ช่องทางโซเชียลฯ ของบลูเพย์ ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต กลับมาหลังหยุดให้บริการเมื่อปี 2564 หรือเมื่อ 2 ปีก่อน ภายใต้ผู้บริหารชุดใหม่ ระบุกลับมาดำเนินการปกติอีกครั้งภายใต้คำแนะนำด้านกฎระเบียบของแบงก์ชาติ แนะลูกค้าเดิมเข้าสู่ระบบและกรอกข้อมูลเพื่อเอาเงินออกจากระบบ ด้านผู้ใช้เดิมไม่กล้า เหตุกลัวว่าจะเป็นแก๊งมิจฉาชีพ
วันนี้ (25 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท บลูเพย์ จำกัด ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) เครื่องหมายการค้าบลูเพย์ (Blue Pay) ได้กลับมาเคลื่อนไหวทางสื่อโซเชียลอีกครั้ง หลังจากหยุดประกอบกิจการชำระค่าบริการออนไลน์ทั้งหมด ได้แก่ ค่าสาธารณูปโภค บัตรเครดิต/สินเชื่อ ลีสซิ่ง ค่าโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2564 เป็นต้นมา และได้ให้บริษัท สแน๊คทูโก (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการและบริการต่างๆ ของตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ BLUEmart ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ BluePay พบว่ามีผู้ใช้งานส่วนหนึ่งเรียกร้องให้บริษัทฯ คืนเงินที่คงค้างในแอปพลิเคชันเพราะไม่สามารถติดต่อได้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 เฟซบุ๊ก BluePay ประกาศว่า เนื่องจากตอนนี้ทางบริษัท บลูเพย์ จำกัด ผู้บริหารท่านใหม่ มีความประสงค์จะคืนจำนวนเงินคงค้างในระบบแอปพลิเคชัน Blue Pay ทั้งหมดของคุณลูกค้า ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการที่มียอดเงินคงค้าง รบกวนกดคัดลอก m.bluepay.asia วางที่ Google พร้อมกรอกข้อมูลที่สมัคร Blue Pay มาก่อนหน้านี้ และขออภัยในความไม่สะดวกก่อนหน้านี้ด้วย ปรากฏว่าเนื่องจากมีการกรอกข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะข้อมูลบัตรประชาชน ขณะที่ผ่านมามีกลุ่มมิจฉาชีพหลอกขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อก่อเหตุอาชญากรรม ทำให้ผู้ใช้งาน Blue Pay เดิมส่วนใหญ่ไม่กล้าลงทะเบียน
ต่อมาวันที่ 3 ม.ค. 2567 เฟซบุ๊ก BluePay ประกาศว่า "กราบสวัสดีปีใหม่ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 บลูเพย์ขอขอบคุณอย่างจริงใจ ที่รอคอยและซัปพอร์ตตลอดระยะเวลายาวนานด้วยความมุ่งมั่นและความเข้าใจ บลูเพย์มีความยินดีและมีความประสงค์ที่จะแจ้งประกาศให้ลูกค้าทุกท่านทราบผ่านช่องทาง FB นี้ ว่าระบบ Bluepay กลับมาดำเนินการปกติอีกครั้งภายใต้คำแนะนำด้านกฎระเบียบของ ธนาคารแห่งประเทศไทย เวอร์ชันเว็บ https://m.bluepay.asia ออนไลน์แล้ว ผู้ใช้ใหม่และเก่าสามารถเข้าสู่ระบบและใช้งานได้ ผู้ใช้เก่าสามารถเข้าสู่ระบบโดยใช้บัญชี Bluepay เดิมโดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ ในขณะเดียวกัน การกู้คืน APP ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการ
ปีใหม่นี้ ทีมงานบลูเพย์ไม่นิ่งนอนใจ จะพัฒนาระบบเพื่อให้บริการที่ดีขึ้น และรับรองว่าลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจกับ Bluepay ให้สมกับที่รอคอย หากบัญชีของลูกค้ามียอดคงเหลือที่จะถอนออก ลูกค้าสามารถเริ่มดำเนินการขอคืนเงินได้ หลังจากยืนยันตัวตนถูกต้องและเรียบร้อยแล้วนั้น ทีมบลูเพย์สัญญาว่าจะดำเนินการคืนเงินให้เสร็จสิ้นภายใน 2 วันทำการหลังจากได้รับคำขอคืนเงิน หากลูกค้ามีคำถามหรือข้อเสนอแนะ โปรดฝากข้อความถึงทีมบลูเพย์ อีเมลฝ่ายบริการลูกค้า: csr@bluepay.asia สายด่วนบริการลูกค้าอยู่ระหว่างการปรับปรุงและจะประกาศให้ทราบในภายหลังเร็วๆ นี้ ทีมงาน Bluepay จะให้บริการลูกค้าด้วยใจจริง ขอให้ลูกค้าและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข และเจริญรุ่งเรืองในอาชีพการงานการเงิน ทีมบลูเพย์ขอขอบคุณอีกครั้งสำหรับการรอคอยและความเข้าใจของลูกค้าทุกท่าน ขอแสดงความนับถือ ทีมงานบลูเพย์"
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่ระบุว่าเป็นอดีตพนักงาน Blue Pay คอมเมนต์สอบถามว่า "อธิบายการกลับมาของบริษัทให้ได้ก่อนครับ ก่อนที่จะอธิบายเรื่องพวกนี้ ผมเป็นอดีตพนักงานของบริษัทนี้ ยืนยันว่า บริษัทนี้เจ๊งไปแล้ว" แอดมินได้ตอบกลับมาว่า "ก่อนหน้านี้เนื่องจากโควิดจึงได้ปิดกิจการลง ณ ตอนนี้มีผู้บริหารใหม่มาดำเนินกิจการใหม่ ภายใต้กฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยค่ะ หากสงสัยหรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Inbox ได้เลยนะคะ"
จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท บลูเพย์ จำกัด ยังมีสถานะยังดำเนินกิจการอยู่ ทุนจดทะเบียนกว่า 481 ล้านบาท มีนายเจียง ซือหยวน นายอู๋ เหวินเซิง และนายภาดล บุญยกิจสมบัติ เป็นกรรมการบริษัท มีผู้ถือหุ้นสัญชาติฮ่องกงเกือบ 100% และหมู่เกาะเคย์แมน ไม่ถึง 1% ผลประกอบการ ปี 2564 มีรายได้รวม 2,779,915.17 บาท ขาดทุนสุทธิ 40,954,135.08 บาท และปี 2565 มีรายได้รวม 6,771,562.07 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,835,254.81 บาท
ขณะที่ข้อมูลจาก BOT License Check ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า บริษัท บลูเพย์ จำกัด มีใบอนุญาตการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ การให้บริการสนับสนุนบริการแก่ผู้รับบัตร การให้บริการรับชำระเงินแทน และการให้บริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา ไม่ใช่บริการรับฝากเงิน และไม่ใช่บริการให้กู้ยืมเงิน
อ่านประกอบ : จากไปอย่างเงียบๆ บลูเพย์ ยุติจ่ายบิลออนไลน์ทั้งหมด ปิดตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ