"วสันต์" เผย กสม. เตรียมชงรัฐ ยกเลิกโทษประหาร แนะไม่กำหนดในกม.ใหม่ -แก้กม.ให้ศาลมีทางเลือกกำหนดโทษอื่นแทน
วันนี้ ( 28 ธ.ค.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าว ว่า กสม. ได้รับเรื่องเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ระบุว่า ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดต้องคำพิพากษาศาลทหารให้ลงอาชญาประหารชีวิต ท่านให้เอาไปยิงเสียให้ตาย” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า “การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้” จากการศึกษารวบรวมข้อมูลกฎหมายไทยในปัจจุบัน พบว่า กฎหมายหลายฉบับยังคงมีโทษประหารชีวิต มีกฎหมายบัญญัติโทษประหารชีวิต มีการบัญญัติโทษไว้สำหรับการกระทำความผิดที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ที่สุด เช่น ความผิดคดียาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา และยังมีกฎหมายที่บัญญัติให้มีโทษประหารชีวิตเพียงสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญาทหาร และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2558 ซึ่งกสม. เห็นว่า จำเป็นต้องจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการปรับปรุงกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
ดังนั้นในการประชุม กสม. เมื่อวันที่ 13 พ.ย.66 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการและการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงกลาโหม โดยยระยะสั้น ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่กำหนดโทษประหารชีวิตไว้ในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่ และออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียวที่อยู่ในกฎหมายฉบับต่าง ๆ รวมไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. 2565 โดยกำหนดให้ศาลสามารถใช้มาตรการทางเลือกอื่นแทนการลงโทษประหารชีวิตเพื่อกำหนดโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์การกระทำความผิดและพฤติการณ์ส่วนตัวของผู้กระทำความผิดแต่ละราย โดยอาจนำข้อเสนอการใช้มาตรการทางเลือกแทนการใช้โทษประหารชีวิตขององค์กรปฏิรูปการลงโทษสากล มาพิจารณาเพื่อกำหนดทางเลือกในการลงโทษ และจะต้องมีกลไกที่เป็นหลักประกันความปลอดภัยให้แก่สังคมด้วย โดยควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบระยะเวลาของแผนปฏิบัติการตามข้อเสนอแนะที่ไทยตอบรับและคำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก UPR รอบที่ 3
.
และให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตที่ไม่เข้าข่ายเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่สุด เช่น คดียาเสพติด และคดีทุจริต รวมไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. 2565 เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตที่ไม่เป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่สุดภายในปี พ.ศ. 2570 ตามกรอบระยะเวลาในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570)
.
นอกจากนี้ ให้สร้างความรู้ความเข้าใจและผลกระทบเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตให้แก่ประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องตามกรอบระยะเวลาของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ส่วนการดำเนินการระยะยาว ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนและแก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตที่เหลือทั้งหมด และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการสนับสนุนข้อมติการพักใช้โทษประหารชีวิต และการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับ ฉบับที่ 2 ของกติกา ICCPR โดยให้กำหนดระยะเวลาการดำเนินการที่แน่นอนด้วย