xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าแลนด์บริดจ์ อาจผิดตั้งแต่ยุทธศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ผศ.ดร.สราวุธ" ชี้แลนด์บริดจ์ กลุ่มเป้าหมายเป็นเรือในภูมิภาคมากกว่าเรือข้ามทวีป แนะโฟกัสให้ถูกกลุ่ม ติงเทียบการเติบโตกับท่าเรือแหลมฉบังที่สูงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ไม่สมเหตุสมผล ขนาดช่องแคบมะละกาเองโตแต่ละปีน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์



วันที่ 25 ม.ค. 2567 ผศ.ดร.สราวุธ จันทร์สุวรรณ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะสถิติประยุกต์ NIDA ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "เดินหน้าแลนด์บริดจ์ อาจผิดตั้งแต่ยุทธศาสตร์" ดำเนินรายการโดย กิตติชัย ไพโรจน์ไชยกุล

ผศ.ดร.สราวุธกล่าวในช่วงหนึ่งว่า ผลจากการศึกษาพบว่าแลนด์บริดจ์จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางประมาณไม่เกิน 3 วัน ต้องเปรียบเทียบเรือเดินสมุทรระหว่างทวีป การเซฟได้ 2-3 วัน คุ้มค่าไหม กับการมาแวะเปลี่ยนถ่าย นี่ยังไม่รวมเรือต้องขนถ่ายสินค้าขึ้นกับลงในแต่ละสองฝั่ง ในกรณีที่เป็นแลนด์บริดจ์ แต่ถ้าคลองไทยสามารถผ่านได้เลย

ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้าย ยกสินค้าขึ้นลง เรือเทียบท่าก็มีค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าผ่านทางด้วย มันเป็นความพยายามที่เราต้องเปรียบเทียบว่ามีโครงการลักษณะนี้ สุดท้ายจะมีคนเข้ามาใช้หรือเปล่า

ผศ.ดร.สราวุธกล่าวอีกว่า ตนมองว่าเรือข้ามทวีป โอกาสมาใช้บริการมีน้อยกว่าตัวเรือที่เดินทางในภูมิภาค เราอาจต้องโฟกัสให้ถูกกลุ่มในการดึงดูดคนมาใช้

ความแออัดของช่องแคบมะละกาเป็นอีกเหตุผลที่ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้อาจหันมาที่แลนด์บริดจ์ ตอนนี้สิงคโปร์พยายามขยาย capacity รองรับสิ่งนี้แล้ว ถ้าเขาไม่เห็นว่ามีดีมานด์เขาคงไม่ทำ

เมื่อถามว่าการออกแบบเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายหรือเปล่า ผศ.ดร.สราวุธกล่าวว่า ทุกคนไม่รู้อนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แบบจำลองที่เราคาดการณ์จะเป็นตามที่เราคาดการณ์หรือเปล่า มีสมมติฐานว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ย 10 ปี 35 เปอร์เซ็นต์ โดยไปเทียบกับการเกิดของแหลมฉบัง ต้องดูว่าสมเหตุสมผลหรือเปล่า แหลมฉบัง 30 ปีก่อน เกิดจากพื้นที่ที่ไม่ได้พัฒนา จนกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม โต 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่แปลก

ต่อให้เป็นช่องแคบมะละกาเอง โตแต่ละปีน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ต้องกลับมาทบทวนว่าสัดส่วนการเติบโตที่สมมติฐาน สมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด


กำลังโหลดความคิดเห็น