได้ถูกแยกออกมาให้เด่นชัด และบางโครงการก็พบว่า เป็นการทำรายงานเฉพาะผลกระทบทางการจราจรระหว่างก่อสร้าง แต่ไม่ได้ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังโครงการที่อยู่อาศัยนั้นๆ เกิดขึ้นแล้ว”
ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายให้เห็นภาพว่า การศึกษาผลกระทบต่อการจราจรเมื่อจะเกิดโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ หรือ โครงการขนาดใหญ่อื่นๆอย่างห้างสรรพสินค้า ยังไม่เคยถูกนำมาใช้เป็นเกณฑ์การศึกษาอย่างจริงจังในประเทศไทย แม้จะมีอยู่แต่ก็เป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งของการทำรายงาน EIA ซึ่งต่างจากในหลายประเทศที่จะกำหนดว่าต้องทำรายงาน TIA เพื่อประเมินผลกระทบทางจราจรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่ไปด้วยเลย
“ตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร เรามีถนนบางเส้นยาว 50 กิโลเมตร ซึ่งออกแบบมาเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แต่ต่อมามีที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นมากมายในแนวยาวตลอด 50 กิโลเมตรนี้ มีทั้งที่ติดถนนและที่เข้าไปในซอยต่างๆ มีปริมาณรถเพิ่มขึ้นมาก แถมรถที่เพิ่มขึ้นยังมีรถที่ต้องเช้า-ออกซอยต่างๆ ตองทาง มีจุดกลับรถ มีจุดตัด และบางจุดก็กลายเป็นจุดเสี่ยง”
“หรือหากมองออกมาในพื้นที่ชานเมือง ซึ่งกำลังได้มีประชากรอพยพจากเมืองมาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น สมมติว่า ถนนเส้นหนึ่งมีความยาว 10 กิโลเมตร แต่เดิมไม่มีที่อยู่อาศัยหนาแน่น จึงมีความกว้างของถนนในตอนก่อสร้างไม่มากนักและเพียงพอต่อการจราจร แต่อยู่มาเรื่อยๆ กลับมีคอนโดมิเนียมขึ้นพร้อมกันตลอดแนว มีรถเยอะขึ้น หน้ากว้างเดิมของถนนที่เคยพอ มันก็กลายเป็นไม่พอ”
“เมื่อเราเห็นปัญหาเช่นนี้ เราต้องยอมรับว่า มันเป็นปัญหาตั้งแต่เรื่องการวางผังเมือง ซึ่งจะใช้วิธีการประเมินผลกระทบต่อการจราจรที่ทำกันมาแบบเดิมๆใน EIA จะไปดูแยกเฉพาะโครงการแบบของใครของมันไม่ได้อีกแล้ว ... ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทย ต้องหันมาให้ความสนใจกับการทำ TIA ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการจราจรโดยเฉพาะ และต้องเป็นการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มีการคาดการณ์ล่วงหน้า โดยมองให้เห็นก่อนว่าพื้นที่นี้จะถูกพัฒนาไปอย่างไรได้บ้างในอนาคต ซึ่งต้องไม่ใช่การศึกษาผลกระทบเฉพาะที่จะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง” ผศ.ดร. ทวีศักดิ์ กล่าว
ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เปิดเผยด้วยว่า ในหลายประเทศที่มีกฎหมายให้เจ้าของโครงการขนาดใหญ่ต้องทำรายงาน TIA จะช่วยให้กฎหมายมีสภาพบังคับต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วยว่า เจ้าของโครงการนั้นๆ จะต้องรับภาระในการแก้ขสภาพการจราจร
“การทำ TIA ในประเทศที่เขาจริงจัง ถ้าเกิดเขาทำรายงานศึกษาผลกระทบต่อการจราจรไปแล้วพบว่า โครงการนี้จะสร้างผลกระทบในอนาคต กฎหมายก็จะมีสภาพบังคับต่อไปเลยว่า จะต้องแก้ไขผลกระทบนี้อย่างไร และจะเป็นภาระที่เจ้าของโครงการต้องจ่ายเงิน เช่น ถ้าสร้างแล้วจะกลายเป็นจุดเสี่ยง จะต้องติดตั้งสัญญาณไฟจราจรเพิ่มเติม หรือจะทำให้รถติด ต้องไปสร้างจุดกลับรถเพิ่มที่ไกลออกไป ทั้งหมดนี้ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายของเอกชนที่เป็นเจ้าของโครงการต้องรับผิดชอบ หากเอกชนต้องการให้โครงการของตนเองเกิดขึ้นได้”
แม้ว่าแนวคิดเรื่องการทำ TIA จะเริ่มถูกพูดถึง เริ่มมีการศึกษาวิจัยแล้วในประเทศไทย โดยนำบทเรียนจากหลายประเทศมาประกอบผลการศึกษา แต่ยังติดปัญหาสำคัญ คือ หากจะบังคับให้การทำรายงาน TIA เป็นข้อบังคับเฉพาะ โดยแยกออกมาจาก EIA เดิม ก็จะต้องมีหน่วยงานของรัฐเข้ามารับผิดชอบดูแลงานส่วนนี้เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีความชัดเจน
*********************
จากข้อมูลที่ ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ อธิบายถึง ภาระความรับผิดชอบซึ่งเจ้าของโครงการจะต้องจ่ายเงินเองเพื่อแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการจราจร หากมีรายงาน TIA ซึ่งมีสภาพบังคับตามกฎหมาย
กลับมาที่ถนนสนามบินน้ำ ... ซึ่งพบว่า เมื่อมีผลกระทบที่ทำให้สี่แยกตลาดต้นสักกลายเป็นจุดเสี่ยงอันตรายหลังจากพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ทีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น มีตลาด มีปริมาณรถมากขึ้น
เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทำให้สำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี จำเป็นต้องจัดทำโครงการติดตั้งเครื่องหมายจราจรและปรับปรุงผิวจราจร โดยใช้งบประมาณ 22 ล้านบาท จากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563
แต่ ... แม้จะใช้งบประมาณไปแล้ว 22 ล้านบาท ความเสี่ยงและอุบัติเหตุก็ยังคงเกิดขึ้นรายวันอย่างที่เห็น หรือถ้าจะให้ความเป็นธรรมกับทางเทศบาล ก็อาจต้องยอมรับว่าทำได้เพียงแค่การลงทุนเพื่อบรรเทาสภาพปัญหาเท่าที่พอจะทำได้ตามงบประมาณ เนื่องจากไม่ได้ผ่านการศึกษาผลกระทบอย่างเป็นระบบระเบียบทางการวิจัยจากการเกิดขึ้นของแหล่งที่พักอาศัยขนาดใหญ่พร้อมกันหลายๆโครงการมาตั้งแต่ต้น
หรือพื้นที่นี้ เหมาะสมจะถูกพัฒนาให้เป็น “โมเดล” ในการทำ TIA ….
เพราะ ยังมีอีกหลายโครงการที่ติดป้ายโฆษณากันแล้วว่า กำลังจะเกิดขึ้นบนถนนเส้นเดียวกันนี้