เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เดินหน้า โครงการเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยมี ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ทับทิมไทย ชัยสัมฤทธิ์โชค ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และอนุกรรมการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์, คุณสุนทร สุริโย เครือข่ายผู้บริโภค จ.กาญจนบุรี, คุณกัณฑเอนก ศรมาลา ประธานเครือข่ายนักสื่อสารชุมชนภาคตะวันตก (คสช.) ผู้แทนสื่อท้องถิ่น, รศ.ดร.ติกาหลัง สุขกุล ผู้แทนนักวิชาการ อาจารย์ประจำสาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี, พ.ต.อ.ไพโรจน์ หมื่นกล้าหาญ รองผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 ผู้แทนนักกฎหมาย เข้าร่วมงาน เมื่อเร็วๆ นี้ (วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์แคว รีสอร์ท แอนด์ สปา)
ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการผลิตสื่อและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีทักษะในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดกระบวนการคัดกรองเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ ส่งเสริมและพัฒนาช่องทางเพื่อสื่อสารให้สังคมเกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน การประชุมเสวนาวันนี้จึงเป็นงานประชุมระดมสมอง และอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อสร้างพลังการมีส่วนร่วม รู้เท่าทันสื่อร้าย พร้อมเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อพัฒนาสื่อดีสู่ภาคีเครือข่ายสังคมที่เข้มแข็งต่อไป และเพื่อตอกย้ำถึงการสร้างความร่วมมือของประชาชนในสังคมชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี สร้างองค์ความรู้ในด้านการผลิตพัฒนาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งตรงตามเป้าหมายหลักของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการจัดโครงการการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค
บรรยากาศของงาน เริ่มด้วยการเปิดลงทะเบียนให้กับคนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม จากนั้นได้เปิดฉากงานด้วยการเสวนาการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ หัวข้อ “ภัยหลอกลวงทางออนไลน์” โดยผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ ผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ทับทิมไทย ชัยสัมฤทธิ์โชค, คุณสุนทร สุริโย, คุณกัณฑเอนก ศรมาลา, รศ.ดร.ติกาหลัง สุขกุล, พ.ต.อ.ไพโรจน์ หมื่นกล้าหาญ จากนั้นตัวแทนเครือข่ายแต่ละภาคส่วนยังได้เข้าร่วมกิจกรรม Workshop "สร้างแนวร่วม สานพลังเครือข่าย เฝ้าระวังสื่อ ด้วยกระบวนการ ELTC: (Experiential Learning Theory Cycle) วงจรการเรียนรู้จากประสบการณ์" กระบวนการ “รู้จัก รู้ใช้” จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรม Workshop กระบวนการ “รู้ทันสื่อ” , การแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาในพื้นที่ที่ได้ผลกระทบจากสื่อหรือเป็นเป้าหมายที่ต้องการใช้สื่อเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาและเฝ้าระวัง และนำเสนอร่างมาตรการส่งเสริมพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง ชุมชน และสังคม
ท้ายสุด กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขอบคุณตัวแทนจากเครือข่ายในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากสื่อท้องถิ่น ตัวแทนจากนักวิชาการเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร และหน่วยงานองค์กร ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนชาวกาญจนบุรีทุกท่าน ที่ให้ความร่วมมือกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสนับสนุนให้การประชุมเสวนาในครั้งนี้บรรลุผลสำเร็จ สำหรับงานเสวนาการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ 5 ภูมิภาค ภายใต้แนวคิด "รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ เพื่อการขับเคลื่อนสังคม" จัดขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 5 ครั้ง โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ต่อไปจะเป็นครั้งที่ 4: วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2566 ภาคตะวันออก ณ มณีจันทร์รีสอร์ต จ.จันทบุรี, ครั้งที่ 5: วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ โรงแรมเซ็นทารา อุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี