xs
xsm
sm
md
lg

รอบีอาร์ทีโฉมใหม่ใช้รถเมล์ไฟฟ้าติด GPS ขยายไปถึง MRT ลุมพินี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพ
ในเดือนกรกฎาคม 2567 เตรียมพบกับรถโดยสารด่วนพิเศษ บีอาร์ที โฉมใหม่ ใช้รถเมล์ไฟฟ้า ติด GPS พร้อมขยายเส้นทางจากสถานีสาทร ถึงสถานีรถไฟฟ้าลุมพินี จอดรับ-ส่งป้ายรถเมล์ หลังกลุ่มบีทีเอสชนะประมูล

วันนี้ (6 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประกวดราคาจ้างโครงการพัฒนาระบบการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงินงบประมาณ 478,932,000 บาท พบว่าในวันดังกล่าวมีผู้เสนอราคา 2 ราย ได้แก่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีทีเอสซี ในกลุ่มบริษัทบีทีเอส และ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด ปรากฏว่า บีทีเอสซี เสนอราคาต่ำสุด วงเงิน 465 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ไทย สมายล์ เสนอราคาวงเงิน 488 ล้านบาท

โดยนับจากนี้จะตรวจสอบเอกสารและลงนามในสัญญา จากนั้นบีทีเอสซีจะต้องจัดหารถใหม่เป็นรถโดยสารปรับอากาศขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (อีวี) แบบมีประตู 2 ด้าน เพื่อให้สามารถเปิดรับส่งผู้โดยสารฝั่งทางเท้าได้ จำนวนไม่น้อยกว่า 23 คัน ภายในเวลา 6 เดือน เพื่อให้ทันเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยสัญญามีอายุ 5 ปี ระหว่างปี 2567-2572 สำหรับค่าโดยสาร กทม.จะเป็นผู้กำหนด เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นไปในลักษณะจ้างเอกชนเดินรถ

สำหรับเส้นทางเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) มีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เริ่มต้นเส้นทางจากสถานีช่องนนทรี บริเวณแยกสาทร-นราธิวาส ไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงแยกนราธิวาส-พระราม 3 เลี้ยวขวาไปตามถนนพระรามที่ 3 ข้ามสะพานพระรามที่ 3 ลงมาถนนรัชดาภิเษก-บุคคโล สิ้นสุดเส้นทางที่สถานีราชพฤกษ์ บริเวณถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนรัชดาภิเษก โดยมีสถานีโดยสารทั้งหมด 14 สถานี แบ่งเป็น 12 สถานีเดิม และก่อสร้าง 2 ป้ายรถโดยสารใหม่ ได้แก่ สถานีแยกจันทน์-นราธิวาสราชนครินทร์ และ สถานีแยกนราธิวาสราชนครินทร์-รัชดาภิเษก

ส่วนเส้นทางที่ 2 ตั้งแต่แยกทางด่วนสาธุประดิษฐ์ ถึงแยกนราธิวาสราชนครินทร์-รัชดาภิเษก ถึงสถานีสาทร เลี้ยวขวาไปตามถนนสาทร ถึงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี และเพิ่มเส้นทางไปสถานีพระราม 3 ในชั่วโมงเร่งด่วน รวมทั้งเส้นทางส่วนต่อขยายในอนาคต จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีลุมพินี ไปตามถนนวิทยุ ถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สุขุมวิท) สถานีเพลินจิต โดยช่วงสถานีสาทร ถึงสถานีราชพฤกษ์ จะรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานี โดยใช้ประตูรถทางด้านขวา ส่วนช่วงถนนสาทรเป็นต้นไปจะหยุดรับ-ส่งผู้โดยสารที่หยุดรถประจำทางตลอดแนวเส้นทาง โดยใช้ประตูรถทางด้านซ้าย

โดยจะให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-22.00 น. ความถี่ในการให้บริการไม่เกินกว่า 15 นาทีต่อคัน โดยช่วงเวลาเร่งด่วนไม่เกินกว่า 10 นาทีต่อคัน ช่วงนอกเวลาเร่งด่วนไม่เกินกว่า 15 นาทีต่อคัน โดยต้องเชื่อมต่อระบบ GPS แสดงตำแหน่งผ่านแอปพลิเคชันที่กรุงเทพมหานครกำหนด ทั้งนี้ เส้นทางที่ 2 ซึ่งออกนอกเส้นทางเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) ในบางช่วง จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อรับส่งผู้โดยสารจากอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่หลายแห่ง รวมทั้งออกไปรับส่งผู้โดยสารที่ป้ายหยุดรถประจำทางได้ด้วย ซึ่งตัวรถรุ่นใหม่มีประตูขึ้นลงได้ทั้งสองฝั่ง

แฟ้มภาพ
สำหรับโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) เริ่มต้นขึ้นสมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก่อสร้างเมื่อปี 2550 ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ก่อนทดลองให้บริการเดินรถในปี 2553 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2554 มีระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร มีทางวิ่งเฉพาะรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT กว้าง 3.2-3.5 เมตร ยกเว้นบริเวณสะพานข้ามแยก กำหนดให้ช่องทางขวาสุดเป็นช่องเดินรถมวลชน มีสถานีให้บริการรวม 12 สถานี มีระบบเชื่อมโยงกับระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติ เพื่อให้การเดินรถมีความคล่องตัว มีรถโดยสารแบบเครื่องยนต์ยูโรทรี พลังงานก๊าซเอ็นจีวี 23 คัน

อย่างไรก็ตาม หลังเปิดให้บริการพบว่าโครงการประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ปีละกว่า 200 ล้านบาท อีกทั้งระบบไม่สามารถทำเวลาได้ เนื่องจากมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประชาชนลักลอบใช้เส้นทางเพื่อหนีรถติด เพิ่มปัญหาการจราจรบนถนนทั้งถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนพระรามที่ 3 ทำให้ กทม. จะยกเลิกโครงการในวันที่ 1 เม.ย. 2560 แต่กระแสสังคมคัดค้านจึงเลื่อนแผนออกไปก่อน กระทั่งให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง โดยสมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. คิดค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย และสมัยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้จัดประกวดราคาดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น