xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนารางเหล็กที่ร่วงของรถไฟฟ้าสายสีชมพู มันคือรางนำไฟฟ้า Conductor Rail

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไขปริศนารางเหล็กรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ขนาดกว้าง 4 นิ้ว หนา 2 นิ้ว หล่นลงมาทับรถยนต์และเสาไฟฟ้าแรงสูงได้รับความเสียหาย เป็นรางนำไฟฟ้า Conductor Rail ติดอยู่บนทางวิ่ง หรือ Guide Beam ที่เป็นคานปูนหรือเหล็ก ส่วนรถไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยล้อยาง

วันนี้ (24 ธ.ค.) จากกรณีที่รางเหล็กของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ขนาดกว้าง 4 นิ้ว หนา 2 นิ้ว หล่นลงมาทับรถยนต์และเสาไฟฟ้าแรงสูงได้รับความเสียหายเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร บริเวณถนนติวานนท์ ตั้งแต่ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนติวานนท์ (แคราย) ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี ถึงจุดกลับรถหน้าตลาดกรมชลประทาน ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น.ที่ผ่านมา ทำให้มีรถยนต์ได้รับความเสียหาย 3 คัน และเสาไฟฟ้าแรงสูงหักโค่น 1 ต้น แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ และเวลาดังกล่าวรถไฟฟ้ายังไม่เปิดให้บริการ

ขณะที่บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู แจ้งปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว ระหว่างสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ถึงสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด โดยยังคงให้บริการตั้งแต่สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ) ถึงสถานีมีนบุรี แต่ต้องเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ แนะนำให้ผู้โดยสารโปรดพิจารณาการเดินทาง ขออภัยในความไม่สะดวก


สำหรับรางเหล็กที่หล่นลงมานั้นเป็นรางนำไฟฟ้าที่เรียกว่า Conductor Rail ติดอยู่บนทางวิ่ง (Guide Beam) ที่เป็นคานปูนหรือเหล็ก โดยมีทั้ง Power Rail (หรือ Positive Rail) เป็นรางจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นขั้วบวก และ Return Rail (หรือ Negative Rail) เป็นรางนำไฟฟ้ากลับไปครบวงจรที่สถานีไฟฟ้าขับเคลื่อน หรือ Traction Sub Station (TSS) เป็นขั้วลบ

สำหรับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู และสายสีเหลือง เป็นรถไฟโมโนเรลแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) ซึ่งมีชุดล้อยางใต้ตัวรถที่ออกแบบมาเพื่อวิ่งคร่อมบนคานทางวิ่งเดี่ยวโดยเฉพาะ โดยมีล้อยางรับน้ำหนักอยู่ตรงกลางด้านในโบกี้ละ 2 ล้อ หรือ 4 ล้อต่อตู้ และล้อประคองด้านข้างทั้งสองฝั่งของคาน โบกี้ละ 6 ล้อ หรือ 12 ล้อต่อตู้

ข้อมูลจากเพจ The Electric Railway System - เรียนรู้ระบบรถไฟฟ้า ระบุว่า การเดินรถจะมีชุดล้อ 4 ประเภท ได้แก่

1. Driving Wheel ทำหน้าที่ฉุดลากตัวรถ โดยชุดมอเตอร์ขับเคลื่อน วิ่งอยู่บน Guide Beam

2. Auxiliary Wheel ทำหน้าที่ช่วยประคอง Driving Wheel กรณีลมยางอ่อนหรือมีปัญหา วิ่งอยู่บน Guide Beam

3. Guide Wheels ล้อด้านข้างที่คอยประคอง Driving Wheel และตัวรถให้วิ่งไปตาม Guide Beam

4. Safety Wheels ล้อด้านข้างที่คอยประคอง Guide Wheels กรณีลมยางอ่อนหรือมีปัญหา




เมื่อสังเกตด้วยตาเปล่า ขณะที่รถไฟฟ้าโมโนเรลวิ่งผ่านจะเห็นเฉพาะล้อยาง Guide Wheels ขนาดเล็กวิ่งอยู่บนรางเท่านั้น แต่จะไม่เห็นล้อยาง Driving Wheel เพราะจะถูกซ่อนด้วยตัวรถไฟฟ้า โดยภายในห้องโดยสารจะมีคอนโซล (Console) บริเวณด้านหน้า และแก๊งเวย์ (Gangway) บริเวณรอยต่อของขบวน ซ่อนล้อยาง Driving Wheel เอาไว้อยู่

สำหรับล้อยางที่ใช้กับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู และสายสีเหลือง จะใช้ยาง MICHELIN รุ่น X Metro และรุ่น XPM ของบริษัท มิชลิน มีการทดสอบบนลูกกลิ้งทดสอบมากกว่า 4 แสนชั่วโมง ก่อนที่ยางจะถูกนำมาใช้งานจริง และติดตามการใช้งานในแต่ละปีมากกว่า 50 ล้านกิโลเมตร คุณสมบัติเด่น คือ ค่าการยึดเกาะที่สูง ทำให้ช่วยเร่งความเร็ว การเบรกทำได้ดีในทุกสภาพอากาศ ลดการสั่นสะเทือนของยาง ทำให้ลดเสียงรบกวนแก่สภาพแวดล้อม และยังให้ความนุ่มสบายแก่ผู้โดยสาร

ส่วนขบวนรถที่ใช้มีชื่อว่า อินโนเวีย โมโนเรล 300 (INNOVIA Monorail 300) ผลิตโดยบริษัท อัลสตอม (Alstom) จากโรงงานในสาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถวิ่งผ่านทางโค้งที่มีรัศมีแคบได้ถึง 70 เมตร และไต่ทางลาดชันได้สูงสุด 6% ให้บริการด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ใช้ระบบควบคุมการเดินรถอัตโนมัติ แต่ไม่มีคนขับประจำในขบวนรถ โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ควบคุมการเดินรถที่อยู่ในศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) เป็นผู้ควบคุมระบบการเดินรถและความปลอดภัยของรถไฟฟ้าทุกขบวนที่วิ่งให้บริการอยู่ในระบบ ขับเคลื่อนด้วยระบบมอเตอร์แม่เหล็กแบบถาวร โดยใช้ระบบจ่ายไฟกระแสตรง 750 โวลต์

รูปแบบของขบวนรถไฟฟ้ามีทั้งหมด 4 ตู้ ภายใน 1 ตู้โดยสารจะมีทั้งหมด 14-16 ที่นั่งต่อตู้ สามารถจุผู้โดยสารได้สูงสุด 568 คนต่อขบวน และยังมีที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษไว้ให้บริการอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุการณ์รางเหล็กหล่นลงมาทับรถยนต์และเสาไฟฟ้าแรงสูงที่เกิดขึ้นล่าสุด อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้โดยสารไปบ้าง 

นับตั้งแต่รถไฟฟ้าโมโนเรลนำมาให้บริการแก่ผู้โดยสาร ตั้งแต่รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายแรกในประเทศไทย เปิดให้ทดลองใช้บริการเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. กระทั่งเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) เปิดให้ทดลองใช้บริการเมื่อวันที่ 22 พ.ย. พบว่ามีประชาชนใช้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด

เป็นเรื่องที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้ให้บริการทั้งสองบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบีทีเอส รวมทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลการขนส่งระบบราง อย่างกรมการขนส่งทางราง จำเป็นที่จะต้องออกมาตรการใดๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร และชุมชนรอบข้างตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า รวมทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น