xs
xsm
sm
md
lg

ภาษาไทย ม.ราม เปิดตำนาน “ไชยามพวาน” ที่แท้จริงในรามเกียรติ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ "ภาษาไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง" โพสต์ให้ความรู้ ชื่อ “ไชยามพวาน” ที่แท้จริงเป็นวานรที่ถือธงนำพลวานรของกองทัพพระราม ในบทละครรามเกียรติ์

จากกรณีประเด็นข่าวอื้อฉาวในขณะนี้ สำหรับ "ปูอัด ไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์" ส.ส.กทม.เขตจอมทอง พรรคก้าวไกล ถูกกล่าวหาว่ากระทําการล่วงเกิน คุกคามหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อบุคคลอื่น แม้จะแถลงข่าวขอโทษไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 พ.ย. เพจ "ภาษาไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง" ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้ ชื่อ “ไชยามพวาน” ที่แท้จริงอยู่ในบทละครรามเกียรติ์ โดยระบุข้อความไว้ว่า “บรรดาผู้ที่เคยดูโขนคงจะคุ้นชื่อกับ “ไชยามพวาน” เป็นอย่างดี ด้วยเป็นวานรที่ถือธงนำพลวานรของกองทัพพระราม ยกออกยุทธนาต่อสู้กับฝ่ายยักษ์อยู่ในทุกฉากทุกตอนที่รับชม แม้ในระบำวานรพงศ์ ของ อ.เสรี หวังในธรรม ก็กล่าวไว้ว่า

“นำด้วยไชยามพวานทหารหน้า”

ในเรื่องรามเกียรติ์นั้นไชยามพวาน เป็น ๑ ในเสนาวานร “สิบแปดมงกุฎ” เมื่อพระรามประชุมพลให้ไพร่พลวานร ขนศิลามาถมมหาสมุทรจองถนนไปยังกรุงลงกาแล้วเสร็จ ก็ดำริคิดจะยกพยุหโยธาข้ามสมุทรไปประชิดกรุงลงกา จึงให้พญาพิเภกหาฤกษ์ยาม

ในคำพากย์รามเกียรติ์ระบุว่า พระรามสั่งให้หาผู้ที่มีนามข่มฝ่ายยักษ์มาทำหน้าที่ถือธงนำกองทัพ ไชยามพวานจึงกราบทูลอาสา เนื่องจากได้รับพรจากพระอิศวรมอบหมายหน้าที่นี้ไว้ ความว่า

๏ ตริตรัสหวังหาผู้หาญ อันข่มนามมาร
ดำรงธวัชนำพล
๏ จึงขุนไชยามฤทธิรณ เข้านบยุคล
นเรศแล้วทูลท้าวไท
๏ ว่าพระอิศราธิปไตย อวยข้าเดียวใด
มาธารธุชารณมาร

บทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า พระรามให้สุครีพหาผู้ถือธง ไชยามพวานอาสาพร้อมทูลว่าตนมีนามอันเป็นมงคล ดังนี้

๏ บัดนั้น
ไชยามพวานกระบี่ศรี
ได้ฟังพระราชวาที
ยินดีด้วยสมดั่งจินดา
จึ่งน้อมเศียรเกล้าบังคมทูล
นเรนทร์สูรปิ่นภพนาถา
ข้านี้ได้พรเจ้าโลกา
ว่าถ้านารายณ์อวตาร
จากเกษียรคงคามาปราบยุค
ให้โลกเป็นสุขเกษมศานต์
จะข้ามไปลงกากรุงมาร
ให้เป็นทหารถือธงชัย
นำหมู่พยุหโยธา
ข่มนามอสุราทั้งนั้นได้
เป็นมหามงคลเลิศไกร
ปราบไปได้ทั่วธาตรี
ถ้าพระองค์จะใคร่แจ้งเหตุ
จงถามอมรเมศฤๅษี
เธออยู่ไกรลาสคีรี
เป็นที่จำเริญเมตตาฌาน ฯ

ทั้งคำพากย์และบทละครรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ ระบุตรงกันว่า ไชยามพวานให้เชิญพระฤๅษีนาม “อมรสิทธา” หรือ “อมรเมศฤๅษี” มาเป็นพยานยืนยันในเรื่องนี้ พระรามจึงให้หนุมานไปเชิญพระฤาษีมา
ในคำพากย์ระบุเพียงสั้นๆ ว่า

“นักสิทธิ์จึงถวายพระพร ว่าสมญากร ไชยามนิข่มนามมาร”

ส่วนในบทละครรามเกียรติ์รัชกาลที่ ๑ อธิบายออกไปอย่างละเอียดดังนี้
"๏ เมื่อนั้น
พระอมรเมศฤๅษี
ได้ฟังก็แจ้งแต่เดิมที
ว่าองค์เจ้าตรีโลกา
ประสาทพรไชยามพวาน
ถ้านารายณ์อวตารให้อาสา
ถือธงนำพยุหโยธา
จริงเหมือนวาจาพานร
ด้วยนามเพื่อนนั้นข่มนามยักษ์
ทั้งแหลมหลักกล้าหาญชาญสมร
จะเป็นศรีสวัสดิ์สถาวร
แก่พระสี่กรผู้ทรงฤทธิ์
อันหมู่อสูรพาลา
จะพ่ายแพ้ศักดาไม่ต้านติด
ปราบไปได้ทั่วทศทิศ
ปัจจามิตรจะราบทั้งธาตรี
พระองค์จงทำตามบรรหาร
พระสยมภูวญาณเรืองศรี
จะมีชัยแก่ราชไพรี
ทั่วไปทั้งตรีโลกา
ว่าพลางอำนวยอวยพร
ให้ถาวรบรมสุขา
แล้วลาออกจากพลับพลา
เหาะมากุฎีพระอาจารย์ ฯ

เมื่อได้รับคำยืนยันดังนี้ พระรามก็ให้เคลื่อนพลข้ามสมุทร โดยมี
"ไชยามพวานฤทธิรงค์
ก็โบกธงนำพลไปหน้า
ดำเนินพยุหโยธา
ตามเกล็ดนาคาสถาวร ฯ"

เรื่องราวของไชยามพวานในตอนนี้ยังปรากฏอยู่ในบทละครรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งไม่มีการบรรยายที่มาและเรื่องราวมากเท่าฉบับรัชกาลที่ ๑ โดยระบุเพียงว่า

" ๏ บัดนั้น
ไชยามพวานกระบี่ศรี
ได้ฟังรับสั่งก็ยินดี
อัญชลีสนองพระบาทา
ว่าองค์พระสยมบรมนารถ
ทรงประสาทพรไว้ให้ข้า
สำหรับถือธงชัยไคลคลา
นำเสด็จผ่านฟ้าไปปราบยักษ์"

นอกจากนี้ไม่มีการเชิญฤๅษีมาเป็นพยาน เนื่องจากรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ ๒ นี้ใช้สำหรับการแสดงโดยตรง จึงต้องแต่งให้กระชับและพอดีกับกระบวนรำ

หลังจากเสร็จศึกผลาญบรรดายักษ์แล้วเสร็จ พระรามกลับกรุงอยุธยา มีการปูนบำเหน็จขุนพลวานร ไชยามพวานได้เป็นมหาเสนาบดีฝ่ายขวาแห่งเมืองขีดขินคู่กับโคมุทมหาเสนาบดีฝ่ายซ้าย

อนึ่ง คำว่า #สิบแปดมงกุฎ นั้น ยังนำมาใช้เป็นสำนวน มีอีกความหมายหนึ่งว่า ผู้ที่มีเล่ห์เหลี่ยม คำนี้ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) อธิบายไว้ว่า เดิมหมายถึง "นักเลงการพนันใหญ่" มีที่มาจากในอดีตมีนักเลงการพนันกลุ่มหนึ่งที่สักตรามงกุฎ จึงพากันเรียกว่าพวกสิบแปดมงกุฎตามเรื่องรามเกียรติ์ จากนั้นจึงพากันเรียกบุคคลที่นักเลงการพนันใหญ่ว่าสิบแปดมงกุฎ ”




กำลังโหลดความคิดเห็น