xs
xsm
sm
md
lg

อย่ารีรอ! ผู้เชี่ยวชาญมาเลย์เร้ารัฐประเมิน 'แลนด์บริดจ์' ของไทย ถ้าเป็นประโยชน์ต้องเข้าร่วมโดยตรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก - https://www.landbridgethai.com/
มาเลเซียไม่อาจรอจนกว่าแผนการสร้างแลนด์บริดจ์ของไทย ที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก กลายเป็นจริง แล้วถึงค่อยดำเนินการเพื่อให้ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจรายหนึ่ง ขณะที่อีกคนแนะว่าถ้าพิจารณาแล้วว่ามันเป็นประโยชน์กับมาเลเซีย เมื่อนั้นกัวลาลัมเปอร์ก็ควรมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโดยตรง

รองศาสตราจารย์ศาซิดา จัน มูห์ด ข่าน จากสถาบันนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน (ECOFI) คณะเศรษฐศาสตร์ การเงิน และธนาคาร มหาวิทยาลัยอุตรามาเลเซีย (UUM) เน้นย้ำว่าผลกระทบของโครงการนี้ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นต้องได้รับการประเมินและศึกษาในทันที

"แม้ว่าโครงการนี้จะยังห่างไกลจากการสำเร็จลุล่วง แต่เราไม่อาจรอจนกว่ามันจะเสร็จสมบูรณ์ เพราะโครงสร้างพื้นฐานนี้จะแข่งขันกับภาคการขนส่งทางทะเลของมาเลเซีย โครงการแลนด์บริดจ์นี้จะมอบทางเลือกที่เร็วกว่าและประหยัดกว่าในแง่ของโลจิสติกส์สำหรับเรือทั้งหลายที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกาในปัจจุบัน" เธอบอกกับสำนักข่าวเบอร์นามา แสดงความคิดเห็นต่อคำแถลงเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยเมื่อเร็วๆ นี้

ศาซิดา จัน กล่าวว่า มาตรการหนึ่งที่มาเลเซียสามารถดำเนินการได้คือ พัฒนาภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ในภาคเหนือของคาบสมุทร โดยเฉพาะในรัฐเปอร์ลิส เคดาห์ และปีนัง เธอบอกว่าโครงการท่าอากาศยานนานาชาติกูลิม (KXP) ในเคดาห์ ที่มีการเสนอกันมาจะช่วยเพิ่มมูลค่าเช่นเดียวกับสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย ขณะเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์กับมาเลเซียด้วย

"เราจำเป็นต้องมองทั้งสองโครงการนี้ (แลนด์บริดจ์ของไทยและ KXP) ในแง่บวก และประเมินจุดแข็งและข้อจำกัดของแต่ละโครงการ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบริการศูนย์กลางขนส่งสินค้าจะถูกพัฒนาไปตามกรอบความต้องการในปัจจุบัน และ KXP จะสามารถสนับสนุนในแง่บวกแก่ท่าเรือปีนังและบริการขนส่งสินค้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติปีนัง" เธอกล่าว

ขณะเดียวกัน รองศาสตราจารย์อับดุล ราฮิม อานัวร์ เพื่อร่วมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยด้านอินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ แห่ง UUM บอกว่ามาเลเซียจำเป็นต้องเข้าร่วมโดยตรงกับโครงการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ หากมองว่าประเทศได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ โดยสามารถทำได้ผ่านการลงทุนหรือส่งผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทท้องถิ่นไปร่วมกับบริษัทไทยที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

"โครงการแลนด์บริดจ์อาจไม่เป็นประโยชน์กับมาเลเซีย หากมันสร้างเสร็จแล้วตั้งอยู่ห่างจากมาเลเซียมากเกินไป เพราะฉะนั้นเราควรเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากโครงการ"

ด้าน ฮาอิม ฮิลมัน อับดุลลาห์ ประธานคณะกรรมการอุตสาหกรรมและการลงทุน การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของรัฐเคดาห์ กล่าวว่า รัฐบาลระดับรัฐและรัฐบาลกลางของมาเลเซียจำเป็นต้องเริ่มกำลังศึกษาประเมินโครงการดังกล่าว

"โครงการนี้เป็นตัวแทนความท้าทายสำหรับเรา มันส่งผลกระทบอย่างมากจากแง่มุมทางภูมิรัฐศาสตร์ รัฐและรัฐบาลกลางจำเป็นต้องพิจารณามัน" เขากล่าวกับที่ประชุมสมัชชารัฐเคดาห์เมื่อเร็วๆ นี้

ครั้งที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังการเยือนอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย เป็นเวลาหนึ่งวัน เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ดาโต๊ะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่าแผนของไทยในการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นประโยชน์กับมาเลเซียเช่นกัน

พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย บอกด้วยว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐาของไทย ได้ให้คำรับประกันการมีส่วนร่วมของมาเลเซียในโครงการนี้

ไทยได้เสนอให้มีการสร้างท่าเรือและสะพานแผ่นดิน (แลนด์บริดจ์) เชื่อมระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ที่จะลดเวลาในการเดินทางของเรือต่างๆ โดยการเลี่ยงช่องแคบมะละกา

นายกรัฐมตรีเศรษฐา ได้ให้ข้อมูลกับพวกนักลงทุนในซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ว่าโครงการนี้ซึ่งคาดหมายว่าจะมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท จะสามารถลดเวลาการเดินทางเฉลี่ย 4 วัน และประหยัดค่าขนส่งได้ 15%

(ที่มา : เบอร์นามา)


กำลังโหลดความคิดเห็น