รายแรกหลังญี่ปุ่นแก้กฎหมายเยาวชน ศาลญี่ปุ่นตัดสินโทษประหารชีวิตชายวัย 21 ที่ได้ก่อคดีฆาตกรรมไว้เมื่อตอนอายุ 19 ปี ชาวเน็ตไทยแห่เห็นด้วย เยาวชนไทยก่อคดีร้ายแรงควรได้รับการพิจารณาโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
จากเหตุการณ์สุดสลด เกิดเหตุการณ์กราดยิงในห้างสยามพารากอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายราย ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายได้แล้ว เป็นเยาวชนชาย อายุ 14 ปี พร้อมอาวุธปืนขนาด 9 มม.ที่ใช้ก่อเหตุ แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมเคยเผยแพร่ข้อมูลของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 มาตรา 74 มาตรา 75 ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ ระบุว่ากฎหมายไทยแบ่งอายุและความรับผิดทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนไว้ต่างกัน โดยเด็กที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษในการกระทำความผิดทางอาญา
ส่วนผู้กระทำผิดที่เป็นเด็กอายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี อาจไม่ต้องรับโทษในการกระทำความผิดทางอาญาก็ได้ แต่ศาลอาจว่ากล่าวตักเตือน หรือส่งตัวไปยังสถานฝึกอบรม หรือองค์กรที่ศาลเห็นสมควร ขึ้นอยู่กับความผิดที่กระทำและดุลพินิจของศาล
ขณะที่บุคคลที่อายุเกิน 15 ปี แต่ต่ำกว่า 18 ปี กระทำความผิด ศาลอาจลดโทษให้กึ่งหนึ่ง หรืออาจใช้วิธีการเดียวกับเด็กอายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของคดีและดุลพินิจของศาล ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังถูกตั้งคำถามจากคนจำนวนไม่น้อยว่าถึงเวลาที่จะต้องทบทวนเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่สมควรจะต้องรับโทษทางอาญาหรือยัง เพราะอายุของผู้ก่อเหตุร้ายแรงนั้นน้อยลงเรื่อยๆ และล่าสุด กลุ่มเด็กเดน 5 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีพ่อเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อายุเพียง 14 ปี ฆ่าป้าบัวผันหญิงสติไม่สมประกอบก่อนนำไปโยนทิ้งบ่อน้ำบริเวณหลังปั๊มน้ำมัน ปตท.เก่า (ร้าง) ข้างโรงเรียนอนุบาลศรีอรัญโญทัย ถนนสุวรรณศร อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นอย่างมากมายเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองเด็ก ว่าถึงเวลาที่จะต้องแก้ไขแล้วหรือไม่ สามารถให้เด็กได้รับโทษที่สมควรกับความผิด หรือให้รับโทษเท่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ ยังเกิดแฮชแท็ก #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน ติดเทรนด์ยอดนิยมใน X ของไทยอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (19 ม.ค.) มีรายงานว่า ศาลญี่ปุ่นตัดสินโทษประหารชีวิตชายวัย 21 ที่ได้ก่อคดีฆาตกรรมไว้เมื่อตอนอายุ 19 ปี ซึ่งถือว่ายังเป็นเยาวชนของญี่ปุ่น โดยคดีนี้เป็นคดีแรกนับตั้งแต่มีการปรับปรุงกฎหมายเยาวชนที่มีการตัดสินโทษประหาร ศาลญี่ปุ่นตัดสินโทษประหารชีวิตให้แก่ชายวัย 21 ปีรายหนึ่ง ซึ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (ตอนอายุ 19 ปี) เขาได้ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมและวางเพลิง หลังจากบุกเข้าไปในบ้านของหญิงที่แอบชอบ และฆ่าพ่อแม่ฝ่ายหญิง รวมถึงเผาบ้านของฝ่ายหญิงด้วย
ในการพิจารณาคดีครั้งก่อนๆ อัยการได้ร้องขอให้มีโทษประหารชีวิต โดยกล่าวว่าเขามีความสามารถพอจะนึกคิดและรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำได้แล้ว ในขณะที่ฝ่ายจำเลยแย้งว่าไม่ควรให้โทษประหารชีวิต โดยอ้างว่าชายคนนี้มีสภาพจิตใจบกพร่องอย่างเห็นได้ชัด
โทษประหารชีวิตดังกล่าว นับเป็นคดีแรก นับตั้งแต่ญี่ปุ่นมีการปรับปรุงกฎหมายเยาวชนใหม่ ในการลดอายุการบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายจาก 20 ปี ลงเหลือเพียง 18 ปี เมื่อเดือนเมษายน ปี 2565
ทั้งนี้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็น 2 ใน 7 ประเทศของกลุ่มจี 7 (G7) ที่ยังลงโทษประหารชีวิตด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงการแขวนคอในญี่ปุ่น และการฉีดยาพิษในสหรัฐฯ