เปิด "สายสีชมพู" ผู้โดยสารเตรียมอ่วม จ่ายค่าโดยสาร 3 ต่อจุกๆ “สถานีวัดพระศรีฯ” เชื่อมสีเขียวต่อขยาย กทม.จ่อเก็บ 15 บาท เข้าสายหลักจ่ายอีกทอด เอกชนไม่ยอมลดค่าแรกเข้า ลุ้นนโยบาย 20 บาท "ชมพู-เหลือง" ช่วยลดภาระ ปชช.
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า กรณีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ไม่มีประตูกั้นเพื่อแตะบัตรเข้าออกระบบเนื่องจากเป็นการเชื่อมต่อประเภท Paid to Paid Area หรือเป็นพื้นที่ส่วนชำระค่าโดยสารแล้วผู้โดยสารสามารถเดินเชื่อมต่อจากสายหนึ่งไปสายหนึ่งได้สะดวก แต่ทั้งนี้ ผู้โดยสารจะต้องชำระค่าโดยสาร รถไฟฟ้าแต่ละสายด้วยบัตรโดยสารเดียวกัน
ซึ่งระหว่างวันที่ 21 พ.ย. 2566 ถึง 17 ธ.ค. 2566 สายสีชมพู และสีเขียว (กทม.จ้างบีทีเอสเดินรถ) ยังให้บริการฟรี โดยสายสีชมพูกำหนดเริ่มเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2566 อัตรา 15-45 บาท ขณะที่คาดว่าสายสีเขียวส่วนต่อขยายกำหนด 15 บาท จะเริ่มเก็บค่าโดยสารหลังปีใหม่ 2567 นั้น กรณีที่เดินทางจากสีชมพู เชื่อมสีเขียวต่อขยาย มาเข้าสีเขียวสายหลัก ที่สถานีหมอชิต ผู้โดยสารจะต้องจ่ายค่าโดยสารถึง 3 ต่อ โดยเสียค่าแรกปกติประเมินหากเดินทาง 3 สาย ต้องเสียค่าโดยสารอย่างต่ำ 60-70 บาท
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในแง่ผู้ให้บริการการบริหารจัดการตั๋วไม่มีปัญหาเพราะคือกลุ่มเดียวกัน โดยบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานสายสีชมพูเป็นบริษัทในเครือ BTS Group ซึ่งบริหารการเดินรถสายสีเขียวต่อขยาย และรับสัมปทานสีเขียวสายหลัก โดยใช้บัตร Rabbit แต่ประเด็นคือประชาชนต้องรับภาระค่าโดยสารสูงมากไป
@ลุ้นใช้นโยบาย 20 บาท "ชมพู-เหลือง" ลดภาระ ปชช.
อย่างไรก็ตาม มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลสามารถนำมาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลืองได้ เหมือนที่ใช้กับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนหรือไม่ เพราะทั้งสายสีชมพู และสายสีเหลืองเป็นเส้นทางที่ผ่านย่านชุมชนที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างมาก
โดยสามารถอุดหนุนผ่านการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หน่วยงานรัฐที่เป็นคู่สัญญาเอกชนได้ ซึ่งอัตราค่าโดยสารสายสีชมพูและสีเหลือง ที่ 15-45 บาท จากการประเมินค่าเฉลี่ยของค่าโดยสารอยู่ที่ 30 บาท นโยบายเก็บ 20 บาท จะมีส่วนต่าง 10 บาทต่อเที่ยว คาดการณ์มีผู้โดยสาร สายละ 4-5 หมื่นคน/วัน เท่ากับต้องอุดหนุนส่วนต่างค่าโดยสารแต่ละสายประมาณ 12-15 ล้านบาท/เดือน และหากลดราคาเป็น 20 บาทตลอดสาย อาจจะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จะมีรายได้เพิ่ม สัดส่วนการชดเชยของรัฐจะลดลงไปด้วย
@กทม.เร่งหารือ รฟม.ลดค่าแรกเข้า เชื่อม "ชมพู-เขียว"
ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยถึงจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต กับสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ที่ตำแหน่งสถานีอยู่ตรงกัน ทราบว่ามีการออกแบบจุดเชื่อมต่อแบบ paid to paid Area เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารข้ามระบบจากสายสีชมพู-สายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อเนื่อง สายสีเขียวเส้นทางหลักในเมือง ทั้งขาไปและขากลับ ได้ทันทีโดยไม่ต้องแตะบัตรออกจากระบบ
โดยคิดค่าโดยสารแยกตามระบบที่ใช้บริการ กรณีนั่งสายสีชมพู จ่ายค่าแรกเข้า บวกระยะทาง อัตรา 15-45 บาท เมื่อต่อสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เก็บ 15 บาท ไม่มีค่าแรกเข้า ถ้านั่งต่อเข้าสายสีเขียวเส้นทางหลักจะต้องจ่ายค่าแรกเข้า บวกระยะทาง อัตรา 17-47 บาท เท่ากับว่าผู้โดยสารต้องจ่ายค่าโดยสาร 3 ต่อ ซึ่งเรื่องนี้ กทม.เคยหารือกับ รฟม.เรื่องลดค่าแรกเข้าจุดเชื่อมต่อสายสีเขียวส่วนต่อขยายกับสายสีชมพู แต่ รฟม.แจ้งว่าผู้รับสัมปทานสายสีชมพูไม่ยินยอมลดค่าแรกเข้า
@คาดหลังปีใหม่ 67 เก็บค่าโดยสารสีเขียวต่อขยาย 15 บาท
นายวิศณุกล่าวถึงนโยบายการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ (ชั่วคราว) อัตรา 15 บาท รวมเส้นทางหลักไม่เกิน 62 บาท ว่า ขณะนี้ได้ยกร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ เสร็จแล้วและมอบให้ฝ่ายกฎหมาย กทม.ตรวจสอบ โดยได้ให้ความเห็นควรมีการปรับแก้ไขเรื่องของเอกสารประกอบการยกร่างประกาศฯ เพื่อความถูกต้องและเหมาะสม โดยเสนอให้ กทม.ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อขอทราบความเห็นอย่างเป็นทางการเรื่องการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แทนที่ก่อนหน้านี้ใช้เอกสารรายงานการประชุมหารือร่วมระหว่าง กทม.กับหน่วยงาน ภายใต้กระทรวงคมนาคม ที่มีมติไม่ขัดข้องกับนโยบายดังกล่าว
โดย กทม.ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากได้รับหนังสือตอบกลับจากคมนาคม จึงจะเสนอนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ลงนามในประกาศใช้ต่อไป