xs
xsm
sm
md
lg

“หมอหมู วีระศักดิ์” พาทำความรู้จัก ‘เด็กพิเศษ’ แนะหากเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ควรรีบพบแพทย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โพสต์ทำความรู้จัก ‘เด็กพิเศษ’ กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ แนะหากพบว่าเด็กออทิสติกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ควรรีบพาไปพบแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินสาเหตุ

จากกรณีวันนี้ (29 ม.ค.) เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจหลังนักเรียนแทงกันภายในโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ก่อเหตุเป็น ‘เด็กพิเศษ’ เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุและแรงจูงใจแน่ชัด อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนต่อไป สำหรับนักเรียนที่ถูกแทงบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา

ล่าสุดเฟซบุ๊ก “หมอหมู วีระศักดิ์” หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้ออกมาโพสต์ทำความรู้จัก ‘เด็กพิเศษ’ กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยระบุว่า "เด็กพิเศษ มาจากคำเต็มว่า “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” หมายถึง เด็กกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเติมจากวิธีการตามปกติ ทั้งในด้าน การใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการเข้าสังคม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของเขาเอง โดยออกแบบการดูแล ช่วยเหลือเด็ก ตามลักษณะความจำเป็น และความต้องการของเด็กแต่ละคน

เด็กพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

1. เด็กที่มีความสามารถพิเศษ

2. เด็กที่มีความบกพร่อง : แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ดังนี้
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการสื่อสาร
- เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และการเคลื่อนไหว
- เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์ และพฤติกรรม
- เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities)
- เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities)
- เด็กออทิสติก (รวมถึงความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้านอื่นๆ - PDDs)
- เด็กที่มีความพิการซ้อน

3. เด็กยากจนและด้อยโอกาส

คำว่า "เด็กพิเศษ" ในปัจจุบันมักหมายถึง กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องเท่านั้น ส่วนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ กับกลุ่มเด็กยากจนและด้อยโอกาส มักไม่ค่อยเรียกว่าเป็นเด็กพิเศษ"

และโพสต์เพิ่มเติมว่า "เด็กออทิสติกบางรายอาจมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายผู้อื่นได้ สาเหตุหลักมาจากความบกพร่องในการสื่อสารและการเข้าสังคม เด็กออทิสติกอาจมีปัญหาในการเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น จึงอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ หรือทำลายข้าวของ เพื่อแสดงออกถึงความโกรธ ความหงุดหงิด หรือความคับข้องใจ

นอกจากนี้ เด็กออทิสติกอาจมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง จึงอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาอย่างกะทันหัน โดยอาจไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน เด็กออทิสติกบางรายอาจมีอาการหมกมุ่นหรือชอบทำซ้ำๆ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นได้ เช่น การทำร้ายตนเอง การทำร้ายผู้อื่น การทำลายข้าวของ หรือวิ่งเล่นอย่างไร้ทิศทาง

ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กออทิสติกทำร้ายผู้อื่น ได้แก่
1. ระดับความรุนแรงของความบกพร่องทางสติปัญญา
2. ประวัติความรุนแรงในครอบครัว
3. สภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น การถูกกลั่นแกล้ง หรือการถูกทอดทิ้ง

หากพบว่าเด็กออทิสติกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ควรรีบพาไปพบแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินสาเหตุและหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม"






กำลังโหลดความคิดเห็น