เมืองไทย 360 องศา
หากสังเกตจะเห็นว่าพรรคก้าวไกลได้เริ่มเปิดเกมรุกทางการเมืองพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพิ่มดีกรีมากขึ้นในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เริ่มจากการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หัวละหมื่นบาท แม้ว่าในครั้งนั้นจะดูเหมือนเป็นการเกาะติดเฉพาะบุคคล โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ที่เป็นมือวางทางเศรษฐกิจของพรรคก็ตาม
แต่ถัดมาก็ได้เห็นการแซะของระดับหัวหน้าพรรคคือ นายชัยธวัช ตุลาธน ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ในลักษณะที่เรียกว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติทางกฎหมาย ไม่เสมอภาคหรือ “คนไม่เท่ากัน” นั่นแหละ มีทั้งการให้สัมภาษณ์แสดงความเห็น และการอภิปรายในสภาระหว่างการตั้งกระทู้ถามและมีการนำเรื่องดังกล่าวมาพาดพิงถึง “เทวดาชั้น 14” แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อตรงๆ แต่หากนิยามคำว่า “เทวดา” หรือ “คนชั้น 14” แล้วจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก นายทักษิณ เท่านั้น จนเกิดการประท้วงวุ่นวายตามมาจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ไม่มีทางให้พูดถึงคนๆนี้อย่างเด็ดขาด
ล่าสุดก็ยังมีความเห็นขัดแย้งตามมาอีก นั่นคือ กรณี “แลนด์บริดจ์” หรือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาโครงการดังกล่าว ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลทั้ง 5 คน ได้พร้อมใจกันลาออก โดยอ้างถึงรายงานผลการศึกษาไม่ครอบคลุม ได้ไม่คุ้มเสีย เสี่ยงทำให้สูญเปล่าด้านงบประมาณ เป็นต้น
สำหรับรายชื่อคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ นายจุลพงษ์ อยู่เกศ สส.บัญชีรายชื่อ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล นักวิชาการ และที่ปรึกษาของพรรคก้าวไกล
นายจุลพงษ์ กล่าวว่า วันนี้จะมีการประชุมนัดสุดท้าย ในวาระการพิจารณาอนุมัติผลการศึกษารายงานของ กมธ.ชุดนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ สส.ของพรรคก้าวไกลที่เป็น กมธ.ได้ทักท้วงถึงความไม่สมบูรณ์ของรายงาน และความจำเป็นที่ กมธ.จะต้องได้รับคำตอบ และคำชี้แจงเพิ่มเติมจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในหลายประเด็น เช่น ไม่มีความชัดเจนเรื่องท่อส่งน้ำมัน การเปลี่ยนแปลงแผนการศึกษาสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจขัดกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เคยมีมาก่อน ความน่าเชื่อถือต่างๆ อาทิ การประเมินความต้องการของบริษัทเดินเรือ และสินค้าซึ่งจะใช้ในโครงการแลนด์บริดจ์ที่เกินจริง การประเมินความแออัดของการเดินเรือ ในช่องแคบมะละกา และท่าเรือสิงคโปร์ ที่ยังมีข้อสงสัย การประหยัดต้นทุนการขนส่ง เมื่อเทียบกับการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาที่ยังมีความไม่ชัดเจน รวมถึงการไม่สามารถให้ตัวเลขทางการเงินที่สมเหตุผลในการคำนวณผลตอบแทนทางการเงิน และเศรษฐกิจ ก่อนที่ กมธ.จะพิจารณา และอนุมัติรายงานผลการศึกษา
นอกจากนี้ บทสรุปของรายงานการศึกษาที่ สนข.เคยทำ ได้ตัวเลขผลตอบแทนการลงทุนสูงถึง 17% ขัดแย้งกับบทสรุปของรายงานการศึกษาสภาพัฒนาการและเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่มีผลว่า โครงการนี้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยข้อมูลเหล่านี้ อาจทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสื่อข้อมูลผิดกับนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ ในระยะ 2-3 ปี รัฐบาลใช้งบประมาณในการศึกษาโครงการนี้สูงถึง 68 ล้านบาท แต่จนถึงวันนี้โครงการนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด
ด้าน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ตนได้มีการซักถามค้างจากในวันที่ 22 ธ.ค. 2566 กับทาง สนข. และที่ปรึกษาที่จัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์ และยังคงมีข้อถกเถียงกันในหลายประเด็น เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องข้อมูล และข้อเท็จจริง ว่ามีความคุ้มค่า และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในโครงการนี้
แน่นอนว่าโครงการนี้กว่าจะได้ข้อสรุปว่าจะเดินหน้าหรือไม่ได้ไปต่อ ยังมีอีกหลายขั้นตอน และการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ก็เพื่อศึกษาหาข้อมูล ความเป็นไปได้อย่างรอบด้าน จากนั้นก็ขอเป็นมติในสภา หากผ่านก็เสนอต่อไปยังรัฐบาลได้พิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือเห็นแย้งอย่างไร
แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นกับเรื่องนี้ มันยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งที่เพิ่มดีกรีมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับการ “แบ่งข้าง แบ่งขั้ว” ที่ชัดเจน โดยแยกเป็นฝ่ายรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ส่วนอีกฝ่ายก็มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนหลัก โดยในกลุ่มหลังนี้พรรคประชาธิปัตย์ที่แม้เป็นฝ่ายค้านด้วยกัน ยังแทงกั๊กอยู่ แต่เหลื่อมไปทางหนุนฝ่ายรัฐบาล อาจเป็นเพราะต้องระมัดระวัง เนื่องจากตัวเองยังมีฐานเสียงในภาคใต้จึงอาจต้องรอทิศทางลมให้ดีก่อนก็ได้
อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลนาทีนี้เริ่มเห็นความ “ต่างขั้ว” ชัดเจนขึ้นมาก อาจเป็นเพราะ “เข้าสู่ทางแคบ” ต่างคนต่างก็ต้องการเอาตัวรอด และการได้รับชัยชนะในวันหน้า เพราะมันเหมือนไฟต์บังคับให้ต่อฟาดฟันกัน เนื่องจากกระแสบีบรัดให้ต้องเดินคนละทาง แข่งขันกัน เชื่อว่าการเมืองในอนาคตทั้งสองพรรคจะเป็นสองพรรคใหญ่ที่จะต้องช่วงชิงกันในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนพรรคอื่นอาจเป็นแค่พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไม่ใช่แกนหลัก หรืออาจมีการควบรวมกับพรรคอื่นก็ได้
แน่นอนว่าหากโฟกัสไปที่พรรคเพื่อไทยที่แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าในการเลือกตั้งคราวหน้าอาจจะพ่ายแพ้ให้กับพรรคก้าวไกลอีกครั้งก็ตาม แต่ก็ยังเชื่อว่าพวกเขาจะไม่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จะต้องเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยจะร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมนั่นแหละ และแนวทางแบบนี้มีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก นั่นคือ แพ้เลือกตั้งแต่รวมกลุ่มตั้งรัฐบาลผสมแบบปัจจุบัน
แต่สำหรับพรรคก้าวไกลที่มองว่าพวกเขาน่าจะชนะการเลือกตั้งมาที่หนึ่งอีก แต่ก็นั่นแหละ “ไม่มีเพื่อน” หากตราบใดยัง “ไม่ลดเพดาน” เรื่องมาตรา 112 และเรื่องสถาบันฯลงมา มันก็ไปต่อยาก อีกทั้งดูแนวโน้มแล้วโอกาสที่จะ “แลนด์สไลด์” มันก็ยาก เพราะเชื่อว่ากระแสพีคสุดได้ผ่านไปแล้ว เหมือนกับสองฝ่ายตรงกันอยู่แบบนี้
หากพิจารณาจากท่าทีล่าสุดของพรรคก้าวไกลต่อกระแสการคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ของฝ่ายรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ที่กำลังโหมโรงเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาร่วม ล่าสุดก็ได้นำคณะไปร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอร์รัม ที่เมืองดาวอส สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป้าหมายก็หวังเชิญชวนนักงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่ดำเนินธุรกิจด้านท่าเรือและโลจีสติกส์เข้ามาลงทุน
ดังนั้นสำหรับพรรคก้าวไกลมันก็ย่อมต้องแสดงบทบาทในการตรวจสอบ ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม หากสังเกตจะเห็นว่าก้าวไกลเริ่มจับ “เรื่องใหญ่” ที่มีผลกระทบทั้งอารมณ์ความรู้สึกของสังคมมากขึ้น เล่นเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโครงการขนาดใหญ่ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต และล่าสุดชนโครงการแลนด์บริดจ์ ที่แต่ละเรื่องพรรคเพื่อไทยถึงกับเต้นผางเหมือนกัน และหากท่าทียังคงเส้นคงวาแบบนี้ นี่ยังไม่นับบรรดาระดับ “ลูกน้อง” ที่ดาหน้าออกมาปะทะกันในสื่อโซเชียลดุเดือด ก็ถือว่าน่าจับตาอย่างยิ่ง !!