xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก "เด็กพิเศษ" มีกี่กลุ่ม กรมสุขภาพจิตเผยสถิติก่อเหตุมีน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีนักเรียนอายุ 14 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ก่อเหตุใช้มีดปลอกผลไม้แทงคอเพื่อนร่วมชั้นจนเสียชีวิต ภายในโรงเรียนย่านพัฒนาการ 26 โดยมีการอ้างว่าเป็นเด็กพิเศษนั้น

หลายคนอาจสงสัยว่า "เด็กพิเศษ" สามารถก่อเหตุเช่นนี้ได้จริงหรือไม่ แล้วเด็กพิเศษเป็นแบบไหนอย่างไร ข้อมูลจากเว็บไซต์สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีการเผยแพร่บทความเรื่อง "เด็กพิเศษ Special Child" ซึ่งเขียนโดย นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และ ผอ.รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลไว้ดังนี้


เด็กพิเศษ (Special Child) เริ่มเป็นคำที่คุ้นหูมากขึ้นในปัจจุบัน หลายคนอาจสงสัยว่าพวกเขาคือใคร และเด็กแบบไหนหรือที่เป็นเด็กพิเศษ เด็กกลุ่มนี้มีความสำคัญอย่างไร

เด็กพิเศษ เริ่มได้รับความสนใจ และการดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจัง มาเมื่อไม่นานนี้ ทั้งๆ ที่เด็กกลุ่มนี้มีมานานแล้วเมื่อกล่าวถึงเด็กพิเศษ แต่ละคนก็มักมีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป บางคนนึกถึงเด็กที่มีความสามารถพิเศษ บางคนนึกถึงเด็กที่มีความบกพร่อง

เด็กพิเศษ มาจากคำเต็มว่า “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” หมายถึงเด็กกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเติมจากวิธีการตามปกติ ทั้งในด้าน การใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการเข้าสังคม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของเขาเอง โดยออกแบบการดูแล ช่วยเหลือเด็ก ตามลักษณะความจำเป็น และความต้องการของเด็กแต่ละคน

เด็กพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

- เด็กที่มีความสามารถพิเศษ

- เด็กที่มีความบกพร่อง

- เด็กยากจนและด้อยโอกาส

เด็กแต่ละกลุ่ม มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษเหมือนกัน แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละคน ในบทความนี้จะกล่าวถึงขอบเขตของเด็กพิเศษ แต่ละกลุ่มว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน


1) เด็กที่มีความสามารถพิเศษ

เด็กกลุ่มนี้มักไม่ค่อยได้รับการดูแล ช่วยเหลืออย่างจริงจัง เนื่องจาก เรามักคิดว่าพวกเขาเก่งแล้ว สามารถเอาตัวรอดได้ บางครั้งกลับไปเพิ่มความกดดันให้มากยิ่งขึ้น เพราะคิดว่าพวกเขาน่าจะทำได้มากกว่าที่เป็นอยู่อีก วิธีการเรียนรู้ในแบบปกติทั่วไป ก็ไม่ตอบสนองความต้องการในเรียนรู้ของเด็ก ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ทำให้ความสามารถพิเศษที่มีอยู่ไม่ได้แสดงออกอย่างเต็มศักยภาพ

เด็กที่มีความสามารถพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ดังนี้

- เด็กที่มีระดับสติปัญญาสูง คือ กลุ่มเด็กที่มี ระดับสติปัญญา (IQ) ตั้งแต่ 130 ขึ้นไป

- เด็กที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน อาจไม่ใช่เด็กที่มีระดับสติปัญญาสูง แต่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้านที่โดดเด่นกว่าคนอื่นในวัยเดียวกัน อาจเป็นด้าน คณิตศาสตร์ - ตรรกศาสตร์ การใช้ภาษา ศิลปะ ดนตรี กีฬา การแสดง ฯลฯ

- เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์


2) เด็กที่มีความบกพร่อง

มีการแบ่งหลายแบบ ในที่นี้จะยึดตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ที่แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ดังนี้

- เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น

- เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน

- เด็กที่มีความบกพร่องทางการสื่อสาร

- เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และการเคลื่อนไหว

- เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์ และพฤติกรรม

- เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities)

- เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities)

- เด็กออทิสติก (รวมถึงความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้านอื่นๆ - PDDs)

- เด็กที่มีความพิการซ้อน


3) เด็กยากจนและด้อยโอกาส

คือ เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน ขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นในการเจริญเติบโต และการเรียนรู้ของเด็ก และรวมถึงกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กถูกใช้แรงงาน เด็กต่างด้าว ฯลฯ

เด็กกลุ่มต่างๆที่กล่าวถึง เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ควรได้รับการดูแลเพิ่มเติมด้วยวิธีการพิเศษ ซึ่งต่างไปจากวิธีการตามปกติ เพื่อช่วยให้สามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ เพื่อให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี มีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม และได้รับการยอมรับในสังคม

คำว่า "เด็กพิเศษ" ในปัจจุบันมักหมายถึง กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องเท่านั้น ส่วนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ กับกลุ่มเด็กยากจนและด้อยโอกาส มักไม่ค่อยเรียกว่าเป็นเด็กพิเศษ

ขณะที่ นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถิติเด็กพิเศษที่ก่อคดีนั้นมีน้อยมาก เพราะเด็กที่มีอาการมาก มักเข้าสู่กระบวนการรักษาไม่สามารถมาเรียนร่วมกับเด็กธรรมดา ยกเว้นเด็กที่มีอาการไม่มาก อย่างสมาธิสั้น สามารถเรียนได้ตามปกติ แค่ชอบแกล้งเพื่อนหรือไม่อยู่นิ่งเท่านั้น ทั้งนี้ การอ้างเอาความพิเศษมาเพื่อลดหย่อนโทษนั้น ส่วนใหญ่มักทำในส่วนของผู้ก่อเหตุ แต่ในกระบวนการทางกฎหมาย จะมีการตรวจสอบถึง 2 ชั้น ในการแยกแยะว่า เด็กพิเศษคนนั้นขณะก่อเหตุ สติรับรู้ รับผิดรับชอบหรือไม่ โดยมีทั้งคณะกรรมการสหวิชาชีพพิจารณา และมีผู้พิพากษาพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการยกหรือการอ้างรับผิดชอบจากการกระทำนั้นๆ สำหรับการที่เด็กคนหนึ่งจะก่อพฤติกรรมความรุนแรงได้นั้นขึ้นอยู่ 3 ปัจจัย คือ ตัวเด็ก ผู้ปกครอง และสิ่งแวดล้อม เพราะแค่ลำพังตัวเด็ก มีตั้งแต่กระทำเพราะเจ็บป่วย ยาเสพติด ถูกชักจูง ส่วนในมุมครอบครัวก็อาจเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น