ธปท.เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นออกเกณฑ์การเปิดระบบการส่งผ่านข้อมูลการเงินระหว่างธนาคาร นอนแบงก์ และผู้ให้บริการสาธารณูปโภค ค่าน้ำค่าไฟ โทรศัพท์ เพื่อให้คนไทยขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะคนที่อยู่นอกระบบ นอกจากนั้น ยังจ่อเปิดให้มีบริษัทรวบรวมข้อมูลทางการเงินแทนลูกค้าเพิ่มความสะดวกมากขึ้น ยืนยันความมั่นใจประชาชน ดูแลความปลอดภัยข้อมูลมาเป็นอันดับต้นๆ หากพบรั่วไหลต้องตรวจพบทันที และจะมีบทลงโทษที่ชัดเจน
นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน และนายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็น (consultation paper) ทิศทางการเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการทางการเงิน (Open Data for Consumer Empowerment) เพื่อนำมาใช้ออกกฎเกณฑ์การส่งต่อข้อมูลทางการเงินของลูกค้าระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเอง และบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินภายใต้การกำกับของ ธปท. (นอนแบงก์) รวมทั้งแนวทางการเปิดให้มีบริษัทที่สามารถรวมรวบข้อมูลทางการเงินของลูกค้าจากแหล่งต่างๆ แทนตัวลูกค้าเพื่อประโยชน์ในการขอทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายจะเริ่มเปิดการส่งมูลเงินฝากของลูกค้าได้เป็นข้อมูลแรกภายในปีหน้า หรือปี 2567
การพัฒนา Open Data for Consumer Empowerment ในภาคการเงินจะเป็นการสร้างกลไกที่เอื้อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลของตนที่มีอยู่กับผู้ให้บริการหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อสมัครหรือใช้บริการการเงิน หรือบริการอื่นๆ กับผู้ให้บริการรายอื่น เช่น การขอสินเชื่อ การสมัครใช้บริการ หรือ การขอใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ทำได้อย่างสะดวกมากขึ้น แทนการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ และยังคงมีความปลอดภัย ขณะที่ผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ด้วยการเชื่อมต่อและกระบวนการที่เป็นมาตรฐานที่มีความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนและต้นทุนการดำเนินการ เอื้อให้เกิดการพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยติดต่อกับธนาคารพาณิชย์ หรืออยู่นอกระบบสถาบันการเงิน เพราะจะมีข้อมูลทางการเงินอื่นๆ เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย เช่น รายได้จากการของสินค้าที่ผ่านเข้าออกแอปพลิเคชันธนาคารมือถือ ความตรงเวลาในการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ การจ่ายค่าโทรศัพท์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการมั่นใจความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าได้มากขึ้น
โดยตามแนวกดังกล่าว ธปท.จะดำเนินการใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.ออกเกณฑ์ ข้อตกลง และการสร้างแรงจูงใจ (regulations and incentives) โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้กำกับของ ธปท.ต้องมีกลไกที่เอื้อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิในการเรียกใช้หรือส่งข้อมูลของตนระหว่างผู้ให้บริการในภาคการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกและปลอดภัย และพิจารณาเปิดให้ผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้กำกับของ ธปท.ให้บริการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ตามความยินยอมของลูกค้าเพื่อให้บริการ หรือนำไปพัฒนาบริการใหม่ๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคส่วนอื่นกับภาคการเงิน 2.กำหนดมาตรฐานกลางในการเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการ (common standard) รวมถึงมีการขึ้นทะเบียนและตรวจสอบผู้ให้บริการที่จะเข้าร่วมโครงการให้มั่นใจว่าสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานกลางที่กำหนดได้ เพื่อให้การเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลมีความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ช่วยลดต้นทุนและความซ้ำซ้อน 3.ดูแลให้มีโครงสร้างพื้นฐานกลางหรือกระบวนการมาตรฐานที่ใช้ร่วมกัน (common infrastructure/shared service) เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถเชื่อมต่อหรือใช้บริการจากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มีกระบวนการการพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้านิติบุคคลผ่านช่องทางดิจิทัลที่เป็นมาตรฐาน และการเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบชำระเงิน
สำหรับความปลอดภัยของการส่งข้อมูล และการมีบริษัทตัวแทนที่สามารถดึงข้อมูลทางการเงินของลูกค้าจากหลายๆ แห่งแทนลูกค้า รวมทั้งการขายข้อมูลและการแฮกข้อมูบจากมิจฉาชีพนั้น ธปท.คำนึงถึงการดูแลความปลอดภัยข้อมูลเป็นอันดับต้นๆ โดยจะกำหนดชัดเจนว่า มีใครบ้างที่เข้าถึงข้อมูลได้บ้าง โดยจะมีตั้งมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเหมาะสม และตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่า บริษัทที่จะเข้ามาร่วมสามารถสอบผ่านระบบความปลอดภัยดังกล่าว เพื่อป้องกันภัยจากระบบไซเบอร์ นอกจากนั้น ยังจะมีระบบการตรวจจับตลอดเวลาเพื่อไม่ให้มีการรั่วไหลของข้อมูล และหากมีการรั่วไหลจะต้องตรวจสอบได้ทันทีว่า รั่วไหลจากบริษัทไหน และจากใคร ใครเป็นผู้ต้องรับผิดชอบ ซึ่งจะมีความผิดและมีบทลงโทษกำกับไว้ ขณะที่การดึงข้อมูลของลูกค้าจะต้องมีระบบการยืนยันตัวตนที่ชัดเจนว่าเป็นการสั่งจากลูกค้าเท่านั้น
ธปท.ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการอย่างรอบคอบ และเพื่อให้การออกแบบนโยบายและขับเคลื่อนกลไก Open Data for Consumer Empowerment ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศอย่างแท้จริง ธปท. จึงขอเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. ถึงวันที่ 31 ธ.ค.66 โดยสามารถส่งความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. หรือทางอีเมล opendata-fsd@bot.or.th เพื่อที่ ธปท.จะได้นำไปประกอบการจัดทำนโยบายและแนวทางการดำเนินการต่อไป