xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรม “3 นิ้วฮ่องกง” ถูกฝรั่งหลอก สุดท้ายจบชีวิตตัวเองที่อังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุทาหรณ์เตือนใจ 3 นิ้วในไทย “โฮ ยีคิง” 1 ในผู้ร่วมประท้วงเรียกร้องเอกราชฮ่องกง ภายใต้การหนุนหลังของชาติตะวันตก หนีไปอยู่อังกฤษด้วยสถานะพาสปอร์ต BNO ที่รัฐบาลดินแดนผู้ดีออกให้ แต่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้น 2 มีชีวิตอย่างยากลำบากในห้องเช่าซอมซ่อ แต่ค่าเช่าเดือนละ 4 หมื่น สุดท้ายต้องจบชีวิตตัวเอง เพียง 7 เดือนหลังย้ายเข้ามา



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงถึงชะตากรรมของแกนนำการชุมนุมแบ่งแยกเกาะฮ่องกงออกจากประเทศจีน ภายใต้การหนุนหลังของชาติตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แต่เมื่อถูกทางการจีนจับกุมก็ถูกทิ้งให้อยู่ในคุก และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายความมั่นคงฮ่องกง ที่รัฐบาลปักกิ่งบังคับใช้อย่างเข้มงวด


ซึ่งนอกจากบรรดาแกนนำแล้ว ยังมีกลุ่มแนวร่วมและผู้เข้าร่วมการประท้วงฮ่องกงนับเป็นแสน ๆ คนถูกรัฐบาลอังกฤษหลอกลวง ด้วยการให้สถานะพาสปอร์ต BNO (British National Overseas) แต่เมื่อทิ้งฮ่องกงไปถึงอังกฤษแล้ว กลับพบว่าเป็นเหมือน “พลเมืองชั้น 2” ต้องมีชีวิตที่ยากลำบาก บางคนถึงกับต้องฆ่าตัวตายจบชีวิตตัวเอง ดังเช่นกรณีโศกนาฏกรรมของ “โฮ ยีคิง”

หญิงสาวชาวฮ่องกงวัย 27 ปี ที่ชื่อว่า โฮ ยีคิง (Ho Yee-king) หรือชื่อฝรั่งคือ ฟิออน (Fion) เธอ คือ ตัวอย่างหนึ่งของผู้อพยพชาวฮ่องกง ที่เผชิญกับความทุกข์กาย ทรมานใจ จนสุดท้ายเธอทนรับไม่ไหว เลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง หลังจากลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษได้เพียงแค่ 7 เดือน


“โฮ ยีคิง” มีพื้นฐานที่ดี เพราะเธอได้รับการศึกษาชั้นเลิศ โดยจบการศึกษาปริญญาตรีด้านเอเชียและนานาชาติศึกษา Asian and International Studies จาก City University of Hong Kong ในปี 2560 (City University of Hong Kong ถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของเอเชีย และเป็นระดับ Top 3 ของฮ่องกง)

หลังจากนั้นเธอก็ไปเรียนต่อจนจบปริญญาโท ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สวิตเซอร์แลนด์

หลังจากจบการศึกษา เธอเดินทางกลับฮ่องกง และทำงานกับสภากาชาดฮ่องกง หญิงสาวที่มีการศึกษาที่ดี พูดภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว และมีประสบการณ์ทำงานกับผู้คนหลากหลายเช่นนี้ น่าจะมีอนาคตที่สดใส

แต่ “โฮ ยีคิง” กลับเลือกที่จะเข้าร่วมการประท้วงฮ่องกงเมื่อ ปี 2562-2563 และเมื่อรัฐบาลจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง เพื่อกำราบการประท้วงอย่างเบ็ดเสร็จ


ในปี 2565 เธอจึงตัดสินใจอพยพไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษโดยใช้ BNO Passport

หลังจากย้ายมาอยู่ที่อังกฤษ เธอทำงานกับองค์กรการกุศลที่ชื่อว่า CAMFED หรือ Campaign for Female Education ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์เรื่องการศึกษาของผู้หญิง โดยเช่าห้องพักอยู่ที่เขตริชมอนด์ ชานกรุงลอนดอน ห้องเล็กๆ สภาพซอมซ่อที่เธอต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนอีก 3 คน แต่ว่ามีค่าเช่าแพงถึงเดือนละ 900 ปอนด์ หรือราว 40,000 บาท

เธอบ่นให้น้องชายที่ยังอยู่ในฮ่องกงฟังว่า สภาพห้องของเธอที่อังกฤษสกปรกมาก เพื่อนร่วมห้องก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้ใส่ใจกัน เธอรับกับสภาพความเป็นอยู่ที่โสมมไม่ได้ ทำให้เธอนอนไม่หลับ

นอกจากนี้เธอยังกังวลว่าจะดิ้นรนหาเงินมาเป็น “ค่าเช่าห้อง” ได้ไม่เพียงพอ จึงต้องตัดลดค่าใช้จ่าย ด้วยการกินอาหารแค่วันละมื้อเดียวเพื่อประหยัดเงิน ทำให้เธอเครียดมาก จนมีปัญหาสุขภาพ ผมร่วง และเป็นโรคซึมเศร้า

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 น้องชายพบว่าพี่สาว คือ ฟิออน ไม่ได้ไปทำงาน และไม่ตอบแชต จึงแจ้งให้เจ้าของห้องไปตรวจสอบดู และพบว่า พี่สาวฆ่าตัวตายแล้ว


น้องชายเปิดเผยว่า พี่สาวได้จองคิวไปพบจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาเรื่องอาการซึมเศร้าในอีก 4 วันข้างหน้า แต่ว่าเธอได้จบชีวิตตัวเองไปเสียก่อน

โฮ ยีคิง หรือ ฟิออน เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของหนุ่มสาวชาวฮ่องกงที่ “กลับไม่ได้ ไม่ไม่ถึง” หลังจากเข้าร่วมม็อบฮ่องกง และเลือกที่จะทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน ไปยังดินแดน “อดีตเจ้าอาณานิคม” อย่างอังกฤษ โดยหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า หอมกลิ่นความเจริญ เต็มเปี่ยมด้วยเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นการเอาอนาคต และชีวิตไปทิ้งในต่างแดน

ชาวฮ่องกงที่ย้ายไปอยู่ต่างแดนจำนวนมาก เคยมีอาชีพการงานที่ดี เป็นพนักงานเงินเดือน แต่เมื่ออพยพไปแล้ว กลับต้องไปทำงานพาร์ทไทม์ ใช้แรงงาน อาบเหงื่อแลกเงิน เช่น เป็นพนักงานขายของ พนักงานเสิร์ฟ หรือ คนขับรถส่งของ


ชาวฮ่องกงเหล่านี้เหมือนกับถูกรัฐบาลอังกฤษหลอก ด้วยการใช้พาสปอร์ต BNO โดยอังกฤษอ้างว่าเพื่อให้ความคุ้มครองกับชาวฮ่องกงจากกฎหมายความมั่นคง ที่ทางการจีนบังคับใช้

BNO = พลเมืองชั้นสองของอังกฤษ

ในช่วงปี 2530 ก่อนที่อังกฤษจะคืนเกาะฮ่องกงสู่การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ ในปี 2540 (ค.ศ.1997) รัฐบาลอังกฤษได้ออกพาสปอร์ตพิเศษชนิดหนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า BNO : British National (Overseas) เพื่อให้ชาวฮ่องกงที่ตอนนั้นยังอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษในในการเดินทาง โดยมีหลายประเทศที่ให้ “ฟรีวีซ่า” แต่ว่าผู้ถือพาสปอร์ตชนิดนี้ไม่มีสิทธิ์พำนักในประเทศอังกฤษ

ทั้งนี้ ช่วงก่อนที่ฮ่องกงจะหวนคืนสู่การปกครองของจีน พาสปอร์ต BNO เป็นที่นิยมของชาวฮ่องกงมาก โดยรัฐบาลอังกฤษออกพาสปอร์ตชนิดนี้มากเกือบ 800,000 เล่ม แต่ว่าในเวลาต่อมาพาสปอร์ต “เขตบริหารพิเศษฮ่องกง” ได้รับสิทธิ์ฟรีวีซ่ามากกว่า 150 ประเทศ มากกว่าพาสปอร์ต BNO แถมค่าธรรมเนียมก็ถูกกว่ามาก ทำให้ความนิยมในพาสปอร์ต BNO ของอังกฤษลดน้อยลงอย่างมาก คนที่ถือพาสปอร์ต BNO ซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงวัยที่ขอไว้ตั้งแต่สมัยฮ่องกงเป็นอาณานิคม ก็เลือกที่จะไม่ไปต่ออายุพาสปอร์ต BNO หันมาถือ พาสปอร์ตของ “เขตบริหารพิเศษฮ่องกง” แทน


จนกระทั่งเกิดการประท้วงในฮ่องกง ตั้งแต่ “การประท้วงร่ม” ใน ปี 2557 เรื่อยมาจนถึง “การประท้วงกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน” ปี 2562-2563 และรัฐบาลจีนออกกฎหมายความมั่นคง จนทำให้บรรดาแกนนำม็อบ และผู้สนับสนุนต้องแตกกระสานซ่านเซ็นไป รัฐบาลอังกฤษได้ฟื้นคืนชีพ พาสปอร์ต BNO ขึ้นมาในปี 2564 โดยขยายเงื่อนไขให้ชาวฮ่องกงที่ต้องการอพยพมาอยู่อังกฤษยื่นขอพาสปอร์ตประเภทนี้ได้ ถ้าหากมีสถานะ 2 อย่างคือ

1.เคยเป็นชาวฮ่องกงสมัยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ British national overseas(หรือก็คือ คนที่เคยมีพาสปอร์ต BNO เดิมอยู่ ไม่ว่าจะต่ออายุหรือไม่)

2.ครอบครัว หรือลูกของชาวฮ่องกงที่มีสถานะ BNO และเกิดหลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2540(คนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมม็อบฮ่องกง ใช้สถานะนี้)

รัฐบาลอังกฤษอ้างว่า พาสปอร์ต BNO มีขึ้นเพื่อตอบโต้การออกกฎหมายความมั่นคง และแสดงถึงความรับผิดชอบที่มีต่อชาวฮ่องกง โดยมีชาวฮ่องกงมากกว่า 140,000 คนหวังใช้ช่องทางนี้อพยพไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

แต่เมื่อไปถึงเกาะเมืองผู้ดีแล้ว ผู้อพยพชาวฮ่องกงกลับว่า การเริ่มต้นชีวิตใหม่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เป็นต้นว่า

1.พาสปอร์ต BNO อนุญาตให้ทำงานได้ แต่คนส่วนใหญ่หางานที่ดี เหมือนกับสมัยที่อยู่ฮ่องกงไม่ได้ ส่วนใหญ่ต้องทำงานพาร์ทไทม์ หรือ เป็นชนชั้นแรงงาน

2.พาสปอร์ต BNO ไม่สามารถใช้สวัสดิการสังคมส่วนใหญ่ได้

3.ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพ แพงกว่าพลเมืองชาวอังกฤษ แม้เกาะฮ่องกงจะขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีค่าครองชีพแพงติดอันดับโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากไม่ใช่ชาวอังกฤษ เป็นชาวต่างชาติที่ไปอาศัยอยู่ในบ้านเขาเมืองเขา ค่าเช่าบ้าน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่อังกฤษนั้นจึงแพงกว่าฮ่องกงอย่างมาก

4.ผู้ที่ถือพาสปอร์ต BNO จะต้องพำนักอยู่ในอังกฤษนาน 5 ปี จึงจะขอสถานะพำนักถาวรได้

นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า ภายหลังจากที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป หรือ BREXIT ก็เผชิญกับเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ยิ่งเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ค่าพลังงานและค่าครองชีพทุกอย่างแพงขึ้นอย่างมาก


นอกจากนี้ ชาวอังกฤษซึ่ง “ถือดี” เหยียดชาวต่างชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ชาวต่างชาติยิ่งตกเป็นเป้าการโจมตี การจัดอันดับประเทศที่มีความปลอดภัยทั่วโลก 142 ประเทศ อังกฤษรั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 77 ขณะที่ฮ่องกงมีความปลอดภัยในอันดับที่ 6

บรรดาชาวฮ่องกงที่อพยพไปอยู่อังกฤษ ต่างพบว่าชีวิตในดงผู้ดีไม่ง่ายอย่างที่คิด ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งหาที่อยู่อาศัย, งานที่มั่นคงและรายได้เพียงพอ และยังต้องปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมใหม่ด้วย

อดีตพนักงานออฟฟิศต้องมาเป็นเซลล์ขายของ บางคนต้องยอมทำงานในโรงงาน ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้มีการศึกษาดี เคยมีอาชีพที่ดี บางคนเป็นถึงทันตแพทย์, สมาชิกสภาเขตก็ยังมี บางครอบครัว ขายทรัพย์สินทุกอย่างในฮ่องกง และพาลูกไปด้วย ยิ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น ทั้งต้องหาที่อยู่ที่มีสิ่งแวดล้อมปลอดภัยสำหรับเด็ก และหาโรงเรียนที่มีคุณภาพ แต่ส่วนใหญ่จะไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชนได้ ต้องยอมให้ลูกเรียนโรงเรียนรัฐ ที่ด้อยกว่า

ความยากลำบาก และค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่วในอังกฤษเหล่านี้ ทำให้ผู้อพยพชาวฮ่องกงหลายคนต้องเปลี่ยนใจ หวนกลับมายังฮ่องกง


อังกฤษใช้ BNO ปั่นหัวคนฮ่องกง

หลังจากรัฐบาลอังกฤษออกพาสปอร์ต BNO ในปี 2564 สถานทูตจีนประจำอังกฤษประณามว่า นี่ไม่ใช่การ “ปกป้อง” ชาวฮ่องกงอย่างที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการ “ยุแยง” และ “ก่อกวน”

ทางการจีนเตือนว่า ชาวฮ่องกงหลายคนถูกหลอก ให้ออกจากบ้านเกิดเมืองนอน และเดินทางมายังสหราชอาณาจักร และพบว่าต้องเผชิญกับชีวิตที่ยากลำบาก ซึ่งเต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติ บางคนถึงกับฆ่าตัวตาย

ทางการจีนยังโต้แย้งข้อกล่าวหาของอังกฤษที่อ้างว่า กฎหมายความมั่นคงละเมิด"ปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ"โดยบอกว่า อังกฤษต่างหากที่บิดพลิ้วข้อตกลงนี้ เพราะอังกฤษเคยรับปากว่า หลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ที่ฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีน อดีตพลเมืองของอังกฤษในฮ่องกงจะไม่หลงเหลือสิทธิ์พิเศษอะไรอีก และชาวฮ่องกงที่เกิดหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 จะไม่มีสถานะใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษ แต่ว่าหลังจากจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง อังกฤษกลับออกนโยบายใหม่ เปิดทางให้คนหนุ่มสาวใช้ พาสปอร์ต BNO อพยพไปประเทศอังกฤษได้

นี่คือการ กลับกลอก ไม่รักษาคำมั่นสัญญาของฝรั่งอังกฤษ

หลังจากนั้น รัฐบาลจีนและฮ่องกงได้ตอบโต้ และตลบหลังอังกฤษ ด้วยการยกเลิกการรับรองสถานะของวีซ่า และพาสปอร์ต BNO ตั้งแต่ วันที่ 31 มกราคม 2564 ซึ่งหมายความว่า ชาวฮ่องกงอพยพจะไม่สามารถใช้ วีซ่าและพาสปอร์ต BNO เดินทางเข้าฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่ได้


การขอพาสปอร์ต BNO ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะต้องเสียค่าพาสปอร์ต, ค่าประกันสุขภาพ และยังต้องแสดงหลักฐานการเงินว่าสามารถอยู่ในอังกฤษได้อย่างน้อย 6 เดือน คำนวนคร่าว ๆ แล้วต้องใช้เงินตั้งต้น คนละอย่างน้อย 4,000 ปอนด์ หรือราว 180,000 บาท (แต่ส่วนใหญ่ใช้มากกว่านี้หลายเท่าตัว)

แต่ว่า ยังมี “เยาวชนสมาชิกม็อบ 3 นิ้ว ฮ่องกง” อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีเงินเก็บมากพอ และที่สำคัญคือ ไม่มีสถานะที่จะยื่นขอพาสปอร์ต BNO ได้(เนื่องจากเป็นลูกของคนที่อพยพมาอยู่ฮ่องกง หรือว่าพ่อแม่ไม่ได้เป็นคนสมัยอาณานิยมอังกฤษ) คนกลุ่มนี้มีทางเลือกไม่มากนักที่จะอยู่ในอังกฤษได้ นั่นคือ ขอเป็นผู้ลี้ภัย

โครบัส
ตัวอย่างเช่น โครบัส (Krobus) นามแฝงของนักศึกษาหญิงชาวฮ่องกงคนหนึ่ง ซึ่งศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัย King’s College วัย 23 ปี ที่เป็นแนวหน้าในการประท้วงฮ่องกงปี 2562 บอกว่า เธอไม่มีคุณสมบัติที่จะยื่นขอพาสปอร์ต BNO และตอนนี้เธอเป็นโรคซึมเศร้า และ โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ” หรือ PTSD และต้อรอคิวยาวเหยียด เพื่อจะไปพบกับจิตแพทย์

เธอบอกว่า“เมื่อได้เห็นคนที่ได้พาสปอร์ต BNO เดินในกรุงลอนดอน ฉันโกรธมาก และคิดว่า คนเหล่านี้มีชีวิตใหม่ที่นี่ ขณะที่ฉันต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย และฉันไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงชีวิต และอาจต้องกลายเป็นคนไร้บ้านในไม่ช้า”

สรุป เพื่อที่จะหาความชอบธรรมในการแทรกแซงการเมืองภายในจีน เรื่องฮ่องกง อังกฤษถึงกับชักแม่น้ำทั้งห้า โดยอ้างว่ามี “ความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ต่อฮ่องกง” ในฐานะเป็นเจ้าอาณานิคมเก่า?


หากเป็นดั่งคำที่อ้างจริง ทำไมรัฐบาลอังกฤษจึงไม่เปิดทางให้ชาวฮ่องกงที่อพยพไปได้สิทธิ์เป็น“พลเมืองอังกฤษ”อย่างเต็มขั้น ได้สวัสดิการอย่างเต็มตัว และดูแล “ม็อบ 3 นิ้วฮ่องกง” เหล่านี้อย่างเต็มที่ ให้สมกับที่เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องประชาธิปไตยในแบบที่สหรัฐ และอังกฤษเชิดชู และพยายามที่จะบีบให้ประเทศอื่น ๆ ดำเนินรอยตาม


โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับ โฮ ยีคิง และชาวฮ่องกงอีกหลายแสนคนเหล่านี้คือ อุทาหรณ์เป็นบทเรียนให้กับคนไทย และเด็ก ๆ ม็อบ 3 นิ้ว ทั้งหลาย ที่มองฝรั่งเป็นพ่อ หรือ บางคนนับถือฝรั่งเสียยิ่งกว่าบิดามารดาบังเกิดเกล้า โดยใช้ข้ออ้างว่าตัวเองกำลัง “ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”


แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่พวกคุณต่อสู้คือ ความจอมปลอม ที่มีเบื้องหลังคือแผนการในการแทรกแซงทางการเมือง, การหาผลประโยชน์ และบีบบังคับประเทศนั้น ๆ ให้ทำตามความต้องการของมหาอำนาจตะวันตกต่างหาก !


กำลังโหลดความคิดเห็น