กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จับมือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ส่งต่อผลงานทางเทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้แผนงานของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อยกระดับการสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถขยายผลจากงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ทั้งการดำเนินธุรกิจและการเชื่อมต่อแหล่งเงินทุนจากนักลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ การจ้างงาน กระจายรายได้สู่ภูมิภาค และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมุ่งเน้น 4 แผนงาน ได้แก่ เศรษฐกิจ BCG เทคโนโลยีดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่ (IDEs)
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดเสวนาความร่วมมือการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมเพื่อนำงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ โดยภายในงาน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA ภายใต้บทบาทผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor) เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มโอกาสในการผลักดันงานวิจัยที่มีศักยภาพออกสู่เชิงพาณิชย์ จึงได้ร่วมมือกับ บพข.ในการจัดสรรทุนสนับสนุน โดย บพข.จะจัดสรรทุนวิจัยในการสร้างนวัตกรรมด้วยการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ ในขณะที่ NIA จะทำหน้าที่จัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อการสนับสนุนภาคเอกชนในการใช้ประโยชน์และขยายผลนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา NIA และ บพข.ได้ทำงานร่วมกันในบทบาทหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU: Program Management Unit) และมีตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดจากงานวิจัยสู่นวัตกรรมได้ เช่น โครงการพัลเลตจากขยะกล่องบรรจุภัณฑ์ยูเอชที โครงการ Inspectra: แพลตฟอร์ม AI ช่วยวินิจฉัยรอยโรคมะเร็งเต้านม โครงการ Eggyday: เส้นโปรตีนไข่ขาว โปรตีนสูง ไร้แป้ง และโครงการอีทราน: กล่องควบคุมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าศักยภาพสูง โดยมีมูลค่าทางธุรกิจและสังคมมากกว่า 250 ล้านบาท และความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้การสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมเป็นไปอย่างไร้รอยต่อมากขึ้นด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง NIA กับ บพข. เพื่อมุ่งเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมในระดับที่สูงขึ้นและครอบคลุมทุกมิติ”
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า “สกสว.อยากเห็นการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง PMU ภายใต้แผนงานของ ววน. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดธุรกิจนวัตกรรม เริ่มตั้งแต่งานวิจัยและขยายผลต่อในเชิงพาณิชย์ ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้เห็นแผนงานทั้ง 4 เกิดขึ้นภายใต้การทำงานร่วมกันของ NIA และ บพข. ที่จะได้ส่งต่อโอกาสทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทยไปสู่ในเวทีการแข่งขันระดับโลก พร้อมทั้งสามารถช่วยขับเคลื่อนทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน โดยในแต่ละแผนมีตัวชี้วัดที่เรียกว่า Key Results หรือ KR ซึ่งเราคิดว่าทั้ง NIA และ บพข.สามารถทำงานร่วมกันและสามารถตอบตัวชี้วัดในแต่ละแผนได้”
รองศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “เพื่อให้การส่งผ่านงานวิจัยไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีศักยภาพและสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยื่น บพข.และ NIA ได้กำหนดบทบาทการทำงานร่วมกันโดยเฉพาะการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในลักษณะของภาคีความร่วมมือแบบจตุภาคีผ่านการผสานพลังจากมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนสังคม โดย บพข.จะสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL) ตั้งแต่ 4-8 หรือช่วงพัฒนาต้นแบบจนถึงช่วงการผลิตและใช้งานอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นจะส่งต่อให้กับ NIA เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมต่อในระดับที่ 8 นั่นคือช่วงการผลิตและใช้งานอย่างต่อเนื่องขึ้นไป ภายใต้ 4 แผนงาน ประกอบด้วย แผน P4 : พัฒนาระบบเศรษฐกิจ BCG ในด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน วัสดุชีวภาพ และเคมีชีวภาพฯ แผน P5 : พัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะฯ แผน P7 : พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้สามารถแข่งขันได้ และแผน P8 : พัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่ (IDEs)”