xs
xsm
sm
md
lg

ยุคชัชชาติเก็บ 62 บาท หลังปีใหม่บีทีเอสไม่ฟรี นั่งไม่เสียเงินนานถึงเวลาเก็บตังค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงเทพมหานครประกาศ เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เพิ่มอีก 15 บาท เริ่มหลังปีใหม่ 2 ม.ค.นี้ พบสมัยอัศวินจะเก็บ 65 บาทด่ายับ ยุคชัชชาติเก็บ 62 บาทเงียบกริบ

วันนี้ (27 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศ การกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เรียกเก็บโดยกรุงเทพมหานครในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ระบุว่า ด้วยกรุงเทพมหานครมีนโยบายจะจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในเส้นทางส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เส้นทางส่วนต่อขยายสายสีลม เส้นทางส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท เส้นทางช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และเส้นทางช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นการเก็บค่าโดยสารในอัตราคงที่โดยรวมทุกเส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2567 ดังนี้

เส้นทางส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีบางจากถึงสถานีแบริ่ง รวมเส้นทางช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ตั้งแต่สถานีสำโรงถึงสถานีเคหะฯ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตั้งแต่สถานีห้าแยกลาดพร้าวถึงสถานีคูคต เส้นทางส่วนต่อขยายสายสีลม ตั้งแต่สถานีโพธิ์นิมิตรถึงสถานีบางหว้า สำหรับค่าโดยสาร ประเภทบัตรโดยสารเที่ยวเดียว และบัตรแรบบิทสำหรับบุคคลทั่วไป คิดค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย บัตรแรบบิทสำหรับนักเรียน นักศึกษา บัตรแรบบิทสำหรับเด็ก คิดค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย และบัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ คิดค่าโดยสาร 7 บาทตลอดสาย

สำหรับเส้นทางสัมปทานเดิม ตั้งแต่สถานีหมอชิต ถึงสถานีอ่อนนุช และสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ถึงสถานีวงเวียนใหญ่ ยังคงเก็บค่าโดยสาร เริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 47 บาท โดยอัตราค่าโดยสารของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดที่ 62 บาท


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เปิดให้บริการฟรีตลอดสายเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2561 ตามมาด้วยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เปิดให้บริการฟรีตลอดสายเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ก่อนหน้านี้สมัยที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขณะนั้น ได้เสนอเรียกเก็บค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท กลับถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย และกระทรวงคมนาคม สมัยที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็น รมว.คมนาคม อ้างว่าอัตราค่าโดยสารที่ 65 บาท สูงเกินไป สุดท้ายประชาชนจึงได้นั่งฟรีอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งปัจจุบัน ยุคนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย เนื่องจากไม่ได้เก็บค่าโดยสารมานานตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 และเมื่อหารือทุกฝ่ายไม่ขัดข้อง ราคา 15 บาทที่เก็บยังต่ำกว่าต้นทุนที่ กทม.ต้องจ่ายด้วย คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในต้นปี 2567 นำมาสู่การออกประกาศเก็บค่าโดยสารฉบับดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น