xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยไม่อยากมีลูก สังคมบิดเบี้ยว หรือเพราะนักการเมืองตัวดี?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” สอนมวย “ชลน่าน” ปัญหาเด็กเกิดน้อย ไม่ใช่เพราะสังคมบิดเบี้ยว แต่เป็นเรื่องของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป หลายประเทศทั่วโลกมีอัตราการเกิดต่ำเหมือนกัน แต่ปัญหาที่ทำให้คนไม่อยากมีลูกเพราะรู้สึกว่าโลกอนาคตไม่น่าอยู่ จากปัญหาต่างๆ ซึ่งนักการเมืองตัวดีสร้างขึ้นมา หากจะให้คนกลับมาอยากมีลูก ต้องแก้ทั้งเรื่องปากท้อง สิ่งแวดล้อม ความยุติธรรมในสังคม ไม่ใช่ประกาศวาระแห่งชาติ หรือรณรงค์เปลี่ยนค่านิยม



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำลังรณรงค์กระตุ้นเพิ่มการเกิดของเด็กไทย โดยได้ประกาศกลางรัฐสภาในวันแถลงนดยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 ว่า จะผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมบอกว่าต้องมาดูเรื่องประชากรกันใหม่ “ลูกมากจะยากจน” ต้องเอาออกจากสมองคนไทย ทุกวันนี้คนไทยไม่ยอมมีลูก โดยเฉพาะคนที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีความรู้ มีความสามารถ มีฐานเศรษฐกิจที่รองรับ ไม่ยอมมีลูก นี่คือสิ่งที่กำลังบิดเบี้ยวในสังคมไทยถ้าเราไม่เพิ่มฐานประชากรเราจะแข่งขันกับใครไม่ได้

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566 นพ.ชลน่านได้ไปเปิดการประชุมสัญจรผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขโดยมีวาระขับเคลื่อนการส่งเสริมเพิ่มเด็กไทยเกิดดี มีคุณภาพ Give Birth Great World ผ่านสัญลักษณ์ปลาตะเพียน ที่กรุงเทพ และที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


นายสนธิกล่าวว่า เมื่อฟังคำพูดและนโยบายเรื่องนี้ของหมอชลน่านแล้ว ก็ต้องอดไม่ได้ที่จะหัวเราะด้วยความขมขื่นและความสมเพช เรื่องของเรื่องก็คือ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยนั้นเข้าสู่ สังคมสูงวัย หรือ Aged Society มาสักพักใหญ่แล้ว โดยเฉพาะหากประเมินจากมาตรวัดขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้นิยามเรื่อง “สังคมสูงวัย” จากสัดส่วนของประชากรอายุ 60 – 65 ปีขึ้นไป เขามีการแบ่งตามระดับของสังคมสูงวัยไว้ดังนี้ คือ

ระดับที่ 1 - สังคมสูงวัย (Aged Society)คือ มีประชากรสูงวัยมากกว่า 7%ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ

ระดับที่ 2 - สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society)คือ มีประชากรสูงวัยมากกว่า 14% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ระดับที่ 3 - สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) คือ มีประชากรสูงวัยมากกว่า 20%ของจำนวนประชากรทั้งหมด


คำถามต่อมา ก็คือ สังคมไทยนั้นกำลังอยู่ในสังคมสูงวัยระดับไหน?

คำตอบ ก็คือ ประเทศไทยกำลังอยู่ในสังคมสูงวัยระดับที่ 2 แล้ว โดยตัวเลขเมื่อปีที่แล้ว ปี 2565 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 18.3%(เกินเกณฑ์ 14% ของยูเอ็นมาไกลแล้ว) หรือ คิดเป็นจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 70 ล้านคน

จากตัวเลขดังกล่าว ประกอบกับ สถิติในปี 2565 พบว่า มีเด็กไทยเกิดใหม่เพียง 5 แสนคนเท่านั้น ซึ่งจำนวนนี้ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี ทำให้มีการคาดการณ์ว่าภายใน 7 ปีข้างหน้าหรือปี 2573 สังคมไทยจะเข้าสู่ ระดับที่ 3หรือสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society)


กลับมาถึงคำพูดของ “หมอชลน่าน” แน่นอนเลยว่า พอ “หมอชลน่าน” พูดถึงปัญหาคนไทยเกิดน้อยอ้างเรื่องค่านิยม - สังคมบิดเบี้ยว ก็มีทัวร์มาลงทันทีเลย ยกตัวอย่างเช่น ส.ส.ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์กุล ของพรรคก้าวไกล ก็บอกแบบกวนตีนเลยว่า ที่คนรุ่นใหม่มีค่านิยม ไม่มีลูกมันไม่ใช่ เพราะ “สังคมบิดเบี้ยว” แต่มันเป็น “เรื่องของเขา”


นายสนธิ ได้ขยายความจากความเห็นของประชาชนทั่วไปให้ นพ.ชลน่าน รวมทั้งผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทั้งหลาย ได้ฟังดังนี้

ประการแรก แนวโน้มเรื่องอัตราการเกิดต่ำ และ สังคมสูงอายุนั้นเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในทวีอปอเมริกา ยุโรปและในเอเชีย อย่างในเอเชียประเทศที่ประสบปัญหานี้หนักที่สุดก็คือไต้หวัน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, จีนเป็นต้น เพราะฉะนั้นหากเรื่องนี้แก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างที่หมอชลน่าน กำลังพยายามทำอยู่ ประเทศอื่น ๆ เขาคงดำเนินการกันไปหมดแล้ว


ประการที่สอง ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากค่านิยม หรือ สังคมบิดเบี้ยวแต่ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้าน สภาพเศรษฐกิจ - สังคม - การเมือง - สิ่งแวดล้อม ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่เขามองเห็นต่างหาก ที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดค่านิยมไม่ต้องการลูก

ด้วยเหตุนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนมาก จึงมองว่า “ลูก” เท่ากับ “มีภาระ” ซึ่งแตกต่างจากคนในอดีตอย่างมาก ทั้งนี้ในปัจจุบันคนจะเป็นพ่อแม่จำนวนไม่น้อยตั้งเป้าหมายว่าถ้าจะมีลูกก็ต้องเป็น ลูกที่ดี ที่เก่ง มีคุณภาพ มีศักยภาพที่ค่อนข้างสูง ซึ่งย่อมมีค่าใช้จ่ายเป็นเงาตามตัวไปด้วย เช่น ต้องมีของใช้-ของเล่นดี ๆ มีพี่เลี้ยงเด็ก หรือ ได้ได้รับการศึกษาในโรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม ที่มีชื่อเสียง หรืออีกขั้นหนึ่งก็คือ เรียนในโรงเรียนอินเตอร์ไปเลย เหล่านี้แน่นอนว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกำลังของชนชั้นกลางในปัจจุบัน ที่ในปัจจุบันสถานะทางเศรษฐกิจก็เริ่มถดถอยลงเรื่อย ๆ

ดังนั้นคู่สามีภรรยาคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่ไม่แน่ใจว่าถ้ามีลูกเขาจะสามารถเลี้ยงลูกให้ได้อย่างใจหวัง หรือ ตามมาตรฐานที่ตั้งเอาไว้ค่อนข้างสูง จึงตัดสินใจที่จะไม่มีลูกดีกว่า

เชื่อว่า มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่มากนักที่ยังคาดหวังในการมีลูก เพื่อที่จะให้ลูกเลี้ยงดูตัวเองตอนแก่

ประการที่สาม คือ ปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ว่ากันว่าจะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ อีกไม่กี่ปี ทำให้งานหลายๆ อย่างต้องมีการปรับตัว และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างใหญ่หลวง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ วิศวกร ครู ผู้สื่อข่าว นักการตลาด นักออกแบบ ศิลปิน ไปจนถึง หมอ-พยาบาล

ความเปลี่ยนแปลง เหล่านี้เป็นแรงกดดันที่ใหญ่หลวงต่อการดำรงชีวิตของคนในปัจจุบันที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ-สังคม-การศึกษา ทำให้คนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยแน่ใจว่าขนาดตัวเองยังเอาไม่รอด แล้วถ้ามีลูก มีภาระสำคัญเพิ่มขึ้นจะสามารถนำพาเอาครอบครัวให้รอดได้หรือไม่ ?

ประการที่สี่ คือ นอกจากแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจที่ยากลำบาก และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแล้ว อีกส่วนหนึ่งยังประเมินว่า ปัญหาการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อม นั้นจะทำให้ “โลกในอนาคตไม่น่าอยู่” และตัดสินใจที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก เพราะลูกจะต้องเติบโตขึ้นมาในสภาพ เศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อมที่ไม่ดี สิ่งแวดล้อมไม่ดี รวมไปถึงเรื่องของการเมืองที่ไม่ดี ด้วยซึ่งเหล่านี้ครอบคลุมไปถึงเรื่อง ความปลอดภัยในสังคม ระบบเส้นสาย ระบบอุปภัมภ์ ความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ เมื่ออัตราการเกิดน้อย ประชากรย่อมน้อยลงเป็นเงาตามตัว ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายมิติ อย่างที่ “หมอชลน่าน” กังวล และพยายามออกมาผลักดันให้เรื่องนี้กลายเป็น “วาระแห่งชาติ”


“สังคมไทยกำลังบิดเบี้ยว” นั่นคือเรื่องจริง แต่ไม่ได้บิดเบี้ยวเพราะค่านิยมในการไม่มีลูกของคนรุ่นใหม่

แต่เพราะสังคมไทยที่บิดเบี้ยวในทุก ๆ ด้านอย่างที่ประชาชนทั่วไปเขาว่ากันไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงปัญหาการเมือง และความยุติธรรม ซึ่ง “หมอชลน่าน” และพรรคพวกนักการเมืองของ นพ.ชลน่านก่อขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใครฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้านหรือแม้แต่ฝ่ายทหารที่ปฏิวัติยึดอำนาจและพยายามจะสืบทอดอำนาจต่อก็ตาม

ประชาชนทั่วไปไม่ได้มีทรัพย์สิน 500-600 ล้านบาท แบบ นพ.ชลน่าน กับ ครอบครัวที่พอจะทำให้มีเงินใช้ได้ไปชั่วลูกชั่วหลาน


ประชาชนทั่วไปเขาคาดหวังแค่เรื่องง่าย ๆ
  • ขอแค่พอเปิดกระเป๋ามาก็พอมีเงินสดติดกระเป๋า พอซื้อข้าวให้ลูกให้เมีย มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน
  • ไม่ต้องกังวลว่าฝุ่น PM2.5 จะทำให้เขากับลูกป่วยเป็นมะเร็งปอดหรือไม่
  • ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าน้ำมัน-ค่าแก๊ส-ค่าไฟอยู่ ๆ จะขึ้นพรวดพราดก็ขึ้นเสียอย่างนั้น
  • ไม่ต้องกังวลว่าหมูที่ซื้อมาจะเป็นหมูเถื่อนหรือไม่
  • ขับรถบนท้องถนนไม่ต้องกลัวว่าจะโดนตำรวจไถ
  • ตัวเองเดินทางไปทำงาน ไปเรียนก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกลูกหลงวัยรุ่น หรือ นักเลงตีกันจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่
  • วัน ๆ ไม่ต้องคอยกังวลกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่าจะโทรศัพท์หรือส่งข้อความมาหลอกทรัพย์สินอะไร
  • ทุก ๆ กลางเดือน ปลายเดือน ไม่ต้องกังวลว่า ทำงานอยู่ดี ๆ จะถูกนายจ้างเลย์ออฟ
  • เจ็บป่วยขึ้นมาก็พอหาหมอรักษาได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายมากนัก
“แค่นี้เองครับ ง่ายๆ สำหรับปัญหาเด็กเกิดน้อย ไม่สามารถแก้ได้ด้วยความเชื่อ ค่านิยมคนรุ่นใหม่ หรือตั้งเป็นวาระแห่งชาติ การรณรงค์ของกระทรวงสาธารณสุข แต่คุณหมอครับ ต้องเริ่มที่พวกคุณหมอ นักการเมือง ตัวดีเลย นายทุน ผู้มีอำนาจทั้งหลายในสังคม ก่อปัญหาต่างๆ ตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือดีเอสไอ ที่แทนที่จะรักษาความยุติธรรม กลับรับเงินรับทองของผู้มีอำนาจหรือคนที่ถูกคดีมาบิดเบือนคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม เราต้องไม่ให้ปัญหามันพอกพูนขึ้นในสังคม และต้องให้มันบรรเทาเบาบางลงจนหมดสิ้น


“คุณหมอครับ อย่าก้าวข้าม ก.ไก่ ข.ไข่ แล้วไปจบลงที่ ฮ.นกฮูก แล้วอย่าไปโทษว่าการไม่มีลูกเป็นสังคมที่บิดเบี้ยว ไม่ใช่ สังคมที่บิดเบี้ยวนั้นเกิดจากพรรคพวกคุณหมอเอง พรรคการเมืองทุกพรรค ทุกพรรค เหมือนกันหมด นี่คือปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยเขาไม่อยากมีลูกกัน” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น