“มนพร” แจงโครงการแลนด์บริดจ์ อยู่ระหว่างการศึกษาทุกมิติ ยันรับฟังทุกความเห็น ย้ำ พร้อมจะทบทวนหากไม่คุ้มค่า ด้าน “ก้าวไกล” งงศึกษาไม่เสร็จ นายกฯ ไปเร่ขายทำไม หวั่นจะขายหน้า
วันนี้ (18 ม.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สดถามถึงการทำโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ในรายละเอียดของผลการศึกษาบนข้อเท็จจริง เช่น สายการเดินเรือ การลดค่าใช้จ่ายในสายการเดินเรือที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนระหว่าง แลนด์บริดจ์เมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกา รวมถึงประมาณการเรือขนส่งที่จะใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ตามผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตนฐานะฝ่ายค้าน ไม่ได้ค้านไปเรื่อย แต่จากการรับฟังข้อมูล ไม่พบรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริง แต่พบเป็นข้อมูลเพื่ออวยเท่านั้น และฝันใหญ่เท่านั้น
“จากผลการศึกษาพบว่า การขนส่งจะเสียเวลา 7-10 วัน ที่จะขนย้ายสินค้าขึ้นลง และสายการเดินเรือต้องเพิ่มจำนวนเรือ 7-10 ลำ ถือว่ามีค่าใช้จ่ายและเสียเวลาที่มากกว่าช่องแคบมะละกา และช่องทางเดินเรืออื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญที่จะบอกในความคุ้มค่าของการลงทุน ทั้งนี้ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สภาพัฒน์บอกว่าโครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่า และเสนอให้ลดขนาดของโครงการและลงทุน รวมถึงผลระทบชุมชน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้รัฐบาลต้องการเพิ่มขนาด ข้อมูลทางธุรกิจไม่ชัดเจน แต่ไปเร่ขาย ซึ่งจะขายของหรือขายหน้าต้องรอดู” นายสุรเชษฐ์ ตั้งกระทู้
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม ชี้แจงว่า ตนจะผลักดันความฝันแลนด์บริดจ์นั้นให้เป็นจริงและลงมือทำ ทั้งนี้ โครงการช่องทางแลนด์บริดจ์เพื่อลดการเสียเวลาและระยะทางขนส่ง จากที่ช่องแคบมะละกามีความแออัด และมีปัญหาปล้นเรือสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การขนส่งสินค้าจากประเทศจีนไป ออสเตรเลีย ทางเรือมีเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศจีนตอนใต้หลายพื้นที่ไม่ติดทะเล หากมีโครงการแลนด์บริดจ์จะทำให้มีเรือตู้สินค้ามาที่แลนด์บริดจ์เพิ่มมากขึ้น เพราะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย แม้ไม่ใช่ทุกเส้นทางการเดินเรือ แต่จากการศึกษาพบว่า เส้นทางที่ขนส่งเส้นทางเรือฟีดเดอร์ที่จะประหยัด แต่ระยะยาวหากจำนวนตู้สินค้าเพิ่มมากขึ้น เรือใหญ่จะเข้ามารับตู้สินค้าจากท่าเรือระนอง จะมีเพิ่มมากขึ้น
“อย่างสินค้าเทกอง ปูนซีเมนต์ หรือไม้ ที่ขนส่งโดยตู้สินค้า หากเข้ามาที่ท่าเรือระนองจะลดต้นทุนสินค้า และเมื่อมีเรือมากขึ้นจะทำให้เกิดการตอบโต ขณะที่ความคุ้มค่าของการทำโครงการขนาดใหญ่ นั้น ยืนยันว่า บริษัทที่ปรึกษาจะศึกษาทุกมิติ และบริษัทที่จะลงทุนต้องเข้ามาศึกษาในการศึกษาของประเทศไทยในแง่ความเป็นไปได้ หากไม่คุ้มค่าเขาไม่มาลงทุน แต่เมื่อศึกษาแล้วประเด็นที่เป็นไปไม่ได้ต้องกลับมาทบทวน” นางมนพร ชี้แจง
นางมนพร กล่าวตอบคำถามถึงการขนส่งสินค้าเทกอง และการขนส่งน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันที่อยู่ในผลการศึกษาหรือไม่ ว่า เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการไม่ได้บอกว่า จะนำสินค้าประเภทใดที่จะเข้าสู่เส้นทาง ซึ่งประเด็นการสร้างโรงกลั่นหรือท่อน้ำมัน ทาง สนข.เคยตอบคำถามในกรรมาธิการแล้ว หากจะมีต้องมีการศึกษา ทั้งนี้ ในรายละเอียดของสินค้านั้น ขอชี้แจงว่าเป็นเพียงผลการศึกษาที่ยังไม่เสร็จสิ้น หากศึกษาแล้วเสร็จจะรายงานในทุกมิติ
นายสุรเชษฐ์ ตั้งกระทู้ถามย้ำว่า เมื่อผลศึกษายังไม่ชัดเจน ทำไมถึงไปเร่ขายต่างประเทศแล้ว ขณะที่การศึกษาอื่นๆ เช่น มอเตอร์เวย์ ได้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งการดำเนินการในโครงการที่จะเกิดขึ้น รัฐบาลจะยกที่ให้นายทุนกี่ไร่ และนานเท่าไร นอกจากนั้น ยังมีประเด็นการชักศึกเข้าบ้านในแง่นโยบายทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงมิติเชิงพื้นที่มากกว่าการขายฝันโครงการใหญ่ที่พบว่าหลายโครงการไม่ประสบความสำเร็จ ประชาชนเดือดร้อน แต่ผู้รับเหมารวม ทั้งนี้ ขอให้ไตร่ตรองให้ดีว่าควรทำหรือไม่ควรทำ มีความคุ้มค่าและโปร่งใส มากกว่าอยากทำ
โดย นางมนพร ชี้แจงว่า ยอมรับว่า ทุกโครงการมีผลกระทบ จึงใช้กลไกของสภาผ่านกรรมาธิการ ที่ประกอบด้วย ทุกพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาศึกษา ประชุมกว่า 10 ครั้ง และลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากนั้นเมื่อศึกษาแล้วจะนำมาให้สภาพิจารณา และ ส.ส.สามารถให้ความเห็นได้ หากส่วนใหญ่เห็นชอบให้รัฐบาลจะพิจารณาว่ามีสาระทำโครงการหรือไม่ หากตั้งโครงการและจะทำ ต้องมาขอความเห็นชอบจากสภา ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ หากพบว่าของบสูงเกินไป สามารถอภิปรายปรับลดได้
“ทั้งนี้ ก่อนทำโครงการได้มีการศึกษารายละเอียดใน 10 ส่วน ยืนยันว่า ไม่มีการหมกเม็ด ทั้งระบบโลจิสติกส์ การออกแบบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์รูปแบบการลงทุน การออกแบบท่าเรือ 84% สถานะประเมินผลเกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อม ข้อกังวลของประชาชน ชาวประมง การขับเคลื่อนและการร่วมทุน ซึ่งกระบวนการแต่ละส่วนอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งนี้ ในข้อห่วงใยของฝ่ายค้านจะนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาด้วย” นางมนพร กล่าว